‘ททท.’ เดินเกม ‘ซิตี้ มาร์เก็ตติ้ง’ ถกโรงแรมดึงทัวริสต์รับเปิดเมือง ‘ภูเก็ต’
วานนี้ (19 พ.ค.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับภาคธุรกิจโรงแรม ทั้งสมาคมโรงแรมไทย ตัวแทนโรงแรมทั้งขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ และเชนรับบริหารโรงแรมต่างๆ
เช่น แมริออท, ไฮแอท, อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ลส์ กรุ๊ป, แอคคอร์, ดุสิตธานี, ออนิกซ์, ไมเนอร์, ดิเอราวัณกรุ๊ป, เซ็นทารา, แอสเสท เวิรด์ และอื่นๆ รวมจำนวน 50-60 ราย เพื่อยืนยันเดินหน้าแผน “เปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มฉีดวัคซีนครบแล้ว โดยเฉพาะโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เปิดเมืองภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของไทย เริ่มวันที่ 1 ก.ค.นี้
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการทำ “ซิตี้ มาร์เก็ตติ้ง” (City Marketing) ด้วยการแยกภูเก็ตและพื้นที่นำร่องอื่นๆ ออกจากประเทศไทยในภาพรวม เพราะหากดูจากรายงานยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันและยอดสะสมของทั้งประเทศ อาจดูน่ากลัวในสายตาต่างชาติ! จึงเป็นอีกประเด็นที่ ททท.ได้อธิบายแนวทางการทำตลาดให้ภาคเอกชนโรงแรมรับทราบ
หลังจากวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ททท.ได้ลงพื้นที่ภูเก็ตร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งต่างยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ตามระยะเวลาที่กำหนด พร้อมให้ความมั่นใจเรื่องการกระจายวัคซีนแก่คนในพื้นที่ภูเก็ต
และเพื่อตอบสนองดีมานด์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจเปลี่ยนไป! ต้องมีการเตรียมความพร้อม 3 เรื่อง ได้แก่ 1.แผนกระจายวัคซีน ต้องชัดเจนว่าในพื้นที่นำร่องนั้นๆ มีขีดความสามารถในการฉีดวัคซีนมากน้อยแค่ไหน หลังจากพื้นที่นำร่องอื่นๆ ต่างขอวัคซีนจากรัฐมาฉีดแก่ประชากรในพื้นที่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่พร้อมรับการเปิดประเทศ
จากนั้นต้องมีการบริหารความเสี่ยงด้วย ว่าจะควบคุมสัดส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนและผู้ที่ยังไม่ได้รับให้อยู่ที่ 70:30 อย่างไร เช่น กรณีภูเก็ต เมื่อมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนเข้ามาเที่ยวแล้ว แล้วจะทำอย่างไรกับตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยต่อ ทำให้ช่วงนี้มีประเด็นว่านักท่องเที่ยวไทยที่จะไปภูเก็ต ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส หรือผลตรวจ RT-PCR หรือผลตรวจ Rapid Antigen Test อายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ต้องมีแผนสำรองด้วยว่า แม้นักท่องเที่ยวจะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ เพราะฉะนั้นต้องมีการเตรียมความพร้อมรองรับด้านสาธารณสุข เช่น เตียงในห้องไอซียู และคู่มือการปฏิบัติงาน (SOP) หากพบผู้ติดเชื้อในโรงแรมขึ้นมา จะมีแนวทางรับมืออย่างไร
2.แผนการพัฒนาเมือง เพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของภาคท่องเที่ยวหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 จึงต้องมีการปรับปรุงเมืองและซัพพลายไซด์ อาทิ การปรับทัศนียภาพ, การจัดการพื้นที่ส่วนกลาง, การยกระดับความปลอดภัย และการแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ประเด็นเหล่านี้ต้องถูกแก้ไขก่อนเปิดประเทศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกตื่นตาตื่นใจ ว่าประเทศไทยไม่ได้มีดีแค่ธรรมชาติที่ฟื้นตัวกลับมาสวยงามอีกครั้งเท่านั้น
และ 3.แผนการตลาด มุ่งเจาะเซ็กเมนต์ต่างๆ ทำงานร่วมกับสายการบินและเอเย่นต์ทัวร์เพื่อให้ได้นักท่องเที่ยวต่างชาติตามเป้าหมายไตรมาส 3 นี้ที่ 1.29 แสนคน ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงแรมซึ่งมีฐานลูกค้าในการประชาสัมพันธ์สร้างความมั่นใจ ดึงคนเข้ามาเที่ยวไทยให้ได้ในช่วงที่ประเทศไทยพยายามผลักดันการเปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์
ทั้งนี้ ททท.เตรียมเปิดตัวแคมเปญ “Countdown to Reopen Phuket” ในเร็วๆ นี้เพื่อประชาสัมพันธ์และทำการตลาดล่วงหน้า มุ่งสื่อสารเป็นซิงเกิล เมสเสจ ให้ข้อมูลข่าวสารตามความเป็นจริง เช่น ปัจจุบันภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเท่าไร มีประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนเท่าไร นอกจากนี้ยังเตรียมจัด “Experimental Trip” มีผู้เข้าร่วมทริปทดลอง 200 คน เช่น กลุ่ม KOL บล็อกเกอร์ และอื่นๆ ตลอดเดือน ก.ค.นี้ เพื่อเที่ยวชมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของภูเก็ต สอดรับกับแคมเปญใหญ่ “Amazing Thailand... Amazing ยิ่งกว่าเดิม” พร้อมประสานงานดึงรายการโทรทัศน์ชั้นนำในต่างประเทศให้มาเข้ามาถ่ายทำช่วง 1-2 เดือนนี้เพื่อนำเสนอภาพการท่องเที่ยวในภูเก็ต ควบคู่กับการจัดกิจกรรมอื่นๆ
“นี่คือสิ่งที่ต้องทำร่วมกันทั้งหมด ไม่ใช่แค่ว่ามีวัคซีนแล้วจะเปิดประเทศได้ การประชุมกับตัวแทนภาคเอกชนโรงแรมจึงเหมือนดึงมาเป็นพันธมิตรหรือสหายร่วมรบ ช่วยกันสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ”
ผู้ว่าการ ททท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมผู้ประกอบการโรงแรมต่างสะท้อนมุมมองบวก ทั้งยังมั่นใจว่าจะสามารถเปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ได้ตามแผน และมี “ความหวังสูง” ต่อการดึงต่างชาติมาเที่ยวไทยจำนวนมากขึ้นในไตรมาส 4 หากเปิดภูเก็ตได้ ก็น่าจะเป็นผลดีต่อพื้นที่นำร่องอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ส่วนจุดที่ผู้ประกอบการยังกังวลคือรัฐบาลประกาศให้ผู้ที่เดินทางเข้าไทยต้องกักตัว 14 วันเหมือนเดิม ททท.จึงทำความเข้าใจไปว่าน่าจะเป็นมาตรการระยะสั้นเท่านั้นในการควบคุมการระบาดของโควิด-19
“ผู้ประกอบการโรงแรมต่างมั่นใจว่าภูเก็ตเป็นจุดหมายที่ขายได้อยู่แล้ว จึงไม่ได้พูดถึงเรื่องการจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมเท่าไหร่ แต่มองตรงกันว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความมั่นใจในการมาเที่ยวภูเก็ตมากกว่า โดยต่างสะท้อนว่านักท่องเที่ยวต่างชาติตอนนี้อัดอั้นกันมาก อยากออกมาเที่ยวแล้ว หลังจากไม่ได้เที่ยวมานาน 1 ปีครึ่งหลังเกิดวิกฤติโควิด-19”