'การบินไทย' ขายทรัพย์สินเพิ่มตุนเงินสดเร่งแผนฟื้นธุรกิจ
“การบินไทย” เล็งยื่นศาลล้มละลาย เทขายเครื่องบินปลดระวาง หวังตุนเงินสดบริหารธุรกิจ เปิดแผนปี 2568 ปรับอากาศยานเหลือ 86 ลำ ครอบคลุม 75 - 80 เส้นทางบิน
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างเตรียมการจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตแผนฟื้นฟูการบินไทยในวันที่ 12 พ.ค.นี้ ซึ่งแน่นอนว่าหากแผนฟื้นฟูผ่านการเห็นชอบจากเจ้าหนี้ การบินไทยจะเดินหน้าธุรกิจตามกำหนด โดยมีเป้าหมายกลับมามีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกภายใน 3-5 ปี
อย่างไรก็ดี การดำเนินกิจการภายใต้แผนฟื้นฟูนั้น การบินไทยจำเป็นต้องมีเงินทุนในการบริหารจัดการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปรับลดขนาดองค์กร เป้าหมายในปี 2564 ลดพนักงานเหลือ 1.3–1.5 หมื่นคน เพื่อลดค่าใช้จ่ายจาก 3 หมื่นล้านบาท เหลือ 1–1.2 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการยื่นศาลล้มละลายกลาง เพื่อขออนุญาตขายทรัพย์สิน 4 รายการที่ไม่ได้เป็นทรัพย์สินหลักที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจการบิน หรือเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ หากเก็บไว้มีแต่จะเสื่อมราคา และมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้นจำนวน คือ หุ้นสายการบินนกแอร์ หุ้นบมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ เครื่องยนต์ของเครื่องบินโบอิง 737-400 ที่ไม่ได้ใช้งาน จำนวน 5 เครื่องยนต์ และอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่
“ตอนนี้เราศาลอนุมัติขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้หลายรายการ เพราะการทำธุรกิจต้องมีเงินสดในการบริหารจัดการ และหากแผนฟื้นฟูผ่านการเห็นชอบจากเจ้าหนี้ การบินไทยเราก็ต้องเตรียมตัวทำธุรกิจในทันที หากเปิดประเทศเราก็ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายทำการบิน ซ่อมเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายพนักงาน”
อย่างไรก็ดี จากการเตรียมความพร้อมดำเนินธุรกิจนั้น การบินไทยเตรียมยื่นขออนุมัติจากศาลล้มละลาย เพื่อขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้งานเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินงาน โดยเป็นทรัพย์สินประเภทอากาศยาน หรือเครื่องบินที่การบินไทยไม่ได้ใช้ทำการบิน และมีการปลดระวางแล้วในปัจจุบัน
นายชาญศิลป์ ยังกล่าวด้วยว่า เราเตรียมยื่นขอต่อศาลเพื่อขายเครื่องบินปลดระวาง เพราะตอนนี้ก็มีเครื่องบินที่จอดปลดระวางจำนวนมาก ไม่ได้ใช้ประโยชน์และมีค่าใช้จ่ายอยู่ ซึ่งเบื้องต้นการบินไทยได้สำรวจความต้องการขอตลาดแล้ว พบว่ายังมีความต้องการอากาศยานหลายประเภท ดังนั้นหากแผนฟื้นฟูผ่านการอนุมัติจากเจ้าหนี้ การบินไทยจะดำเนินการปประกาศขายอากาศยานส่วนนี้
ขณะที่ความคืบหน้าของการขายทรัพย์สินที่ขออนุมัติจากศาลไปก่อนหน้านี้ ปัจจุบันการบินไทยได้ขายอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่แล้ว ส่วนเครื่องยนต์ของเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ที่ไม่ได้ใช้งาน จำนวน 5 เครื่องยนต์นั้น ยังอยู่ระหว่างทำเรื่องขาย เช่นเดียวกับหุ้นสายการบินนกแอร์ ยังอยู่ระหว่างรอทำการขาย
แหล่งข่าวจากการบินไทย เผยว่า แผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยนั้น จะมีแผนลดขนาดฝูงบิน และปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการบิน และความต้องการในการใช้เครื่องบิน อีกทั้งยังมีการประเมินว่าภายในปี 2568 การบินไทยควรจะมีฝูงบินรวม 86 ลำ ครอบคลุม 75 – 80 เส้นทาง
สำหรับอากาศยานที่การบินไทยปลดระวางและอยู่ระหว่างรอทำการขายนั้น ล่าสุดมีจำนวน 34 ลำ ส่วนใหญ่เป็นอากาศยานรุ่นเก่าไม่สอดรับกับความต้องการในการใช้งาน เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงสูงมานานหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อากาศยานรุ่นแอร์บัส A340 ที่ถูกจอดทิ้งมานานราว 6 ปี ภายหลังซื้อเข้ามาในช่วงปี 2547-2548 และได้ยกเลิกทำการบินในช่วงปี 2557-2558
ทั้งนี้ อากาศยานมือสองของการบินไทยที่ปลดระวาง อาทิ แอร์บัส A300-600, โบอิ้ง B737-400, แอร์บัส A340-500, แอร์บัส A340-600, โบอิ้ง B747-400, โบอิ้ง B777-200 และ โบอิ้ง B777-300