หรือเงินเฟ้อจะมา

หรือเงินเฟ้อจะมา

จับสัญญาณ "เงินเฟ้อ" กำลังจะมาหรือไม่? เมื่อดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นทั่วโลก สอดคล้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่หลายตัวต่างปรับขึ้นและบางตัวพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ในเดือนที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และผู้บริโภค (CPI) ปรับเพิ่มขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐ ยุโรป จีน หรือแม้แต่ในไทยเอง ซึ่งสอดคล้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่หลายตัวต่างปรับขึ้นและบางตัวพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งโลหะอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร และพลังงาน ต่างก็ปรับขึ้นสูงสุดในรอบหลายปีเช่นกัน

ภาพเหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าเงินเฟ้อที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นนี้จะอยู่ยาว และทางการไม่สามารถที่จะควบคุม โดยในฝั่งตลาดการเงิน เริ่มเห็นตัวเลขความคาดหวังเงินเฟ้อในช่วง 10 ปีข้างหน้าปรับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 2.5% ในปัจจุบัน ขณะที่การสำรวจความคาดหวังเงินเฟ้อของสหรัฐใน 1 ปีข้างหน้าปรับสูงขึ้นสู่ระดับ 4.5% ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน เริ่มเห็นสัญญาณของผู้ประกอบการในสหรัฐที่บอกว่าไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้และพร้อมจะขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปในระยะต่อไป ไม่ว่าจะไปราคาขายปลีกน้ำมัน ซีเรียลอาหารเช้า ผ้าอ้อมเด็ก น้ำยาซักผ้า รวมถึงสินค้าใหญ่ๆ เช่น บ้านและรถยนต์

นี่เป็นสิ่งที่ผู้เขียนคาดไว้ระดับหนึ่ง โดยจากแบบจำลองของผู้เขียน เงินเฟ้อทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐจะมีการปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่สองก่อนที่จะเริ่มปรับลดลงบ้าง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยอมรับว่าแม้ทิศทางจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ แต่อัตราที่เพิ่มขึ้นนั้นสูงกว่าที่ได้คาดไว้

คำถามสำคัญคือ แล้วในระยะต่อไปเงินเฟ้อจะมีสิทธิลงได้หรือไม่ หรือจะขึ้นแล้วขึ้นเลย ซึ่งจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อขึ้นในช่วงนี้ อันได้แก่

ปัจจัยที่หนึ่ง ได้แก่ ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างความต้องการที่เพิ่มขึ้นหลังการเปิดเมือง (Pent up demand) กับปัญหาฝั่งการผลิต (Supply shortage) ดังที่เราทราบกันดี ในช่วงที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ทำให้การผลิตของวัตถุดิบต่างๆ ลดลง และเมื่อความต้องการกลับมา ทำให้การผลิตสินค้าต่างๆ มีมาไม่ทัน

นอกจากนั้น ภาคการผลิตสินค้าต่างๆ ยังมีปัญหาเฉพาะตัว เช่น ผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐไม่เร่งเพิ่มการผลิตเพราะเชื่อว่าในระยะยาวความต้องการน้ำมันจะลดลง ในขณะที่การผลิตสินแร่อุตสาหกรรมเช่นสินแร่เหล็กนั้นมีปัญหาจากการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ทางการจีนควบคุมการผลิตในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณมีน้อยท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการผลิตตู้คอนเทนเนอร์ที่มีปัญหาขาดแคลนในปัจจุบัน จากการที่ฝั่งเอเชียมีการส่งออกจำนวนมากแต่ฝั่งซีกโลกตะวันตกไม่มีการส่งออกสินค้ามากเท่า ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ไปค้างเติ่งที่ซีกโลกตะวันตกเป็นจำนวนมาก นำไปสู่ความต้องการผลิตตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ ในฝั่งของทองแดงก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ

ส่วนสินค้าโภคภัณฑ์เบา เช่น ธัญพืชและสินค้าเกษตรอื่นๆ ก็มีปัญหาในแง่แรงงานในการเก็บเกี่ยวที่หายไป เนื่องจากประเทศต่างๆ ยังมีการปิดพรมแดนเพื่อป้องกันแรงงานต่างด้าวที่จะนำพาเชื้อไวรัสกลับมาระบาดในประเทศของตน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานขึ้น

ในฝั่งของแรงงาน ในปัจจุบันค่าแรงในสหรัฐเริ่มมีการปรับเพิ่มขึ้นในหลายจุด ซึ่งสอดคล้องกับการจ้างงานใหม่ที่ลดลงมาก (เดือนล่าสุดอยู่ที่ 2.4 แสนตำแหน่ง ขณะที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านตำแหน่ง) ขณะที่ตำแหน่งงานเปิดใหม่ปรับขึ้นสู่ระดับ 8 ล้านตำแหน่ง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นจนทำให้ต้องขึ้นค่าจ้างเพื่อดึงแรงงานเข้ามาทำงานในธุรกิจของตน

ปัจจัยที่สองที่ทำให้ราคาสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะโภคภัณฑ์ขึ้น เป็นผลจากการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้เกิดการเก็งกำไร เป็นผลให้ราคาสินค้า-สินทรัพย์ต่างๆ ทั้งในโลกจริงและโลกการเงินปรับเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากราคาโภคภัณฑ์จะปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ราคาของสินทรัพย์ทางการเงินต่างปรับตัวขึ้นในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ทั้งสิ้น

ปัจจัยที่สาม ได้แก่ ปัจจัยเรื่องฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว อันเป็นผลจากวิกฤติโควิด ขณะที่ราคาในปีนี้ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลให้การเปลี่ยนแปลงรายปี (year-on-year change) ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากราคาได้ปรับเข้าสู่ฐานใหม่แล้ว เงินเฟ้อก็จะทรงตัวได้ในระยะต่อไป

ดังนั้น ผู้เขียนจึงยังคงเชื่อว่าเงินเฟ้อครั้งนี้จะเป็นเพียงช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือ Transitional โดยยอมรับว่าปัจจัยส่วนหนึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มอย่างถาวร เช่น ค่าจ้าง แต่ก็มองว่าไม่น่าจะปรับขึ้นไปอีกมากนัก เนื่องจากในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งที่แรงงาน (โดยเฉพาะระดับล่าง) ไม่สมัครงานนั้นเนื่องจากเงินสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ในสหรัฐ (ซึ่งกำลังจะหมดในเดือน ก.ย.) นั้นสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้แรงงานขาดแรงจูงใจที่จะไปทำงาน ขณะที่แรงงานที่ใช้ทักษะสูงนั้นต้องใช้เวลาในการหางาน หรือพัฒนาทักษะให้เพียงพอกับความต้องการของนายจ้าง

ในขณะที่ปัญหาความไม่สมดุลระหว่างการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์กับความต้องการที่สูงขึ้นนั้น จะเริ่มลดทอนในระยะถัดไป ทั้งจาก (1) การผลิตที่เพิ่มขึ้น (2) ปัญหาคอขวดต่างๆ เช่น ตู้คอนเทนเนอร์เริ่มลดลง (3) แรงงานต่างด้าวสามารถกลับเข้ามาทำงานได้มากขึ้นเมื่อสถานการณ์โควิดบรรเทาลง และ (4) ความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นมากในระยะสั้นนั้น ลดลงหลังจากได้บริโภคสินค้าและบริการเหล่านั้นแล้ว

ในขณะที่ระยะยาว ผู้เขียนยังคงเชื่อว่าปัจจัยเชิงโครงสร้างจะยังกดดันเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นมาก ทั้งเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าขึ้น และภาวะสังคมสูงวัย ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการลดลง เป็นต้น แต่ก็ยอมรับว่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน อาจทำให้ราคาสินค้า วัตถุดิบ รวมถึงบริการบางอย่างอาจต้องปรับเพิ่มขึ้นบ้าง เช่น ราคาทองแดง ราคาบ้านแนวราบในชานเมือง และค่าใช้จ่ายดูแลด้านสุขภาพ

แต่ถ้าผู้เขียนจะผิด และเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและนักลงทุน เนื่องจากภาคการเงินจะกลับมาเป็นปกติ ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นบ้าง และเศรษฐกิจก็จะกลับมาดำเนินได้อย่างที่ควรจะเป็น ส่วนโอกาสที่เงินเฟ้อจะพุ่งทะยานฉุดไม่อยู่อย่างในช่วงทศวรรษที่ 70-80 นั้น ผู้เขียนมองว่าเป็นไปได้ยาก

เงินเฟ้อกลับมาแล้ว แต่จะรุนแรงและยาวนานจนฉุดไม่อยู่หรือไม่ อนาคตเท่านั้นที่จะตอบได้

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด)