บีโอไอเร่งดึงลงทุนหลังโควิด ดันไทยฮับธุรกิจระหว่างประเทศ
ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ทั่วโลก แต่การดึงการลงทุนยังมีความเข้มข้นในหลายประเทศ เพื่อให้สามารถลงทุนได้ทันทีเมื่อการระบาดคลี่คลายลง โดยจำเป็นที่ไทยจะต้องสร้างความพร้อมเพื่อดึงการลงทุนกับประเทศคู่แข่ง
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอเร่งปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในทุกด้าน เพื่อฉวยโอกาสหลักวิกฤติโควิด-19 ดึงดูดนักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาไทยมากที่สุด ซึ่งหลายประเทศทยอยฉีดวัคซีนมากขึ้น หลายเมืองใช้ชีวิตเกือบปกติ ทั่วโลกมองเห็นความหวังที่วิกฤติโควิดเบาลง
รวมทั้งหลายประเทศเตรียมเปิดประเทศและเข้าสู่โหมดฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยหวังว่าจะใช้ “การลงทุน” เป็นหัวหอกในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อมีการลงทุนเกิดขึ้น สิ่งที่จะตามมาก็คือ การจ้างงาน การกระจายรายได้ การส่งออก และการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตลอด supply chain ส่วนอื่นๆ ของระบบเศรษฐกิจก็จะเคลื่อนตัวตามกันมาได้
ทั้งนี้ เมื่อไรที่โควิดเริ่มสงบ สงครามแย่งชิงการลงทุนจะเข้มข้นมากขึ้น ทุกประเทศต้องการดึงการลงทุนที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการลงทุน Tech company ที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกเหนือจากการดึงดูดการลงทุนแล้วทุกประเทศใช้มาตรการทั้งวีซ่าระยะยาว ภาษีเงินได้อัตราต่ำ และสิทธิพิเศษ เพื่อแย่งดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถสูงจากทั่วโลกให้มาช่วยพัฒนาประเทศ ประเด็นที่น่าคิด คือ ไทยจะเอาชนะคู่แข่งในสงครามแย่งชิง Tech company และ Talent นี้ได้อย่างไร
บีโอไอร่วมกับทีมปฏิบัติการเชิงรุกที่ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตั้งขึ้น โดยใช้จังหวะช่วงนี้เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสชูศักยภาพประเทศ ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อภาคธุรกิจ และวางแผนเตรียมพร้อมบุคลากรเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ
พร้อมกับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งจะมุ่งเน้นใน 4 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า , อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ , อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
นอกจากนี้ ได้เร่งปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการอำนวยความสะดวกการลงทุน และการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ เพื่อดึงทั้งภาคธุรกิจและคนที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีเข้ามาไทย ซึ่งได้เตรียมข้อเสนอที่จะให้มีอีโคซิสเต็มที่น่าดึงดูดมากขึ้นทั้ง 2 กลุ่มนี้ เช่น กฎระเบียบเกียวกับวีซ่า และใบอนุญาตทำงาน อำนวยความสะดวกในการเข้ามาทำงานในไทยทุกด้าน เพราะบุคลากรเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนตัดสินใจในการเลือกประเทศที่จะเข้ามาลงทุน
ที่ผ่านมาบีโอไอมีมาตรการอำนวยความสะดวกในการนำผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และ Knowledge Workers ในสาขาที่เราขาดแคลนจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ปัจจุบันมี 40,000 คน ที่ใช้บริการที่ศูนย์ One Stop Service ที่อาคารจามจุรีสแควร์ นอกจากนี้ก็มีมาตรการ Smart Visa เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี
โดยตั้งแต่เริ่มใช้เมื่อปี 2561 จนถึงเดือน เม.ย.2564 มีผู้ได้รับการรับรอง 714 คน ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติสหรัฐ เยอรมัน ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร สำหรับในแง่อุตสาหกรรม ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล รองลงมาคือ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เป็นสตาร์ทอัพ
สำหรับจุดเด่นของไทยที่เหนือกว่าประเทศอื่น ได้แก่ การเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัย น่าทำงาน และน่าลงทุน โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพ ทั้งไฟฟ้า ประปา นิคมอุตสาหกรรม ระบบโลจิสติกส์ และระบบสื่อสารโทรคมนาคม มีบุคลากรที่มีคุณภาพ และอุตสาหกรรมสนับสนุนมีความพร้อม
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเดินหน้าโครงการสำคัญจะช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้ประเทศ และให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของภูมิภาค เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นแนวหน้าของภูมิภาค
อีกทั้งการมุ่งสู่ทิศทาง Go Digital และ Go Green อย่างจริงจัง ทั้งการเร่งลงทุน 5G และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จะยกระดับภาคธุรกิจ การประกาศเป้าลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ การส่งเสริมเศรษฐกิจบีซีจี (เศรษฐกิจชีวภาพ , เศรษฐกิจหมุนเวียน , เศรษฐกิจสีเขียว) อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และยานยนต์พลังงานไฟฟ้า(อีวี)
รวมทั้งเมื่อไทยเผชิญวิกฤตโควิด-19 ทำให้มองเห็นโอกาสใหม่ว่าไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางหลายด้าน เช่น ศูนย์กลางด้านการแพทย์ ศูนย์กลางการศึกษา ศูนย์กลางโลจิสติกส์ และโดยเฉพาะด้านธุรกิจระหว่างประเทศ หรือ International Business Hub ซึ่งเป็นกิจการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นหัวใจของธุรกิจข้ามชาติที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งภาคธุรกิจทั้งระบบ
ตั้งแต่บีโอไอปรับนโยบายครั้งใหญ่เมื่อปี 2558 จนถึงเดือนมี.ค.2564 มีบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกได้มายื่นขอรับการส่งเสริมเพื่อใช้ไทยเป็นฐานของสำนักงานภูมิภาค (กิจการ IHQ และ IBC) รวม 329 โครงการ โดย 40% มาจากประเทศญี่ปุ่น รองลงมาคือ สิงคโปร์ สหรัฐ ฮ่องกง และฝรั่งเศส ตามลำดับ
สำหรับในแง่อุตสาหกรรม อันดับ 1 คือ ยานยนต์ รองลงมาคือ เคมีภัณฑ์และพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และธุรกิจดิจิทัล ในอนาคตต้องการดึงกลุ่มนี้เข้ามามากขึ้น และจะพยายามเจรจาให้บริษัทเข้ามาลงทุนแบบเป็นพวง พร้อมๆ กันทั้งสำนักงานภูมิภาค ส่วนการผลิต ศูนย์วิจัยและพัฒนา และศูนย์ฝึกอบรม