ระวัง! เมนู 'ไข่จุ๊บ' ไม่สุก อันตราย

ระวัง! เมนู 'ไข่จุ๊บ' ไม่สุก อันตราย

กรมปศุสัตว์เผย “ไข่จุ๊บ” ถ้าไม่สุก-สะอาด อาจมีอันตราย แนะข้อมูลให้ผู้บริโภคพิจารณา

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เมนู “ไข่จุ๊บ”ที่ทำจากไข่ไก่หรือไข่นกกระทานำมาปรุงในลักษณะของการทอดไข่ขาว โดยแยกไข่แดงไว้ในเปลือกไข่ แล้วนำเปลือกไข่นั้นไปปรุงอาหารบนกระทะ เสริฟเป็นไข่ขาวที่มีเปลือกไข่ครอบด้านบน เจาะรูเพื่อให้ใช้หลอดดูดหรือปากจุ๊บไข่แดงที่ผสมเครื่องปรุงภายในรับประทาน หาสั่งได้ตามร้านโตเกียวหรือโรตี

ส่วนใหญ่ทั้งไข่ไก่และไข่นกกระทาเมื่อปรุงเสร็จไข่ขาวมักคล้ายไข่ดาวแต่ส่วนของไข่แดงที่ปรุงภายในเปลือกไข่มักจะยังเหลว ไม่สุกนัก เพื่อให้ดูดเข้าปากได้ จึงขอให้ข้อมูลที่สำคัญไว้ให้ผู้บริโภคทราบ เพื่อให้ใช้ดุลยพินิจของแต่ละท่าน พิจารณาก่อนเลือกทานเมนูนี้ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคในการบริโภค หากผู้บริโภคพบประเด็น 4 ประเด็นนี้แม้เพียงข้อเดียว ไม่ควรรับประทาน ดังนี้

161942432333

1.ล้าง เช็ด ฆ่าเชื้อเปลิอกไข่ไม่สะอาด สังเกตได้ง่ายๆ กับไข่ที่ผู้ขายนำมาปรุงว่าสกปรกมีคราบมีมูลติดหรือไม่ มูลที่ติดอยู่หากมาจากฟาร์มต้นทางไม่ดีก็อาจมีเชื้อแบคทีเรีย Salmonella ได้ เมนูไข่จุ๊บทำการปรุงทั้งเปลือกบนเตา/กระทะ หากไม่มีการล้าง เช็ดเปลือกไข่ที่ดีจะได้มูลเป็นของแถมกับไข่จุ๊บ ซึ่งเพียงแค่ล้าง เช็ด หรือความร้อนในการปรุงที่ไม่เพียงพอจะยังไม่สามารถทำลายเชื้อโรคที่อาจมีได้ ต้องมีการฆ่าเชื้อเปลือกไข่ด้วย เช่น การใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หรือการผ่านแสง UV

2.สุขลักษณะของผู้ขายไม่เหมาะสม ก่อนที่จะซื้อต้องเลือกผู้ขายด้วย ดูความสะอาดการแต่งกาย มือและเล็บของผู้ที่ทำอาหารซึ่งหากไม่สะอาดอาจนำเชื้อแบคทีเรีย S. aureus และเชื้ออื่นๆ ได้ ความสะอาดของอุปกรณ์ปรุงที่ใช้ทั้งกระทะ เตา ตะหลิว วิธีการปรุง รวมทั้งคุณภาพของเครื่องปรุง ความสด ใหม่ สะอาด เพราะสิ่งเหล่านี้แถมเชื้อโรคได้ทั้งสิ้น

3.ไข่จุ๊บที่ไข่ขาวหรือไข่แดงไม่สุก การปรุงไข่จุ๊บที่ระดับความสุกของไข่แดงยังเหลว จนผู้บริโภคใช้หลอดดูดหรือปากจุ๊บเปลือกไข่ได้นั้น ไม่เพียงพอที่จะฆ่าเชื้อโรคที่อาจมี หากจะฆ่าเชื้อควรปรุงโดยใช้ความร้อนให้ภายในไข่สูงกว่า 70๐C เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 15 วินาที จึงจะปลอดภัยจาก Salmonella และเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่ได้ นอกจากนี้ การทานไข่ที่ปรุงไม่สุกจะทำให้ได้รับสารอะวิดิน ซึ่งไปขัดขวางการดูดซึมวิตามินไบโอตินของร่างกาย ทำให้ย่อยอาหารยากขึ้น ท้องอืด ปวดท้อง

161942436654

4.ไม่รู้ ไม่มั่นใจ แหล่งที่มาของไข่ หากฟาร์มต้นทางของไข่ ไม่มีการควบคุมโรคในไก่/นกกระทาที่ดี ไม่มีการปฏิบัติตามหลักมาตรฐานฟาร์ม GAP นั่นอาจทำให้มีความเสี่ยงที่เชื้อแบคทีเรีย Salmonella จะปนเปื้อนมาตั้งแต่ระดับฟาร์มโดยติดมากับมูลสัตว์ปีกที่บริเวณผิวเปลือกไข่หรือติดออกมาแต่แรกในไข่แดงก่อนสร้างฟองไข่ หากทานไข่ที่ปรุงไม่สุก มีโอกาสได้รับเชื้อ Salmonella ได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษขั้นรุนแรง คลื่นไส้ ไข้ขึ้น อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เกิดอันตรายต่อผู้ที่ซื้อบริโภค ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้มีการส่งเสริมให้ฟาร์มไก่ไข่และฟาร์มนกกระทาส่วนใหญ่เข้าสู่มาตรฐาน GAP ต่อยอดมายังโครงการรับรองสถานที่จำหน่ายไข่สด “ปศุสัตว์ OK” หรือการรับรอง “ไข่อนามัย เครื่องหมาย Q” โดยกรมปศุสัตว์ได้เน้นตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของสินค้าไข่ที่ได้รับรองเป็นประจำ ผลพบว่าทุกตัวอย่างปลอดภัย ไร้เชื้อ Salmonella  

กรมปศุสัตว์จึงขอฝากให้ผู้ขายทำความสะอาดฆ่าเชื้อเปลือกไข่และปรุงด้วยสุขลักษณะที่เหมาะสม และควรปรุงสุกในยุค COVID-19 ที่สำคัญเน้นใส่ใจตั้งแต่การเลือกซื้อไข่มาปรุงขาย โดยทั้งผู้ขายและผู้บริโภคก่อนเลือกซื้อไข่สด ให้สังเกตสถานที่จำหน่ายไข่สดที่มีตราสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" หรือสินค้า “ไข่สดอนามัย” ที่มีเครื่องหมาย Q เนื่องจากมั่นใจได้ว่าไข่นั้นต้นทางมาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP 100% ผ่านกระบวนการผลิตที่ตรวจสอบย้อนกลับได้