หมดเวลาเหยียบเบรก ! 'แอดเทค ฮับ'

หมดเวลาเหยียบเบรก ! 'แอดเทค ฮับ'

อุตสาหกรรมอยู่ในโลกแห่งยุคดิจิทัล ! ผลักดันขึ้นแท่น 'ธุรกิจดาวเด่น' สะท้อนผ่านสมาร์ทโฟน เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ 'แอดเทค ฮับ' (ADD) เข้าซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไป (mai) 20 พ.ค.นี้ ราคาหุ้นละ 11 บาท

โลกแห่ง 'ยุคดิจิทัล' (Digital) ! บ่งชี้ผ่านพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผ่านเทคโนโลยีด้านการสื่อสารเข้ามามีบทบาท ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ทำให้แพลตฟอร์มคอนเทนต์บน 'สมาร์ทโฟน' (มือถือ) กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สำคัญไปปัจจุบัน กำลังจะส่งผลดีหุ้นไอพีโอน้องใหม่จำนวน 40 ล้านหุ้น กำลังเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 20 พ.ค. 2564 ในราคาหุ้นละ 11 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 440 ล้านบาท 

'ชวัล บุญประกอบศักดิ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอดเทค ฮับ จำกัด (มหาชน) หรือ ADD ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบสนับสนุนบริการดิจิทัลคอนเทนต์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ บอกเล่าสตอรี่ใหม่ผลักดันฐานะการเงินกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า

การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้แน่นอนว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง 'ตระกูลบุญประกอบศักดิ์' สัดส่วน 55.84% (ตัวเลข ณ หลังเสนอขายหุ้น IPO) อาจไม่ได้มองเรื่องของเงินระดมทุนที่จะได้รับเป็นหลัก สะท้อนผ่านการแจ้งวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ระบุไว้ในไฟลิ่งว่า 'เงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน' แต่การเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ อาจต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยมาตรฐานของบริษัทจะถูกยกระดับขึ้นทันที 

แต่หลังจากนี้บริษัทจะไม่ 'เหยียบเบรก' อีกต่อไป หากมีโอกาสที่ดี หรือโปรเจคดีๆ เข้ามาบริษัทพร้อมเติบโตก้าวกระโดด เขาบอกถึงวิสัยทัศน์หลังเข้าตลาดหุ้น 

162098862599

ชวัล บุญประกอบศักดิ์

สะท้อนผ่าน ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้พัฒนาระบบเชื่อต่อให้ 'ผู้ประกอบการค่ายมือถือ' รายใหญ่ของเมืองไทย จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ,บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE ,โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งมือบริษัทมีความน่าเชื่อถือและมั่นคงจะช่วยสนับหนุนศักยภาพการรับงานเพิ่มมากขึ้นและขนาดใหญ่ในอนาคต 

'การพัฒนาระบบการเชื่อมต่อ เราเปรียบตัวเองเป็นเหมือนเป็นอี-โลจิสติกส์คือ การนำส่งคอนเทรนด์ไปยังผู้บริโภค การจ่ายเงินผู้บริโภคจ่ายผ่านซิมการ์ดมือถือ ดังนั้นธุรกิจเราก็คล้ายธุรกิจโลจิกติกส์ (ขนส่ง) เพียงแต่เราขนส่งในรูปของอิเล็กทรอนิกส์โลจิสติกส์' 

โดยมองว่า 'โอกาสการเติบโต' ในอุตสาหกรรมเทเลคอมยังมีอีกมหาศาล เนื่องจากตลาดเมืองไทยผู้บริโภคที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีจำนวนน้อยราย ตรงข้ามกับตลาดผู้บริโภคที่จ่ายเงินผ่านซิมการ์ดโทรศัพทย์ที่เป็นสัดส่วนใหญ่ของไทย ดังนั้น วิธีการที่ง่ายในการซื้อคอนเทรนด์ในแต่ละครั้ง คือการซื้อคอนเทรนด์ที่ต้องการผ่านซิมมือถือ อย่าง จะซื้อคอนเทรนด์เพลงรอสายก็เติมเงินผ่านซิมมือถือ ซึ่งเรามองว่าเป็นช่องทางการชำระเงินที่ง่ายมาก ซึ่งบริษัทพยายามนำระบบตรงนี้มาเป็นแกนของธุรกิจ 

'ดังนั้น ไม่ว่ารูปแบบคอนเทรนด์จะพัฒนามาจากเสียงกลายมาเป็นรูปภาพ แต่ระบบเบื้องหลังยังทำงานแบบเดิมตลอด คือการเก็บเงินค่าบริการผ่านข่ายมือถือและค่ายมือถือมาแบ่งเงินให้บริษัท ฉะนั้นรายได้ทั้งหมดเกือบ 100% มาจากส่วนแบ่งรายได้จากโอปเรเตอร์ทั้งหมด' 

หากพิจารณาการเติบโตขององค์กรแห่งนี้จะพบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2563) มีกำไรสุทธิเติบโตอยู่ที่ 29.29 ล้านบาท 39.50 ล้านบาท และ 72.37 ล้านบาท ขณะที่รายได้จำนวน 289.48 ล้านบาท 302.04 ล้านบาท และ 345.53 ล้านบาท ตามลำดับ

'แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพและความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มบริษัทและจากศักยภาพของธุรกิจ ยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำที่แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการพัฒนาระบบสนับสนุนดิจิทัลแพลตฟอร์มทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต'

ปัจจุบัน ADD แบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจ คือ 1.ให้บริการสนับสนุนดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content Support) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ปี 2563 ถึง 83% ของรายได้จำนวน 287 ล้านบาท ซึ่งบริษัทวางธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจที่สร้าง 'กระแสเงินสด' (Cash Flow) ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งรายได้เข้าต่อเนื่องเท่าเดิม 

2. ให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital Solution) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ปี 2563 อยู่ที่ 17 % แต่การให้บริการในส่วนนี้จะมีการเติบโตอย่าง 'ก้าวกระโดด' ในทุกๆ ปี ซึ่งเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (2561-2563) รายได้เติบโตจาก 11 ล้านบาท เป็น 24 ล้านบาท และ 57 ล้านบาท ตามลำดับ ดังนั้น ในแผนธุรกิจระยะยาวธุรกิจให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจะเป็น 'หัวหอก' (ผู้นำ) ในการสร้างการเติบโตของบริษัท 

'เราหันมาเน้นรับงาน Digital Solution มากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนวิธีการรับรู้รายได้ใหม่มาเป็นส่วนแบ่งรายได้ตามยอดขาย ภายใต้การลงทุนพัฒนาระบบให้ฟรี ซึ่งทำให้บริษัทมีอัพไซด์ของรายได้มากขึ้น เนื่องจากมีคนมาใช้มากบริษัทก็ได้ส่วนแบ่งรายได้มากขึ้นด้วย ขณะที่ต้นทุนบริษัทไม่เพิ่มขึ้น'

และ 3. ให้บริการสื่อและโฆษณาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (Online Advertising) สัดส่วนรายได้น้อยกว่า 2% ของรายได้รวมซึ่งกำลังมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น แต่ในปัจจุบันธุรกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 คาดว่าหากสถานการณ์คลี่คลายธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวขึ้น 

เขา บอกต่อว่า 'แอดเทค ฮับ' มีโดดเด่นในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับบริษัทโทรคมนาคม โดยสนับสนุนการให้บริการดิจิทัลคอนเทนต์แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) กว่า 15 ปี ทำให้บริษัทสามารถตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี และสามารถเพิ่มช่องทางการขยายการให้บริการเพื่อต่อยอดไปยังรูปแบบต่างๆ อาทิ การพัฒนาระบบความปลอดภัย, การพัฒนาระบบชำระเงิน และการพัฒนาระบบบริหารจัดการรายการสั่งซื้อสินค้าและบริการ เป็นต้น

โดยบริษัทความสามารถในการให้บริการครบวงจรตั้งแต่ 'ต้นน้ำถึงปลายน้ำ' อาทิ ตั้งแต่ให้คำปรึกษา ต่อเนื่องไปยังการพัฒนาระบบ และต่อยอดไปในส่วนของการดูแลบำรุงรักษาระบบให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งบริษัทยังมีความพร้อมทั้งบุคลากรนักพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง

ขณะเดียวกัน บริษัทได้เพิ่มบริการพัฒนาระบบชำระเงินค่าบริการหรือสินค้าผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Carrier Billing) เข้ามาเป็นหนึ่งในช่องทางการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อให้ผู้ใช้โทรศัพท์สามารถชำระเงินค่าบริการผ่านระบบ Carrier Billing โดยไม่ต้องใช้เงินสดหรือบัตรเครดิต 

โดยเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้โทรศัพท์ โดยการชำระเงินผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถใช้งานได้ทั้งแบบเติมเงิน (Prepaid) และแบบรายเดือน (Postpaid) ซึ่งบริษัทจะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากรายการที่ผ่านระบบของบริษัท ซึ่งในไตรมาสแรกปี 2564 ระบบ Carrier Billing ได้รองรับการซื้อเหรียญดิจิทัลในแอพพลิเคชั่น ซึ่งเหรียญดิจิทัลดังกล่าวสามารถนำไปซื้อสินค้าดิจิทัลในแอปพลิเคชันได้หลากหลายประเภท อาทิ เพลงรอสาย ภาพพื้นหลัง สติ๊กเกอร์ สัญลักษณ์แสดงอารมณ์ (Emoji) เป็นต้น

ท้ายสุด 'ชวัล' ทิ้งท้ายไว้ว่า บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผล ในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการหลังหักภาษีเงินได้และเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท 

162098874816