“อีอีซี”กับ6จุดอ่อนเร่งแก้ไข ก่อนไล่ไม่ทันการแข่งขันโลก
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ไม่ใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษเดียวที่น่าสนใจ แต่ประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ท่าเรือ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่รองรับ และสิทธิพิเศษด้านภาษีไม่ต่างจาก อีอีซี
ทำให้ต้องศึกษาเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ นำมาปิดจุดอ่อนและสร้างจุดแข็งที่เหนือกว่า จึงจะแข่งขันกับประเทศเหล่านี้ได้
ธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการบริษัท วี-เซิร์ฟ กรุ๊ป ผู้ดำเนินกิจการด้านโลจิสติกรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยว่า จากการประเมินผลการดำเนินงานของอีอีซีและการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติหลายราย พบว่ายังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงที่สำคัญ 6 ด้าน ได้แก่ 1. ขาดการเชื่อมโยงโครงสร้างโลจิสติกส์ ทั้งการเชื่อมโยงจากท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 1-3 กับเส้นทางรถไฟ และถนน ที่ยังมีปัญหาติดขัด และกระบวนการทางศุลกากร และขั้นตอนราชการอื่น ๆ ที่ล่าช้า การเชื่อมโยงการขนส่งระหว่าง
อีอีซี กับสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เป็นแหล่งรวมของทุกสายการบิน และการขนส่งสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล เช่น อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ และอื่น ๆ ล้วนแต่เป็นสินค้าที่ใช้พื้นที่น้อย และมีมูลค่าสูง จึงใช้การขนส่งทางอากาศมากกว่าท่าเรือ
2. การอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะการแก้กฎหมายกฎระเบียบที่ล้าสมัย ขาดความคล่องตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสมัยใหม่ เช่น การนำเข้าจะต้องขออนุญาตล่วงหน้า หรือหากเรือสินค้าเข้ามาเทียบท่าโดยไม่ขออนุญาตก่อนก็มีความผิดถึงขั้นยึดเรือ ซึ่งเป็นบทลงโทษที่รุนแรงมาก รวมทั้งยังมีกฎระเบียบอื่น ๆ อีกมากที่ทำให้การนำเข้า
ส่งออก ล่าช้า และก่อให้เกิดต้นทุนที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น แม้แต่เขตฟรีโซน ก็ยังประสบปัญหาในเรื่องต่าง ๆ มาโดยตลอด ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งแก้กฎหมายที่ล้าสมัยเหล่านี้อย่างรวดเร็ว และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาดำเนินการอนุมัติ อนุญาต ลดการใช้เอกสาร เพราะโลกของการค้าการแข่งขันระหว่างประเทศมีความรวดเร็วมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ในปัจจุบันหน่วยราชการยังขอเอกสารหนาเป็นคืบในการขออนุญาตนำเข้า ส่งออก ไม่ได้นำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง จึงควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาวางระบบใหม่ทั้งหมด ลดการใช้เอกสาร และใช้ระบบออนไลน์ เชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานต่าง ๆ จึงจะช่วยลดเวลาการทำงานลงได้มาก”
3. ไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศที่สำคัญทำให้สูญเสียศักยภาพการดึงดูดการลงทุนไปมากเมื่อเทียบกับเวียดนาม ที่มีทั้งความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) และข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับสหภาพยุโรป (อียู) แต่ไทยไม่มีข้อตกลงเหล่านี้ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งเข้าสู่กระบวนการเป็นสมาชิกของ ซีพีทีพีพี และเจรจาเอฟทีเอ กับยุโรป รวมทั้งประเทศอื่น ๆให้เร็วที่สุด เพื่อปิดจุดอ่อนนี้
4. ขาดแคลนแรงงานทักษะสูงโดยที่ผ่านมาเห็นแต่การจัดทำหลักสูตรสร้างบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ยังไม่เห็นแนวทางการส่งอาจารย์ในวิทยาลัยเทคนิค หรือมหาวิทยาลัย ออกไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องเทคโนโลยีชั้นสูงเหล่านี้ ทำให้ไม่มีอาจารย์ที่มีคุณภาพเพียงพอมาสร้างบุคลากร เนื่องจากอาจารย์ส่วนใหญ่จบการศึกษามานาน หรือเชี่ยวชาญเทคโนโลยีในระดับ 2.0-3.0 ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี 4.0 ในเรื่องหุ่นยนต์ และเครื่องจักรอัตโนมัติชั้นสูงได้ จึงต้องเร่งสร้างอาจารย์เหล่านี้ให้มีจำนวนเพียงพอ และครอบคลุมทักษะใหม่ที่จำเป็น
5. ตลาดภายในประเทศอิ่มตัวเนื่องจากไทยเข้าสังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีประชากรวัยทำงานลดลง จึงไม่มีแรงดึงดูดในการลงทุน เห็นได้จากการลงทุนใน อีอีซี ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นโรงงานเก่าที่ขยายการลงทุน เพื่อเป็นฐานการส่งออก แต่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่น้อย หากต่างชาติจะลงทุนใหม่ก็จะไปประเทศเวียดนาม หรืออินโดนีเซียมากกว่าโดยตัวเลขการขยายการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมากใน อีอีซี ไม่ได้เกิดจากนโยบายของ อีอีซี แต่มาจากในพื้นที่นี้เป็นฐานการลงทุนมานานแล้ว
“นักลงทุนเดิมที่อยู่ในอีอีซี ก็ไม่ได้ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น และยังคงขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับตลาดโลกที่เติบโต แต่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะไปลงทุนประเทศอื่น”
6. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่เกินไปโดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งอาจจะไม่มีผู้เข้ามาใช้บริการมากเท่าที่ตั้งเป้าไว้ เพราะอุตสาหกรรมไฮเทคส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก มูลค่าสูง จะใช้การขนส่งทางอากาศมากกว่า และถึงแม้จะขนส่งทางเรือก็จะใช้พื้นที่น้อย ดังนั้นการลงทุนที่ใหญ่เกินไปอาจจะประสบปัญหาในอนาคต รวมทั้งการวางแผนที่จะสร้างแรงงานมารองรับ 4-5 แสนคน ก็มองว่าอาจจะมากเกินไป เพราะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ จะใช้คนน้อย แต่จะเน้นบุคลากรทักษะสูงในการควบคุมเครี่องจักรอัตโนมัติ และหุ่นยนต์มากกว่า ซึ่งการผลิตคนออกมามากเกินไปอาจจะเกิดปัญหาได้
ธนิต กล่าวว่า ในส่วนของ อีอีซี จะต้องนำจุดแข็งของไทยมาสร้างเป็นจุดเด่นในการดึงดูดการลงทุน ได้แก่ 1. การเป็นฐานการผลิตเก่า ที่มีซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตอบสนองได้ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และควรจะจับมือกับประเทศญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรเก่าแก่ของไทยให้เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ
2. แรงงานมีฝีมือการผลิตสูงเป็นจุดเด่นที่สำคัญที่ชาติอื่นสู้ไม่ได้ ในเรื่องการทำงานที่ละเอียดปราณีต ใส่ใจลงไปในงาน 3. ไทยเป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางถนนที่สำคัญ สามารถเป็นฐานการผลิตและขนส่งไปเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ได้ง่าย
4. เป็นแหล่งท่องที่ยวชั้นนำของโลกที่ผ่านมาผู้บริหารต่างชาติต่างแย่งที่จะเข้ามาทำงานในไทย เพราะเมืองไทยน่าอยู่สะดวกสบายในทุกด้าน ปลอดภัยสูง ซึ่งความที่เป็นประเทศที่น่าอยู่ก็เป็นแรงดึงดูดที่สำคัญ