ปัจจัยผลักดันให้ผู้สูงวัยซื้อบ้านใหม่ อยากมีพื้นที่ส่วนตัว

 ปัจจัยผลักดันให้ผู้สูงวัยซื้อบ้านใหม่ อยากมีพื้นที่ส่วนตัว

ผลสำรวจระบุเหตุผลผลักดันให้ผู้สูงวัยซื้อบ้านใหม่ ปัจจัยแรกอยากมีพื้นที่ส่วนตัว ต้องเปลี่ยนบรรยากาศใหม่ สะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้น

แนวโน้มสังคมผู้สูงอายุในไทยมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง 20% ของประชากรทั้งหมด และเมื่อถึงปี 2574 ก็จะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society)ประกอบกับรูปแบบการใช้ชีวิต บริบทและปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้คนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้น หรือมีบุตรลดลง เปลี่ยนรูปแบบจากครอบครัวขยายในอดีตเป็นครอบครัวเดี่ยวอย่างชัดเจน


จากข้างต้นทำให้เกิดโอกาสทางการตลาดเพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคสูงวัยเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงอันเป็นผลมาจากการบริหารจัดการรายได้ตลอดชีวิตการทำงานผ่านการออมทรัพย์และลงทุน ประกอบกับแนวคิดการใช้ชีวิตที่มีความทันสมัยและรู้จักใช้เทคโนโลยีเป็นประจำ ไม่ลังเลที่จะใช้เงินเก็บมาซื้อความสุขและดูแลสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์ต่าง ๆ ไม่แพ้วัยรุ่นเช่นกัน จนทำให้หลายธุรกิจหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์เพื่อดึงดูดกำลังซื้อของคนสูงวัยมากขึ้น


ข้อมูลจากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่ใหม่เนื่องจากความต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากถึง 44% ตามมาด้วยความต้องการไปอยู่อาศัยในทำเลหรือบรรยากาศใหม่ 31% ในขณะที่อันดับสามให้ความสำคัญกับความสะดวกที่มากขึ้น เช่น อยู่ใกล้โรงพยาบาล ที่ทำงาน โรงเรียน ฯลฯ และซื้อเพื่อลงทุนในสัดส่วนเท่ากันที่ 26% เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีประสบการณ์และวางแผนการเงินและการใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ จึงให้ความสำคัญในเรื่องการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนระยะยาวมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ ในขณะที่การซื้อบ้านเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับสมาชิกในครอบครัวมีเพียง 15% อันเป็นผลจากการที่บุตรหลานเริ่มเข้าสู่วัยทำงานและเริ่มสร้างความมั่นคงด้วยการซื้อบ้านของตัวเอง หรือแยกตัวออกไปเพื่อสร้างครอบครัวหลังแต่งงาน

นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการใช้พิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัย คือ การเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ และความปลอดภัยของทำเล โดยมีสัดส่วนที่เท่ากันอยู่ที่ 53% ตามมาด้วยทำเลที่ตั้ง 49% และโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกรอบทำเลที่ 49% เท่ากั สังเกตว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเน้นมองหาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น โดยไม่ละเลยความปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันตามไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างและการอยู่อาศัยได้อย่างสบายใจด้วยตนเอง ไม่เป็นภาระผู้อื่น


หลายคนอาจมีภาพจำว่าคนสูงวัยไม่คุ้นเคยกับการท่องโลกออนไลน์เท่าวัยอื่นในยุคดิจิทัล แต่ที่จริงแล้วผู้สูงอายุเรียนรู้ในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เห็นได้ชัดเจนจากพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจเรื่องซื้อที่อยู่อาศัย โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางยอดนิยมในการค้นหาข้อมูลในประชากรกลุุ่มนี้ถึง 62% ตามมาด้วยเว็บไซต์ของโครงการ 56% และเว็บพอร์ทัลด้านอสังหาฯ 47% เนื่องจากเป็นช่องทางที่สะดวก ช่วยให้ค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้รวดเร็วและหลากหลายมากพอที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาภายใต้การใช้วิจารณญาณและกรอบประสบการณ์ที่มี โดยมีเพียง 16% เท่านั้นที่จะเลือกปรึกษาและหาข้อมูลเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง และครอบครัว


ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผู้สูงอายุในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจากบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นจะสนใจที่ชื่อเสียงของบริษัทมาเป็นอันดับแรก 58% ตามมาด้วยผลงานของผู้พัฒนาฯ ในโครงการที่ผ่านมา 56% และคุณภาพของงานตกแต่งภายในที่ผู้พัฒนาฯ มอบให้ 55% ซึ่งชื่อเสียงที่ดีของผู้พัฒนาฯ ย่อมส่งผลด้านบวกที่ช่วยให้การประกาศขาย/เช่าในอนาคตง่ายขึ้น ต่างจากกรณีของผู้บริโภคที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเป็นหลักจึงพิจารณาจากคุณภาพของงานตกแต่งภายในที่ได้จากผู้พัฒนาฯ มาเป็นอันดับแรก (68%)

อย่างไรก็ตามปัจจุบันผู้พัฒนาอสังหาฯ ได้หันมาร่วมมือกับโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสุขภาพเพื่อเพิ่มบริการดูแลสุขภาพหรือบริการทางการแพทย์ไว้ในโครงการฯ ด้วย Home Solutions เพื่อรองรับผู้บริโภคกลุ่มนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบห้องนอนผู้สูงอายุให้มีความเป็นส่วนตัวและอากาศถ่ายเทสะดวก หรือนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในบ้านและช่วยป้องกันอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน เช่น ปูพื้นด้วยวัสดุลดแรงกระแทก เพื่อช่วยลดความรุนแรงของอาการบาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุหกล้ม ออกแบบราวจับในห้องน้ำ ราวบันไดทั้งสองข้าง หรือพื้นต่างระดับในบ้าน ทางลาดสำหรับรถเข็นในการเข้าสู่ตัวบ้าน


นอกจากเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของคนยุคนี้ในหลากหลายด้านแล้ว ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยอีกด้วย เห็นได้จากการเติบโตของเทรนด์บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัยสามารถควบคุมการทำงานระบบต่าง ๆ ของบ้านผ่านการสั่งงานด้วยเสียงหรือจากแอปพลิเคชั่น ซึ่งยกระดับความปลอดภัยให้ที่อยู่อาศัย เช่น กลอนประตูดิจิทัล หรือการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่รองรับการรับชมภาพออนไลน์และดูย้อนหลังได้ผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยให้ผู้สูงอายุที่ห่วงใยในทรัพย์สินและติดบ้านคลายความกังวลเมื่อต้องห่างจากบ้านได้ นอกจากนี้ระบบบ้านอัจฉริยะยังช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักมีอาการหลงลืมก็สามารถเลือกควบคุมการเปิด-ปิดไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน/คอนโดฯ ผ่านสมาร์ทโฟนได้ตลอดเวลา แม้ทำธุระอยู่ข้างนอกก็สามารถกดเช็กดูระบบไฟเพื่อความชัวร์ได้ทันที