เปิด 10 อันดับ 'สกุลเงิน'หลัก แข็งค่า -อ่อนค่า สูงสุดในโลก หลัง 'เงินเฟ้อสหรัฐ'พุ่ง
"เงินเฟ้อสหรัฐ" พุ่ง สร้างความกังวลทั่วโลก ผสานโควิด-19 ระบาดหนัก ค่าเงินทั่วโลกป่วน พบ 10 อันดับ สกุลเงินหลักแข่งค่าสูงสุด นำโดย แอฟริกาใต้ แข็งค่า 5.78% และอ่อนค่าสูงสุด นำโดย ตุรกี อ่อนค่า 15.15% ขณะที่ “เงินบาท” ติด 1ใน 5 อ่อนค่าสูงสุดในโลก นักค้าเงินแนะผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินผันผวน
นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่าน ปัจจัยเสี่ยงที่ผู้เล่นในตลาดการเงินกังวลมากที่สุดก็คือ “เงินเฟ้อ” หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงหลายๆ ประเทศเร่งตัวขึ้นมาก ซึ่งมาจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ ร่วมกับ ปัจจัยฐานราคาสินค้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ต่ำในปีก่อนหน้า และ ปัจจัยการผลิตที่ล่าช้าไม่ทันต่อความต้องการ อันเนื่องมาจาก การจ้างงานที่ยังไม่ฟื้นตัว ชั่วโมงการผลิตที่ไม่เต็มที่ รวมถึงปัญหาการจัดส่ง ซึ่งล้วนแล้วมาจากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะโซนเอเชีย ที่ทำให้ราคาสินค้าทะยานปรับตัวสูงขึ้น และค่าเงินผันผวนในช่วงที่ผ่านมานี้
ทั้งนี้ หลังเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง จากการรวบรวมข้อมูล “สกุลเงินหลักในโลก” แข็งค่า -อ่อนค่า สูงสุด 10 อันดับ ของธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่ต้นปีจนถึง ณ 28 พ.ค. 64 (YTD ) ดังนี้
สกุลเงินแข็งค่าสูงสุด 10 อันดับ
1.แรนด์แอฟริกาใต้ (ZAR) 5.78%
2.ดอลลาร์แคนาดา (CAD) 5.05%
3.ปอนด์สเตอร์ลิง (GBP) 3.81%
4.โครนนอร์เวย์ (NOK) 2.58%
5.หยวนจีน (CNY) 2.16%
6.ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (TWD) 1.37%
7.ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZD) 0.86%
8.รูปีอินเดีย (INR) 0.85%
9.รูเบิลรัสเซีย (RUB) 0.33%
10.ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) 0.24%
สกุลเงินหลัก แข็งค่าสูงสุด เทียบกับ เงินดอลลาร์ พบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นสกุลเงินของประเทศที่เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี หรือ เศรษฐกิจได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะ สินค้าโภคภัณฑ์ และ สินค้าเทคโนโลยีที่ตลาดต้องการ อาทิ เงินแคนาดาดอลลาร์ (CAD) เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และ เงินหยวนของจีน (CNY)
สกุลเงินอ่อนค่าสูงสุด
1.ลีราใหม่ตุรกี (TRY) -15.15%
2.เปโซอาร์เจนติน่า (ARS) -12.32%
3.เงินเยนของญี่ปุ่น (JPY) -6.39%
4.บาทไทย (THB) -3.99%
5.ริงกิตมาเลเซีย (MYR) -2.76%
6.วอนเกาหลีใต้ (KRW) -2.47%
7.รูเปียอินโดนีเซีย (IDR) -1.71%
8.เรียลของบราซิล (BRL) -0.88%
9.โครนาสวีเดน (SEK) -0.85%
10.เปโซเม็กซิกัน (MXN) -0.58%
ส่วนสกุลเงินหลักที่อ่อนค่าสูงสุด เทียบกับ เงินดอลลาร์ พบว่า จะมีทั้ง สกุลเงินของประเทศที่เผชิญทั้งปัญหาการเมือง ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง อาทิ เงินลีรสตุรกี (TRY) ส่วนสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ เงินบาท (THB) เงินริงกิตมาเลเซีย (MYR) ได้อ่อนค่าลงหลังแนวโน้มเศรษฐกิจถูกกดดันจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงมากขึ้น โดย เงินบาทติดอันดับ 1 ใน 5 สกุลเงินหลักอ่อนค่าสุดในโลก
ขณะเดียวกันหากพิจารณาช่วงเวลานับตั้งแต่ต้นปีจากปัจจัยเงินเฟ้อ จะพบว่า สกุลเงินที่บอนด์ยีลด์ 10ปี ปรับตัวขึ้นมากกว่า หรือ ใกล้เคียงกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะแข็งค่า หรือ อ่อนค่าเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยความสัมพันธ์นี้อาจอธิบายได้ว่
1.เมื่อยีลด์ปรับตัวขึ้นแรงจากความกังวลด้านเงินเฟ้อ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็พร้อมจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดบอนด์จากยีลด์ที่สูงขึ้นมาก หนุนให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้น และ 2. การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในประเทศ ซึ่งจะช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดกล้าที่จะถือครองสกุลเงินนั้นๆมากชึ้น หนุนให้เงินแข็งค่า
แต่กลับกัน หากยีลด์10ปี ของค่าเงินนั้นๆ ปรับตัวลดลง หรือ ปรับตัวขึ้น น้อยกว่า ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็จะทำให้ ค่าเงินมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ดังนั้น บรรดาสกุลเงินในฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว (DM)เริ่มแข็งค่า
ขณะที่ในฝั่ง สกุลเงินประเทศเกิดใหม่ (EM) จะพบว่า ความสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่มองไว้ สะท้อนว่า อาจมีตัวแปรอื่นๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยถ้ามองในส่วนของสกุลเงินที่ แม้ยีลด์จะปรับตัวสูงขึ้นใกล้เคียงหรือมากกว่า ยีลด์สหรัฐฯ แต่ค่าเงินกลับอ่อนค่าลง เกือบทั้งหมด เป็นสกุลเงินของประเทศที่เผชิญปัญหาการระบาดของ โควิด -19 อย่างหนัก นับตั้งแต่ต้นปี อาทิ บราซิล, อินโดนีเซีย,มาเลเซีย,เกาหลีใต้ รวมถึงไทย
ในขณะที่ ค่าเงินหยวนของจีน หรือ ไต้หวันดอลลาร์ กลับแข็งค่าขึ้น แม้ว่า ยีลด์ 10ปี จะปรับตัวขึ้นน้อยกว่ายีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อธิบายได้ว่า การที่เงินหยวนและเงินไต้หวันดอลลาร์ไม่ได้อ่อนค่าลง เพราะ สถานการณ์โควิด-19 ในจีนและไต้หวัน ถือว่าดีกว่า ประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันทั้งสองประเทศก็ได้รับแรงหนุนจากยอดการส่งออกที่เติบโตแข็งแกร่ง โดยเฉพาะไต้หวันที่เป็นผู้ส่งออกสำคัญของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อย่าง Semiconductor Chip
"พูน พานิชพิบูลย์" นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัญหา"เงินเฟ้อ"เพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงิน หากแต่เป็นสถานการณ์การระบาดของ"โควิด -19" ซึ่งก็ต้องหวังพึ่งการแจกจ่ายวัคซีน ว่าจะสามารถเร่งตัวขึ้นได้หรือไม่ และวัคซีนมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดในการทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ดี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เชื่อว่า ค่าเงินของหลายๆ ประเทศที่เผชิญปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่หนักหน่วง ก็อาจจะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นได้
สำหรับ “ค่าเงินบาท” มองว่า สิ้นปีนี้มีโอกาสบาทอ่อนค่าลงอยู่ที่ระดับ 30.50-30.75 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิมมองไว้ที่ 30.15 บาทต่อดอลลาร์ ในระยะสั้นยังมีความผันผวนและมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงได้ อ่อนค่าสุดไม่เกิน 31.50 บาทต่อดอลลาร์ จากปัญหาการระบาดของ โควิด -19 ที่รุนแรงอยู่ ทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทย กดดันค่าเงินบาท
อย่างไรก็ดี มองว่า เงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ที่ 30.75-31 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ แรงหนุนจากดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึง การกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ หากการแจกจ่ายวัคซีนทำได้ดี
แนะว่า ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ส่งออกควรปิดความเสี่ยงค่าเงินไว้บ้าง โดยถ้าหากไม่แน่ใจว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นหรือไม่ ก็อาจใช้ Option เป็นตัวช่วยหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงค่าเงินได้ เช่นเดียวกับผู้นำเข้า ในภาวะที่ตลาดยังไม่แน่นอน การใช้ Option ก็สามารถตอบโจทย์ ให้ผู้นำเข้ามีทางเลือกในการปิดความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น