VIBHAลุย 'สร้างใหม่-ซื้อกิจการ-ถือหุ้น' ดันธุรกิจโต !
โควิด-19 ทำ 'โรงพยาบาลวิภาวดี' ปรับกลยุทธ์ยืดหยุ่น รับมือระบาดระลอกใหม่ ลั่นลงทุนอนาคตเน้น 'สร้างใหม่-ซื้อกิจการ-ถือหุ้น' ผลักดันฐานะการเงิน พร้อมตั้งเป้าปีนี้รายได้โต 30-40%
การกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ สถานการณ์แตกต่างจากปี 2563 มาก บ่งชี้ผ่าน คนไข้เพิ่มขึ้นเร็ว และมีอาการหนักมากขึ้น โดย 'ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน' จำต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว และหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนที่ใช้กลยุทธ์ 'ยืดหยุ่น' ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันคือ บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) หรือ VIBHA
'พิจิตต์ วิริยะเมตตากุล' กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) หรือ VIBHA ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ' ว่า ปัจจุบันรพ.วิภาวดีจำต้องปรับตัวให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ สะท้อนผ่านการปรับพื้นที่อาคาร 1 แห่ง เฉพาะเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 และแยกคนไข้โรคอื่นๆ ไปอยู่อีกอาคาร ซึ่งตอนนี้ รพ.มีเตียงรอรับผู้ป่วยโควิด-19 ราว 130 เตียง คาดเปิดเพิ่มอีก 60 เตียง
โดยที่ผ่านมา (7-18 เม.ย.) รพ.วิภาวดีมีการตรวจโควิด-19ไปแล้ว 6,400 ราย พบติดเชื้อโควิด-19 ราว 370 ราย ซึ่งตอนนี้รักษาตัวอยู่ที่รพ.วิภาวดี 150 ราย และกักตัวอยู่ที่โรงแรม (รพ.สนาม) ที่จัดหาไว้รองรับสำหรับคนไข้ที่มีอาการไม่มาก 110 ราย
'ปัจจุบันจำนวนคนไข้โควิด-19 ที่รักษากับเรามีมากกว่าจำนวนเตียง เนื่องจาก 1 ห้องอาจะใส่เตียงเพิ่มอีก 1-2 เตียง เพราะว่าคนไข้อาจจะมาเป็นคู่หรือเป็นครอบครัว (พ่อ-แม่-ลูก) และต้องการอยู่ด้วยกัน'
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมผลประกอบการปีนี้น่าจะปรับตัวดีขึ้น 30-40% เพราะสถานการณ์ดีขึ้นจากปีก่อน รับรู้โรงพยาบาลใหม่ ศูนย์ความงามมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีรายได้จากการตรวจรักษาโควิด-19
สำหรับแผนธุรกิจของรพ.วิภาวดีมุ่งขยายการโตผ่านการ 'ซื้อกิจการ' 'ลงทุนสร้างใหม่' และ 'ถือหุ้น' เพื่อสู่เป้าหมายเป็นหนึ่งใน โรงพยาบาลที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของประเทศ ทำให้ปัจจุบัน รพ.วิภาวดี ติดอยู่ในท็อป 3 หรือ 4 ในแง่ของรพ.ที่มีเครือข่ายมากที่สุด ปัจจุบันมี 20 แห่ง ในกรณีรวมถือหุ้นต่ำกว่า 20% แต่หากรวมเฉพาะที่บริษัทถือหุ้นเกินกว่า 20% ก็มีเครือข่ายไม่ถึง 20 แห่ง
ช่วง 1-2 ปี ไม่ได้ซื้อกิจการรพ.แห่งใหม่เพิ่มเข้ามา แต่เลือกใช้กลยุทธ์ลงทุนผ่านการซื้อหุ้นกลุ่มธุรกิจรพ.ที่บริษัทระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เช่น บมจ.โรงพยาบาลศิครินทร์ ( SKR) , โรงพยาบาลไทยนครินทร์ (TNH) บมจ. โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM)
สำหรับลงทุนสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ดำเนินการโดย 'โรงพยาบาลวิภาราม จำกัด' ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ สัดส่วน 33.73% เป็นหัวหอกในการลงทุนโดยบริษัทจะเป็นผู้ใส่เงินลงทุน รวมทั้งการมุ่งเน้นขยายคนไข้ประกันสังคม เนื่องจากเป็นรพ.วิภารามเป็นรพ.เอกชนที่ให้บริการคนไข้สิทธิประกันสังคม
'เราขยายคนไข้ประกันสังคม ผ่านแบรนด์โรงพยาบาลวิภารามที่จะเป็นตัวบุกตลาดดังกล่าว เนื่องจากแบรนด์โรงพยาบาลวิภาวดีเป็นโรงพยาบาลที่ไม่ได้รับคนไข้สิทธิประกันสังคม ปัจจุบันรับรู้สัดส่วนรายได้ประกันสังคมคิดเป็น 20% ของรายได้รพ.วิภาวดี'
ขณะที่โรงพยาบาลอยู่ระหว่างก่อสร้างคือ 'โรงพยาบาลลานนา 3' เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท จำนวน 200 เตียง สามารถเปิดให้บริการได้ช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า และ 'โรงพยาบาลหริภุญชัยเมโมเรียล 2' จำนวน 100 เตียง เปิดช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้า
ทั้งนี้ มีโครงการชะลอลงทุนออกไปก่อนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ โรงพยาบาลวิภารามอมตะ 2 จำนวน 100 เตียง ซึ่งเป็นการชักชวนร่วมลงทุนกับทาง วิกรม กรมดิษฐ์ เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ โดยทางอมตะลงทุนด้วยที่ดินก่อสร้าง ส่วน รพ.วิภาวดีใส่เงินลงทุนและบริหาร คาดใช้เงินราว 600-700 ล้านบาท หลังก่อนหน้านี้ได้ร่วมลงทุนในโรงพยาบาลวิภารามอมตะ 1 ไปแล้ว โดยทางอมตะถือหุ้นสัดส่วน 20%
ทั้งนี้ ยังมีกิจการอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจโรงพยาบาลคือ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และธุรกิจคลินิกความงามและเวชศาสตร์ชะลอวัย
สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ พยายามบริหารธุรกิจที่มีผลดำเนินงานขาดทุน ให้มีผลขาดทุนลดลงมากที่สุด ส่วนที่มีกำไรพยายามรักษากำไรให้โต หรือเท่าเดิม ,ขยายธุรกิจใหม่ และลงทุนในหุ้นโรงพยาบาลอื่นๆ ที่สร้างกำไรโต
เปิดพอร์ตลงทุน 'หมื่นล้าน'
หนึ่งในกลยุทธ์ที่สร้างการเติบโตของรพ.วิภาวดี ต้องยกให้ บริหารพอร์ตลงทุนหุ้น (จดทะเบียนในตลท.) มูลค่าหลัก 'พันล้านบาท' บริษัทรับรู้กำไรมาในรูปแบบของเงินปันผลทุกปี โดยเฉลี่ยที่ผ่านมา 'ผลตอบแทน' จากเงินลงทุนประมาณ 5-6% ถือว่าเป็นผลตอบแทนระดับที่ดี เนื่องจากฝากธนาคารคิดเป็นเงินปันผลต่ำกว่า 1%
พิจิตต์ บอกว่า ปัจจุบันหุ้นในพอร์ต รพ.วิภาวดี ประกอบด้วย บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) เงินลงทุน 78.79 ล้านบาท สาเหตุลงทุนเนื่องจากปีที่ผ่านมามีคนถามซื้อถุงมือยางจำนวนมากมองอนาคตธุรกิจเติบโต
บมจ.ไดนาสตี้เซรามิค (DCC) ลงทุน 50 ล้านบาท เลือกลงทุนตอนนั้น เพราะเป็นหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลทุกไตรมาส และมองว่าผลตอบแทนดีกว่าฝากแบงก์ บมจ.ศิครินทร์ (SKR) เกือบ1,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2,300 ล้านบาท
บมจ.โรงพยาบาลไทยนครินทร์ (TNH) ลงทุน 650 ล้านบาท ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนถือหุ้นราว 10% เลือกลงทุนเห็นสตอรี่ที่ TNH ชนะคดีที่ดินด้านหลังรพ. มองว่าหากรพ.ไม่นำที่ดินดังกล่าวลงทุนอะไร แค่ขายที่ดินก็รับรู้กำไรหลักพันล้านบาท เพราะต้นทุนที่ดินที่ได้มาต่ำมาก ขณะที่ธุรกิจก็มีมาร์จินระดับที่ดี และ RAM ลงทุน 1,950 ล้านบาท
ส่วนที่เหลือเป็นเงินลงทุนซื้อหุ้นธุรกิจโรงพยาบาลที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่าง โรงพยาบาลสินแพทย์ ใช้เงินลงทุน 430 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้มูลค่าลงทุนน่าจะเพิ่มขึ้นหลายพันล้านบาท ,โรงพยาบาลศุภฤกษ์อู่ทอง ,โรงพยาบาลเจ้าพระยา ใช้เงินลงทุน 80 ล้านบาท นวนครการแพทย์ ใช้เงินลงทุน 20 ล้านบาท และโรงพยาบาลเสรีรักษ์ เงินลงทุน 10 ล้านบาทฯลฯรวมมูลค่าพอร์ตทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กว่า 1หมื่นล้านบาท