เกษตรกรยุคใหม่ อาชีพทางเลือก (ทางรอด) ในยุคโควิด-19
หากแรงงานคืนถิ่น หรือคนรุ่นใหม่ที่จะกลับสู่ภูมิลำเนาหลังวิกฤติโควิด-19 เลือกภาคเกษตรเป็นอีกอาชีพทางเลือก นับเป็นโอกาสสำคัญของภาคเกษตรไทยที่จะได้เกษตรกรยุคใหม่มาปรับเปลี่ยน
จากฉบับที่แล้ว แรงงานคืนถิ่นที่มีคนรุ่นใหม่หลังโควิด-19 อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ไทยต้องดึงดูดแรงงานกลุ่มนี้อยู่เป็นกำลังสำคัญพัฒนาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาภาคเกษตรในระยะข้างหน้า จากการสัมภาษณ์ของนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสำรวจแนวทางปรับตัวของแรงงานในยุคโควิด-19 ต่างเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดี หากแรงงานคืนถิ่นเลือกภาคเกษตรเป็นอาชีพ “ทางเลือก ทางรอด” เพื่อปรับไปสู่การเป็น “เกษตรกรยุคใหม่” พร้อมรับโอกาสท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
- “บันได 4 ขั้น” เข้าสู่ภาคเกษตร
สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ทำเกษตรอาจยังมีข้อจำกัด ความรู้ความสามารถ และปัจจัยการผลิต ผู้เขียนขอแบ่งปันเคล็ดลับจากเกษตรกรตัวอย่าง “บันได 4 ขั้น” เพื่อปลดล็อกข้อจำกัด โดยการเริ่มต้นด้วยทัศนคติและแรงบันดาลใจที่ดีต่อภาคเกษตร จะช่วยให้ก้าวข้ามข้อจำกัดได้เร็วยิ่งขึ้น
บันไดขั้นแรก “เรียนรู้” และ “ควรคำนึงถึงความอยู่รอดเป็นสำคัญ” เริ่มต้นด้วยการศึกษาเคล็ดลับและบทเรียนจากผู้อื่นมาลงมือทำด้วยตนเอง “โดยไม่ด่วนตัดสินใจทำอะไรตามกระแส” จะทำให้เกิดประสบการณ์ตรง หากยังมีข้อจำกัดด้านพื้นที่เพาะปลูก อาจเริ่มจากพื้นที่ขนาดเล็ก เงินลงทุนน้อยๆ หรือหากไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง การขอแบ่งเช่าจากญาติพี่น้อง จากเพื่อนบ้าน หรือขอผู้นำชุมชนใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะถือเป็นทางออกที่น่าสนใจ
บันไดขั้นที่ 2 “พัฒนาทักษะ” เมื่อเรามีความพร้อมในการทำเกษตรแล้วควรเลือกตัดสินใจทำในสิ่งที่ตนเองชำนาญ เพื่อยกระดับทักษะฝีมือไปสู่อาชีพหลัก สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง เช่น เลือกปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ที่ตนเองถนัด เป็นต้น
บันไดขั้นที่ 3 “ขยับขยาย” ต่อยอดไปสู่การทำเกษตรเชิงพาณิชย์ โดยใช้เทคโนโลยีร่วมกับการปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ในขนาดปริมาณที่มากขึ้น หรือเน้นที่คุณภาพเพื่อพลิกบทบาทก้าวไปสู่ผู้ประกอบการเกษตร (Agripreneur) สามารถวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้อย่างเหมาะสม
บันไดขั้นที่ 4 “ยั่งยืน” เมื่อสร้างฐานะจากการทำเกษตรได้แล้ว ควรที่จะวางแผนให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรอง เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงตลาดได้ในระยะยาว เช่น การรวมกลุ่มก่อตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชน” เป็นต้น
- เกษตรกรยุคใหม่หัวไวใจกล้า
บทสรุปที่ได้จากกรณีศึกษา พบว่าชีวิตเกษตรกรยุคใหม่ บางท่านก็เริ่มจากศูนย์ ไม่มีที่ดินของตนเอง ตัดสินใจขอผู้นำชุมชนใช้ประโยชน์จากพื้นที่รกร้างสาธารณะมาทำเกษตร คุณตั้ม จตุรภัทร เป็นตัวอย่างนี้ ซึ่งเริ่มต้นจากการปลูกพืชผักสวนครัวขายเลี้ยงชีพ หลังจากที่ชำนาญแล้วจึงต่อยอดด้วยการทดลอง “ปลูกพืชมูลค่าสูงตามความถนัด” พร้อมกับอัดคลิปสั้นๆ แบ่งปันวิธีปลูกพืชจนเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ชุมชน (FB : จตุรภัทร ฟาร์มสุขปลูกอินทรีย์)
ขณะที่บางท่านอยากสร้างรายได้หลายช่องทาง คุณปอนด์ จีรพงษ์ เป็นกรณีศึกษานี้ โดยเริ่มทำการเกษตรกับภรรยาตั้งแต่เรียนจบ ด้วยการเลี้ยงสุกร ปลูกเมล่อนในโรงเรือน พร้อมกับทำคลิปเผยแพร่วิธีการทำเกษตรผ่าน youtube มีผู้ติดตามกว่า 246,000 คน ทำให้สามารถเพิ่มช่องทางจำหน่ายมากขึ้นแล้ว ยังมีรายได้เสริมที่ดีจากค่าโฆษณาอีกทางหนึ่ง (FB : ปอนด์ ฟาร์มมิ่งไทยแลนด์)
สำหรับแรงงานคืนถิ่นที่ตัดสินใจทำเกษตรเป็นทางรอด อีกตัวอย่าง คุณแม้ว เพียงพิศ อดีตพนักงานในร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้เกิดเป็นไอเดียที่จะขยายทำเป็นโรงเรือนเลี้ยงไก่ระบบปิด แทนแบบเดิมที่เป็นเลี้ยงไก่ปล่อยตามธรรมชาติ
- การสนับสนุนจากภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญ
นอกจากเคล็ดลับในการทำเกษตรแล้ว หากภาครัฐยื่นมือช่วยเหลือเกษตรกรป้ายแดง เสริมจุดแข็ง ปิดจุดอ่อน เป็นต้นว่าการสร้างตลาดดีๆ มารองรับผลผลิตในระยะแรก โดยสนับสนุนให้หน่วยราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล หรือเรือนจำ มีระเบียบจัดซื้อสินค้าเกษตรไปประกอบอาหาร จากนั้นก็ส่งเสริมให้เรียนรู้วิธีสร้างช่องทางการขาย เช่น การตลาดออนไลน์ และออฟไลน์ ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดเคล็ดลับดีๆ ในการทำเกษตรแบบง่าย เพื่อเป็นทางลัดความสำเร็จ “เหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ฉีกซองเติมน้ำร้อนก็รับประทานได้เลย”
หากปล่อยให้ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง อาจจะทำให้หมดกำลังใจ รัฐควรช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้สุดทาง “การปล่อยเต่าต้องปล่อยให้ถึงหนอง” เนื่องจากหลายโครงการยังมีการรับรู้ในวงแคบและขาดความต่อเนื่อง เกษตรกรกำลังเรียนรู้ได้ดี แต่ยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โครงการก็หมดระยะเวลา
ท้ายสุด ปัจจัยสำคัญยิ่งที่ขาดไม่ได้คือแหล่งน้ำ “ลมหายใจของเกษตรกร” รัฐควรช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งน้ำมากที่สุด โดยการช่วยขุดสระน้ำ “บ่อจิ๋ว” หรือขุดลอกลำห้วยเป็นช่วงๆ แบบ “หลุมขนมครก” และวางแผนจัดการน้ำแบบครบวงจร
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)