เอสแอนด์พี เขย่าเดลิเวอรี่รอบ 20 ปี ดันขึ้นพระเอก ฟื้นธุรกิจอาหาร-เบเกอรี่
ปี 2540 จุดสตาร์ทส่งอาหารและเบเกอรี่หรือ "เดลิเวอรี่" ของ "เอสแอนด์พี" เมื่อวิกฤติโรคระบาดเคาะประตู จึงปรับทัพ ปั้นโมเดล วางกลยุทธ์ใหม่ลุยส่งสินค้าถึงบ้านเป็นพระเอก มี "Delta" เป็นศูนย์กลางเสิร์ฟอาหารระยะประชิดลูกค้า ชิงเดลิเวอรี่ 74,000 ล้าน
1 ปีที่ธุรกิจต้องขับเคลื่อนงาน สร้างยอดขายภายใต้วิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด หลายองค์กรต้องยกเครื่อง เปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อยืนหยัดให้อยู่รอด รอวันโอกาสกลับมาสดใสอีกครั้ง
เอสแอนด์พีฯ หนึ่งในแบรนด์ธุรกิจอาหารชั้นนำ ที่ยืนหนึ่งในเซ็กเมนต์ “เบเกอรี่” ภาพรวมปี 2563 บริษัทได้รับผลกระทบทั้ง “รายได้” และ “กำไร” ไม่ต่างจากหลายธุรกิจ แต่วิกฤติทำให้ปรับตัวครั้งสำคัญ โดยเฉพาะการลุย “เดลิเวอรี่” เต็มสูบ
อรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการธุรกิจเอส แอนด์ พี บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ฉายภาพบทเรียนที่ได้รับจากโควิด คือการกลับมาบริหารจัดการต้นทุนให้ดี คุมค่าใช้จ่ายต่างๆอย่างเข้มข้นทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ การจ้างงานฯ ซึ่งผลลัพธ์ยังส่งผลให้ไตรมาส 1 กำไรกว่า 79 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน
ทว่า อีกหนึ่งโอกาสที่ต้องคว้าไว้ คือการทำตลาดเดลิเวอรี่ หลังจากคร่ำหวอดในการส่งอาหารและเบเกอรี่ยาวนานถึง 24 ปี ได้เวลาที่ต้องวางกลยุทธ์ ปั้นแพลตฟอร์มให้ธุรกิจทำเงินเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะ “เติบโต 2 เท่าตัว” ในสิ้นปี 2564
4 กลยุทธ์ถูกนำมาสานสู่เป้าหมาย ดังนี้ 1.การเปิดโมเดลร้าน เอส แอนด์ พี รูปแบบใหม่ในชื่อ “เดลต้า-Delta” จุดซื้อขายกลับบ้านและส่งเดลิเวอรี่ จะขยายให้ครบ 31 จุด ภายในสิ้นปีครอบคลุมเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยพื้นที่ของช็อปมีขนาด 90 ตารางเมตร(ตร.ม.) ลงทุนเฉลี่ย 2.5-2.8 ล้านบาท ทำเลที่ไปจะมีทั้งคอมมูนิตี้มอลล์ สถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) ไฮเปอร์มาร์เก็ต และอาคารพาณิชย์ เพื่อเสิร์ฟอาหารใกล้กลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้นภายใน 10 นาที จากเดิม 35-40 นาที
“เราทำยอดขายเดลิเวอรี่ได้ 1.5-18 ล้านบาทต่อเดือนต่อสาขา”
2.พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์รูปแบบใหม่ให้สามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งแอปพลิเคชั่น S&P Delivery และ www.snp1344.com ให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้ออาหารและเบเกอรี่ตามโอกาสสำคัญๆ ได้ เช่น วันเกิด ชุดอาหารกล่อง สำหรับการประชุม ฯ เพื่อเจาะลูกค้าองค์กร ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะรุกหนัก โดยแอ๊พฯดังกล่าวยังเอื้อให้ขั้นตอนการจ่ายเงินรวดเร็วขึ้นด้วย
3.ออกเมนูอาหารไทยอย่าง “กับข้าวไทย” 20 รายการ ราคาเริ่มต้น 79 บาท และ “เค้กปอนด์” จาก 10 เป็น 30 รายการ เพิ่มความมหลากหลาย สามารถจัดโปรโมชั่นจูงใจลูกค้าสั่งอาหารมากขึ้น ตอกย้ำความแข็งแกร่งการเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเบเกอรี่ และ4.มุ่งขยายพื้นที่การจัดส่งให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ผ่านจุดขายร้าน เอส แอนด์ พี กว่า 300 จุด ทั้งทางเอสแอนด์พี เดลิเวอรี่ 1344 และแอ๊พพลิเคชั่นส่งอาหารของพันธมิตรต่างๆ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายทั่วไทย ประกอบกับที่ผ่านมา การส่งสินค้าเดลิเวอรี่เติบโตก้าวกระโดด เฉพาะเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยอดเติบโตขึ้น 20%
“1 ปีที่ผ่านมา เราลุยเดลิเวอรี่เป็นหลัก และเดลิเวอรี่ถือเป็นพระเอก สร้างรายได้ให้ธุรกิจอาหาร การมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน จะช่วยสร้างโอกาสเจาะกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้บริโภคทั่วไป และลูกค้าองค์กรมากขึ้น แต่ยอมรับว่าตลาดมีอุปสรรค เพราะเดลิเวอรี่มีการแข่งขันสูงมาก ผู้เล่นหลายราย ซึ่งอีกมุมถือเป็นการช่วยทำให้ตลาดเติบโต”
สำหรับภาพรวมธุรกิจเดลิเวอรี่มีมูลค่าราว 74,000 ล้านบาท เติบโต 9% แม้ภาพรวมจะเห็นผู้ประกอบการเดลิเวอรี่ยังเผชิญ “ขาดทุน” แต่เอสแอนด์พี กลับสร้างผลงานได้ดีและมี “กำไร” หล่อเลี้ยงบริษัท และการรุกตลาดเดลิเวอรี่ บริษัทต้องการผลักดันยอดขายให้มีสัดส่วน 15% ของรายได้ และซื้อกลับบ้านมีสัดส่วน 60% นั่งทานในร้าน 25%
ธุรกิจร้านอาหารเพิ่งคลายกึ่งล็อกดาวน์ ให้นั่งทานที่ร้านได้ 25% อรรถ บอกว่าทันทีที่ให้บริการ ลูกค้ากลับมาใช้จ่ายในทิศทางที่ดี และเริ่มกลับมา 50-60% มีเดลิเวอรี่มาช่วยกอบกู้ยอดขายอีกส่วน ด้านการฟื้นตัวของธุรกิจจึงคาดว่าจะเห็นเร็วภายในกรกฎาคม เพราะบทเรียนล็อกดาวน์ปีที่แล้ว เดือนพฤษภาคมกลับมาเปิดร้านได้เพียง 2 เดือนสถานการณ์ก็ดีขึ้น
ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารรายเล็ก ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อาจทำให้ตลาดเหลือเพียงผู้เล่น “รายใหญ่” อรรถ มองว่าเดลิเวอรี่จะเป็น “ตัวช่วย” ให้ธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่อยู่ในสนามแข่งขันและแบ่งขุมทรัพย์กันได้ “เชื่อว่าอยู่รอดกันได้”
ปี 2563 เอสแอนด์พี มียอดขายกว่า 5,200 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 180 ล้านบาท จากก่อนหน้ารายได้ทะลุ 7,000 ล้านบาท และเกือบแตะ 8,000 ล้านบาท ในปี 2560 ดังนั้น การพลิกหมากรบครั้งนี้ บริษัทคาดหวังจะกลับไปทำรายได้สูงระดับ 7,000 ล้านบาทโดยเร็วในปี 2565
“ปีหน้าเรากลับไปทำรายได้แตะ 7,000 ล้านบาท อีกครั้งแน่ๆ”