บอร์ด TPS ไฟเขียวตั้งบริษัทย่อย รุกธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้
บอร์ด TPS อนุมัติจัดตั้งบริษัทย่อย ลุยธุรกิจระบบความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ ถือหุ้นในสัดส่วน 60% มั่นใจช่วยต่อยอดธุรกิจ เพิ่มโอกาสการเติบโตระยะยาว ระบุเป็นเทรนด์ธุรกิจในอนาคต เหตุผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลระดับสูงสุด
นายบุญสม กิจเกษตรสถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น จำกัด (มหาชน) (TPS) ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง จำหน่ายผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติการจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อประกอบธุรกิจให้คำปรึกษา ออกแบบ บริการ จัดหา ติดตั้ง และบริการจัดหาทรัพยากรบุคคล เพื่อระบบความปลอดภัยของระบบสารสนเทศ (Cyber Information Security) ทั้งด้านข้อมูลสารสนเทศ (Data Security) และระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Network Security)โดยมีทุนจดทะเบียน 3,000,000 บาท ซึ่ง TPS ถือหุ้นในสัดส่วน 60% บริษัทฯ คาดว่าจะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทภายใน 60 วัน นับจากวันที่ประชุม คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการจัดตั้งบริษัทย่อย
“การจัดตั้งบริษัทย่อยในครั้งนี้ เป็นการให้บริการ ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวัง (Monitoring-Detective) และแก้ไขปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Incident Respond) ที่มีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่า Cyber Security Operation Center (CSOC) ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการ CSOC นี้ มีความพร้อมที่จะป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์และลักษณะการต่อเชื่อมของโครงสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มีองค์ประกอบจำนวนมาก หลากหลายยี่ห้อและเทคโนโลยี รวมถึง การใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผลสูงและทันสมัย (AI & Machine Learning) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จที่จะปกป้องความเสียหายของระบบสารสนเทศจากการคุกคามทางไซเบอร์ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งปัจจุบันทุกองค์กรจะให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูลบนช่องทางออนไลน์ ทั้งซอฟต์แวร์หรือระบบคลาวด์มากขึ้น และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ โดย TPS มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ด้าน IT เป็นอย่างดี จึงมั่นใจว่า ธุรกิจนี้ จะสามารถช่วยหนุนผลงานของบริษัทฯ ให้เติบโตได้ระยะยาว”
ปัจจุบันมีมิจฉาชีพในวงการไอทีที่เรียกว่า แรนซัมแวร์ (Ransomware) มัลแวร์ (Malware) เรียกค่าไถ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยไซเบอร์ที่ร้ายแรงที่สุด ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างมากในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่อระบบคอมพิวเตอร์และฐานข้อมูลขององค์กรต่าง ๆ อีกทั้ง ยังเรียกเงินในจำนวนสูงจนน่าตกใจอีกด้วย ดังนั้นธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (Cyber Security) จึงถือได้ว่าเป็นเทรนด์ธุรกิจในอนาคต ที่ผู้ประกอบการเกือบทุกอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ ซึ่งในส่วน TPS มองเห็นโอกาสและมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมั่นใจว่า จะได้รับความไว้วางใจมีลูกค้ามาใช้บริการจำนวนไม่น้อย
นายบุญสม กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการดำเนินงานที่เหลือของปี 2564 บริษัทฯ ยังเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วน บริษัท เดอะวิน เทเลคอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ปัจจุบันมีงานที่ดำเนินการอยู่ 2-3 โครงการ พร้อมกันนี้ มีแผนที่จะเข้าร่วมประมูลงานภาครัฐ อีกหลายโครงการ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ สำหรับบริษัทร่วมทุน บริษัท เดอะแพรคทิเคิลซูเพิร์บโซลูชั่น จำกัด อยู่ระหว่างการเข้าร่วมประมูลงานทั้งภาครัฐและเอกชนเช่นกัน
สำหรับภาพรวมของผลการดำเนินงานงวดไตรมาสแรกของปี 2564 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564) บริษัทฯ มีรายได้รวม 128.24 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2.67 ล้านบาท