“สมชาย” เปิด 5 จุดอ่อน EEC แนะเพิ่มแรงหนุนขึ้นเวทีโลก

“สมชาย” เปิด 5 จุดอ่อน EEC แนะเพิ่มแรงหนุนขึ้นเวทีโลก

พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ในปัจจุบันได้ผ่านการดำเนินงานมาแล้ว 3 ปี ซึ่งมีหลายด้านที่มีความคืบหน้า เช่น การลงนามก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการแก้ไขกฎหมาย แต่ยังมีอีกหลายด้านที่เดินหน้าได้ช้าและอาจกระทบเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้

สมชาย หาญหิรัญ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประเมินผลการทำงานของ อีอีซี ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปประเทศคู่แข่งด้านลงทุนได้ปรับตัวดีขึ้น โดยเวียดนามปรับตัวจากเดิมที่โครงสร้างพื้นฐานล้าสมัย ขาดแคลนแรงงานมีทักษะ แต่ปัจจุบันโครงสร้างพื้นที่ปรับตัวดีขึ้น แรงงานมีทักษะสูง มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) หลายประเทศมากกว่าไทย 

ส่วนมาเลเซียปรับไปสุ่อุตสาหกรรมไฮเทคที่แข่งกับไทยโดยตรง รวมทั้งประเทศอื่นมีเขตเศรษฐกิจพิเศษและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่รองรับ ดังนั้น อีอีซีต้องเร่งสร้างจุดเด่นให้เหนือกว่าประเทศอื่น โดยสิ่งที่ไทยจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้อีอีซีแข่งขันได้ คือ 

1.การเร่งจัดทำข้อตกลงเอฟทีเอที่ไทยเสียเปรียบคู่แข่งมาก โดยเวียดนามมีข้อตกลงเอฟทีเอ 51 ประเทศ แต่ไทยมี 17 ประเทศ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมไฮเทคจะตั้งฐานการผลิตในประเทศที่มีความสะดวกและความได้เปรียบในการส่งออก เพราะสินค้าเหล่านี้ไม่ได้ผลิตเพื่อตลาดภายในประเทศอย่างเดียว รวมทั้งต้องเชื่อมห่วงโซ่การผลิตชิ้นของโลก ดังนั้นเอฟทีเอและการอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศจะทำให้เป็นศูนย์กลางการส่งออกและอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลก

“จากการสำรวจความเห็นนักลงทุนญี่ปุ่นพูดชัดเจนว่าเอฟทีเอเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจลงทุน ซึ่งสูงกว่าต้นทุนแรงงาน ทักษะฝีมือ เพราะต้องเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตของโลก และประเทศคู่ค้า”

162105909585

2.โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ถือว่า สอบผ่าน” แต่ต้องเร่งให้เป็นรูปร่างเร็วที่สุด รวมทั้งต้องเร่งโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น ดิจิทัล 5จี สถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัยพัฒนา โดยเฉพาะนเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล(อีอีซีดี) ต้องเร่งให้เร็วเเพราะเป็นพื้นที่ดึงการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ต้องเสร็จพร้อมโครงการขนาดใหญ่ เพราะเป็นแม่เหล็กดึงดูดอุตสาหกรรมชั้นสูง แต่ถ้าขาดความพร้อมด้านนี้จะทำให้ความน่าสนใจลดลง และที่สำคัญต้องเตรียมโครงสร้างด้านการผลิตคนให้พร้อมทั้งจำนวนและทักษะที่ตรงอุตสาหกรรมเป้าหมาย

“หากอีอีซี ซึ่งสถาบันการศึกษา และศูนย์วิจัยระดับโลกเข้ามาตั้งสาขาใน อีอีซี ได้ จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้เกิดสตาร์ทอัพเทคโนโลยีชั้นสูง และอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ระดับโลกเข้ามาตั้งในไทยได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องตามเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้เทคโนโลยี และนวัตกรรมล่าสุดเข้ามาอยู่ในประเทศไทย”

3.การกระตุ้นให้อีอีซีอยู่บนเวทีความสนใจของคนทั้งโลก โดยดึงให้บริษัทขนาดใหญ่สถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลก สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ หรือโครงการต่างชาติขนาดใหญ่เข้ามาลงทุน หรือมีความร่วมมือใน อีอีซี เพื่อให้อีอีซีอยู่ในกระแสความสนใจนักลงทุนรายใหญ่เสมอ ซึ่งสิ่งที่จะดึงดูดให้บริษัทระดับโลกมาได้อยู่ที่ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี

“กระแสอีอีซี จะต้องมีอยู่ในเวทีระดับโลกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้หายไปจากความสนใจของนักลงทุนระดับโลก ซึ่งถึงแม้จะอยู่ในภาวการณ์ระบาดของโควิด-19 เดินทางไปเจรจาได้ลำบาก แต่ก็จำเป็นที่ต้องสร้างกระแสเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ผ่านทุกช่องทาง และโอกาสที่มีอยู่”

4.การเร่งโครงการสมาร์ทซิตี้ การสร้างเมืองใหม่ที่พักอาศัยที่ทันสมัยสะดวกสบายทั้งด้านการอยู่อาศัย การดำเนินชีวิต การรักษาสุขภาพ และการศึกษา ซึ่งแผนอีอีซีกำหนดให้ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ชลบุรี เป็นเมืองใหม่รองรับการขยายตัวของอีอีซี ซึ่งต้องเร่งให้เห็นภาพที่ชัดเจน โดยการสร้างสมาร์ทซิตี้เป็นเรื่องยาก เพราะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ใช้เงินลงทุนสูงมาก และต้องมีนโยบายแผนการดำเนินงานพร้อมกับงบประมาณที่ต่อเนื่อง 

รวมทั้งที่สำคัญต้องทำให้สมาร์ทซิตี้เป็นธุรกิจที่มีภาคเอกชนเข้ามาขัดเคลื่อน และชุมชนร่วมเป็นเจ้าของหลัก จึงจะพัฒนาได้ยั่งยืนและต่อเนื่อง เพราะหากให้ภาครัฐลงทุนดูแลฝ่ายเดียวอาจสะดุดได้หากเปลี่ยนรัฐบาล แต่หากเอกชนและชุมชนมาดูแลบริหารงานจะเดินหน้าได้เร็วขึ้น

5.จะต้องเชื่อมโยงอีอีซีกับชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันตก เพื่อเพิ่มแรงดึงดูดให้กับ อีอีซี ให้เชื่อมโยงเส้นทางการค้าออกสู่เมียนมา อินเดีย เอเชียใต้ และยุโรปได้อย่างสะดวก มีต้นทุนโลจิสติกส์ที่ลดลง เพราะอนาคตเอเชียใต้จะเติบโตอีกมาก รวมทั้งต้องเชื่อมภูมิภาคในไทยได้เร็วและประหยัด

การพัฒนาอีอีซีต้องผลักดันในภาพรวมที่แข็งแกร่งจากรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพราะแค่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) อาจไม่มีกำลังพอ รวมทั้งอีอีซีเกี่ยวข้องทุกกระทรวงและเป็นโครงการระดับชาติที่ต้องได้รับการผลักดันจากผู้คุมนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาแม้ถูกผลักดันจากรัฐบาลเดียวกันแต่เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจก็เห็นความเปลี่ยนแปลง และความไม่ต่อเนื่องของแผนการดำเนินการในบางด้าน และการให้ความสำคัญที่ต่างกัน

ทั้งนี้ แม้วิกฤตโควิด-19 จะทำให้การลงทุนใหม่ชะงัก แต่อีอีซีต้องเตรียมบ้านให้พร้อมรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามาหลักจากโควิด-19 โดยเฉพาะเตรียมพื้นที่อุตสาหกรรมการและเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษใหม่ที่ยังเกิดขึ้นได้ช้า ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงแต่นิคมอุตสาหกรรมเดิมที่ยกระดับเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และหากมีมากจะดึงนักลงทุนมากขึ้น รวมทั้งควรแก้ไขกฎเกณฑ์การตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษให้ยืดหยุ่น เพื่อออกแบบให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มนักลงทุนที่ต่างกัน