‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.40บาทต่อดอลลาร์
เงินบาทแข็งค่าและผันผวนตามฟันด์โฟวล์ ขณะที่บรรยากาศการลงทุนรวมยังถูกกดดันด้วยปัจจัยเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19ที่ทวีความรุนแรงในหลายประเทศ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ในเอเชียทำให้เห็นเงินทุนไหลออก คาดบาทอ่อนระยะสั้น สำหรับวันนี้คาดเงินบาทคลื่อนไหวในกรอบ 31.35- 31.50บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 31.40 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.35-31.50 บาทต่อดอลลาร์
ในส่วนแนวโน้มเงินบาท เราคงมองว่า แม้เงินบาทจะเปิดเช้านี้แข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ แต่เราคงมองว่า เงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมากในระยะสั้นนี้ เพราะหลายประเทศในโซนประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย ( EM Asia ) ยังคงเผชิญปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนอาจกดดันให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ในฝั่ง EM Asia ต่อเนื่อง ทำให้ เงินบาทมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้นตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังมีทิศทางไหลออกสุทธิต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเจอแนวต้านใกล้ระดับ 31.60 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าวเป็นช่วงที่ผู้ส่งออกจำนวนมากต่างรอขายเงินดอลลาร์ ขณะที่แนวรับของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 31.30 บาทต่อดอลลาร์เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้นำเข้าก็รอทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ เช่นเดียวกับฝั่งของบริษัทจดทะเบียนที่จำเป็นต้องแลกซื้อสกุลเงินต่างประเทศเพื่อจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ
ส่วนบรรยากาศการลงทุนโดยรวม ยังคงถูกกดดันจากปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้ง ความกังวลแนวโน้มการเร่งตัวของเงินเฟ้อ โอกาสที่เฟดปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้น อาทิ ลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอี (QE Tapering) รวมถึง ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในฝั่งเอเชีย ซึ่งความกังวลดังกล่าวส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าลดสถานะถือครองหุ้นในกลุ่มเทคฯและหุ้นเติบโตสูง (Tech & Growth) ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลง -0.58%
ในขณะที่ ความกังวลว่า อิหร่านอาจกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯและอิหร่านอาจบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ใหม่ ได้ทำให้ราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI ปรับตัวลดลงกว่า 1.2% สู่ระดับ 68.5 และ 65.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กดดันให้ ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง กดดันให้ ดัชนี Dowjones และ ดัชนี S&P500 ย่อตัวราว -0.78% และ -0.85% ตามลำดับ
ส่วนในตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย 1bps สู่ระดับ 1.64% แม้ว่าตลาดจะปิดรับความเสี่ยงภาพดังกล่าวอาจสะท้อนว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ ยังไม่รีบปรับเปลี่ยนการถือครองบอนด์ระยะยาว เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ยังรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟด รวมถึง รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Minitues) เพื่อติดตามมุมมองของเฟดต่อการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ รวมถึงโอกาสที่เฟดจะปรับลดการทำคิวอีในปีนี้
สำหรับตลาดค่าเงิน ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งยูโรโซนและอังกฤษ ที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ได้หนุนให้ สกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะ เงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงมาสู่ระดับ 89.75 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้กับจุดต่ำสุดในปีนี้ ที่89.69 จุด ส่วนเงินยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.222 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกับ เงินปอนด์ ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.419 ดอลลาร์ต่อปอนด์ นอกจากนี้ เงินเยน (JPY) ก็แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 108.9 เยนต่อดอลลาร์ จากทั้งภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์
สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ผ่านรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ โดยเริ่มจาก รายงานเงินเฟ้อทั่วไปของอังกฤษ (CPI) ในเดือนเมษายน ที่ตลาดมองว่าจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.4% ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและหนุนโดยฐานราคาสินค้าพลังงานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ซึ่งภาพดังกล่าวจะสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อ
ยูโรโซน ที่ตลาดมองว่าจะเร่งตัวขึ้นจากระดับ 1.3% ในเดือนมีนาคม สู่ระดับ 1.6% ในเดือนเมษายน ทั้งนี้การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้ออาจไม่ได้กดดันให้ ธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางยุโรปต้องรีบลดการอัดฉีดสภาพคล่อง หรือใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่แข็งแกร่งมาก
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Raphael Bostic รวมถึงรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด เพื่อติดตามมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ รวมถึงเพื่อจับสัญญาณและโอกาสที่เฟดจะปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่องว่าจะเกิดขึ้นได้ในปีนี้หรือไม่