“นวัตกรรมเม็ดพลาสติก”  ยกระดับการแพทย์-คุณภาพชีวิต

วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงปัจจุบันรวมเกือบ 160 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการระบาดระลอกที่ 3 จนมียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมกว่า 60,000 คน สถานการณ์ที่ยังไม่คลี่คลาย เกิดเป็นวิกฤติทางสาธารณสุข

วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงปัจจุบันรวมเกือบ 160 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับการระบาดระลอกที่ 3 จนมียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมกว่า 60,000 คน สถานการณ์ที่ยังไม่คลี่คลาย เกิดเป็นวิกฤติทางสาธารณสุข ทั้งการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคส่วนบุคคล (PPE) หน้ากากอนามัย ถุงมือเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มีปริมาณวัตถุดิบและการผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอ จนบางส่วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ ภาครัฐ และเอกชน จำเป็นต้องตื่นตัว ในการจัดเตรียมการผลิต สนับสนุนวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า สร้างความมั่นคงด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ สู่ความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเอกชนหลายรายคิดค้น และดำเนินการผลิตอุปกรณ์ และวัตถุดิบสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ เสื้อกาวน์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Disposable Gown) เครื่องป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสำหรับผู้ป่วย อุปกรณ์ทางการแพทย์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ เป็นต้น

 

ในส่วนของ IRPC ก็ได้มีการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก Polypropolene (PP) Meltblown ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีค่าการไหลสูง สามารถแปรรูปเป็นเส้นใยขนาดเล็กและละเอียดในระดับไมโครเมตร จนสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย และได้ต่อยอดความสำเร็จของการพัฒนา สู่การผลิตอุปกรณ์การแพทย์ ด้วยการจัดตั้ง “บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด” โดยร่วมทุนกับบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (บริษัทย่อยของปตท. ถือหุ้น100%)

การร่วมทุนดังกล่าว เพื่อดำเนินการนำเม็ดพลาสติก PP Meltblown เข้าสู่กระบวนการผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Melt Blown ซึ่งมีคุณสมบัติการกรองอนุภาคขนาดเล็ก เช่น ฝุ่น PM2.5 รวมทั้งเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องเชื้อโรค และฝุ่นละออง อาทิ อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคส่วนบุคคล (PPE) ผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย และหน้ากาก N95 โดยโรงงานผลิตตั้งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม ไออาร์พีซี จังหวัดระยอง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 4 ปีพ.ศ. 2564 นี้

นอกจากนี้ IRPC ยังได้ร่วมลงทุนกับ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดตั้ง บริษัท วชิรแล็ปเพื่อสังคม จำกัดให้บริการตรวจสอบคุณภาพของอุปกรณ์การแพทย์ให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ได้ใช้สินค้าที่ได้คุณภาพ ซึ่งนอกจากจะสร้างความมั่นคงทางการแพทย์สำหรับประเทศไทยแล้ว ยังสามารถขยายเครือข่ายครอบคลุมถึงประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย

 

ความสำเร็จและความร่วมมือดังกล่าว นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับความปลอดภัย ลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 แล้ว ยังเป็นการต่อยอดนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์กับประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสุขภาพ สุขอนามัยและการแพทย์ โดยการสร้างนวัตกรรมเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ดีในอนาคตและตอบสนองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นด้วย Smart Material ตลอดจนทำให้ประเทศสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้า และเพิ่มความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสาธารณสุขให้กับประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 สู่การเป็น Medical Hub รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน