'พลังงาน' กำชับ 'กฟผ.-ปตท.' เร่งลงทุนฟื้นเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤตโควิด

'พลังงาน' กำชับ 'กฟผ.-ปตท.' เร่งลงทุนฟื้นเศรษฐกิจ ฝ่าวิกฤตโควิด

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังเผชิญกับปัจจัยท้าทาย คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายลง ภาครัฐจึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้หน่วยรัฐและรัฐวิสาหกิจ เร่งรัดลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เพื่อหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นระลอกที่ 3 ในประเทศ ที่มียอดผู้ติดเชื้อรายวัน ในช่วงต้นเดือนพ.ค. 2564 อยู่ระดับสูงราว 1-2 พันคนต่อวัน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ภาครัฐจึงออกมาส่งสัญญาให้หน่วยงานต่างๆ เร่งรัดแผนการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ

กุลิศ สมบัติศิริ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. พิจารณามาตรการที่จะเข้ามาให้การช่วยเหลือประชาชน และเร่งรัดโครงการลงทุนต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

กระทรวงพลังงาน ยังได้วางแผนหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ทุกกระทรวงดำเนินการพิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งจะมุ่งเน้นมาตรการที่จะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน นอกจากมาตรการลดค่าไฟแล้ว ก็จะต้องดูมาตรการอื่นๆเพิ่มเติมด้วย

1620272104100

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังมีงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2564 วงเงิน 6,500 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณาอนุมัติโครงการ เบื้องต้นพบว่า กลุ่มงานที่ 1-6 ผ่านการเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ กลุ่มงานตามกฎหมาย วงเงิน 200 ล้านบาท, กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน วงเงิน 500 ล้านบาท,กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ 355 ล้านบาท ,กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร วงเงิน 200 ล้านบาท ,กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร วงเงิน 450 ล้านบาท และกลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงาน อุตสาหกรรม อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ วงเงิน 2,200 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มงานที่ 7 กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก วงเงินสนับสนุน 2,400 ล้านบาท กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่า ทุกโครงการจะอนุมัติเสร็จสิ้นในเดือนพ.ค.นี้ เพื่อให้การใช้งบประมาณของภาครัฐในโครงการต่างๆเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่

162027201225

ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน” รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า กฟผ.ได้เตรียมพร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) เพื่อสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้ารายภูมิภาค และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลาย ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน แผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 4 ภาคของ กฟผ. มีความคืบหน้าดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กฟผ. ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-floating Solar Hybrid) ขนาด 45 เมกะวัตต์ ความคืบหน้าแล้ว 93.30% และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2564

โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน ขนาดกำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) คาดว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการภายในเดือนธันวาคม 2564

1620272052100

ภาคกลาง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม) ขนาด 2,100 เมกะวัตต์ และ โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ระยะที่ 1 ขนาด 700 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการพิจารณาจากกระทรวงพลังงาน กกพ. และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในเรื่องรายงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการ โดยโครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม) อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ครั้งที่ 3 เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ระยะที่ 1 อยู่ในขั้นตอนการเตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ครั้งที่ 2 เพื่อประกอบการจัดทำรายงาน EIA

ภาคใต้ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 - 2 ขนาดกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกพ. และ สศช. ในเรื่องรายงานศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และอยู่ระหว่างจัดทำรายงาน EIA คาดว่าจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการได้ ภายในเดือนมีนาคม 2565         

ภาคเหนือ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 ขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ได้จัดทำรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอ กก.วล. คาดว่าจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการได้ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564

“การพัฒนาโรงไฟฟ้านี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลาย ทำให้เกิดการจ้างงาน และส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศเพิ่มขึ้น” ประเสริฐศักดิ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ กฟผ.ประเมินว่า ภายใต้ PDP2018 Revision 1 การพัฒนาโรงไฟฟ้าและระบบส่ง ของ กฟผ. คิดเป็นวงเงิน 1 ล้านล้านบาท หรือ เฉลี่ย 5.6 หมื่นล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น โรงไฟฟ้า 60% และสายส่ง 40% ซึ่งการลงทุนดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลง หากมีการปรับปรุงแผนพลังงานจากกระทรวงพลังงานอีกครั้ง

162027193572

“อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท. ระบุว่า กลุ่ม ปตท. ยังคงเดินหน้าลงทุนตามทิศทางกลยุทธ์และแผนธุรกิจที่ได้วางไว้อย่างต่อเนื่อง โดยวงเงินลงทุนของ ปตท. และบริษัทที่ปตท.ถือหุ้น 100% ในช่วง 5ปี (ปี 2564-2568) รวม 103,267 ล้านบาท

โดยเป็นวงเงินลงทุนเฉพาะปี 2564 อยู่ที่ 52,931 ล้านบาท  แบ่งเป็น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 8,051 ล้านบาท, ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 6,770 ล้านบาท ,ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย 630 ล้านบาท,ธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรมและสำนักงานใหญ่ 4,063 ล้านบาท และการลงทุนในบริษัทที่ปตท.ถือหุ้น 100อีก 33,477 ล้านบาท  

ทั้งนี้ งบลงทุนส่วนใหญ่ในปี 2564 ของ ปตท.ยังมุ่งเน้นการลงทุนต่อเนื่องด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โรงแยกก๊าซ แห่งที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซ แห่งที่1, โครงการท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 ,โครงการ LNG Terminal 2 (หนองแฟบ),โครงการก่อสร้างท่าเรือ LNG มาบตาฟุด ระยะที่ 3, การลงทุนธุรกิจร่วมลงทุน(VC),EECi วังจันทร์วัลเลย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังมีแผนการลงทุน 5 ปี(2564-2568) ในวงเงินกว่า 8.5 แสนล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจหลักและเสริมความสามารถในการดำเนินการ อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1  โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 และการขยายขีดความสามารถของ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) เป็นต้น

162027197758

อีกทั้ง ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) อีกกว่า 8 แสนล้านบาท เพื่อการขยายการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจก๊าซธรรมชาติสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Gas-to-Power) ห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า (Electricity Value Chain) และ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) รวมถึงการมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ในกลุ่ม Life science เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทย โดยบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เพื่อดำเนินในธุรกิจ Pharmaceutical, Nutrition และ Medical Device

ก่อนหน้านี้ ปตท. ประเมินว่า โครงการลงทุนส่วนใหญ่ของปตท. เป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้ระยะเวลาต่อเนื่องหลายปี ดังนั้น หากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ก็เชื่อมั่นว่า ความต้องการใช้พลังงานจะเริ่มกลับมาตามทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต และการลงทุนของกลุ่ม ปตท.จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการจ้างงานในประเทศ