'แกรมมี่' พึ่งพลัง 'YG' เจาะขุมทรัพย์ Idol โลก ตลาดที่โตเร็วสุดตลอด 3 ปี

'แกรมมี่' พึ่งพลัง 'YG' เจาะขุมทรัพย์ Idol โลก ตลาดที่โตเร็วสุดตลอด 3 ปี

เขตแดนอาจแบ่งแผนที่บนโลก ให้รู้ว่าประเทศใดอยู่ตรงไหน แต่ในโลกของข้อมูลข่าวสาร การเสพคอนเทนท์ เรียนรู้วัฒนธรรม เรียกว่า “กำแพง” ถูกทลายลงแล้ว เพราะเทคโนโลยีเชื่อมต่อคนทั้งโลกให้รับรู้เนื้อหาเดียวกันได้อย่างง่ายดาย 

ย้อนไป 10 ปีก่อน ตลาดคอนเทนท์โลกมีมูลค่าราว 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ( Global Entertainment and Media Outlook 2012-2016) ขณะที่ปี 2563 มูลค่าแตะ 2 ล้านล้านดอลลาร์ อยู่ในสถานการณ์ ติดลบแต่คาดการณ์ปี 2565-2568 ตลาดจะ เติบโต มีมูลค่าแตะ 2.5 ล้านล้านดอลาร์(PwC Global Entertainment & Media Outlook 2020–2024) เห็นตัวเลขแล้วต้องบอกว่าเป็นขุมทรัพย์ที่ช่างเย้ายวนใจอย่างมาก 

แน่นอนว่าในเวทีโลกสหรัฐเป็นเจ้าตลาดคอนเทนท์ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ทิ้งห่างคู่แข่งทุกประเทศ สถิติเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่น จีน เยอรมัน และสหราชอาณาจักร เป็น Top5 ที่มีส่วนแบ่งตลาดลดหลั่นกันไป ส่วน เกาหลีใต้ห่างชั้นอยู่อันดับ 10 

ทว่า Hallyu หรือ Korean wave-กระแสเค-ป๊อป ได้พลิกหน้าประวัติศาสตร์ให้ตลาดคอนเทนท์จากซีกเอเชียไปเขย่าโลกได้ และทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เพราะความมุ่งมั่น พยายาม เอาชนะความยากจนของประเทศในอดีต แปรเปลี่ยนเป็นพลัง นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

เมื่อตลาดคอนเทนท์บันเทิงหลากรูปแบบ ทั้งเพลง หนัง ซีรีย์ รายการโทรทัศน์ ละครเวทีฯ มีขนาดใหญ่ พฤติกรรมผู้บริโภคเองต้องการเสพคอนเทนท์ที่ถูกจริตตัวเอง จึงเฟ้นหารานการที่ให้ตามความชอบ ผู้ผลิตจึงสร้างสรรค์คอนเทนท์ตอบสนองคนผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายไม่เคยหยุดหย่อน ในประเทศไทย คอนเทนท์จากประเทศเกาหลีใต้ถือว่าได้รับความนิยมจากคนไทยอย่างมาก ขยายวงกว้างมีอิทธิพลทั่วตลาดอาเซียน เอเชีย และตลาดโลก โดยซีรีย์ เพลง รายการต่างๆ มีแฟนๆติดตามจำนวนมาก 

162232162368

รัฐบาลเกาหลีใต้และภาคเอกชนผนึกกำลังกันอย่างแข็งแกร่ง ตระหนักถึงความสำคัญการในส่งออกอุตสาหกรรมบันเทิงไปยังต่างประเทศ มีงบประมาณมหาศาลเพื่อสนับสนุนการผลิตสื่อภาพยนตร์ ซีรีย์ เพลงฯ ต่อยอดให้กระแสเกาหลีใต้ทรงพลังขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เหลียวกลับมามองประเทศไทยวิสัยทัศน์หรือ Vision ที่อาจจะสั้นไป ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิง การส่งออกคอนเทนท์ของไทยยังไปไม่ถึงดวงดาว 

ขณะที่ภาคเอกชนมี ฝัน-เป้าหมายใหญ่แต่หากขาดนโยบายและงบประมาณจากภาครัฐในการหนุนหลัง ย่อมยากจะไปยืนผงาดในตลาดคอนเทนท์ระดับภูมิภาคให้แข็งแกร่ง แล้วไต่สู่เวทีโลก

ทั้งนี้ ความพยายามของภาคเอกชน ผู้ประกอบการธุรกิจไม่เคยลดละ และการ คิดใหญ่สำคัญเพื่อทยานสู่เป้าหมาย โดยมี กลยุทธ์เป็นการติดอาวุธให้ครบมือต้องพร้อมด้วย 

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่”(GMM Grammy) อดีตเป็นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ยาวนาน 3 ทศวรรษ แต่บริบทธุรกิจที่เปลี่ยนไปทั้งเทคโนโลยี ดิจิทัล ดิสรัปธุรกิจเดิมจน รายได้-กำไร หดหาย พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนการเสพสื่อจากหน้าจอทีวี สู่หลากจอ หลากอุปกรณ์สื่อสาร ทำให้ธุรกิจต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองเป็น ผู้ผลิตคอนเทนท์ที่ไม่ได้ผลิตแค่เพลง แต่ยังผลิตรายการทีวี ละคร ซีรีย์ ป้อนแพลตฟอร์มมากมาย 

สำหรับ เพลงเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ทำเงินมากถึง 46.5%( ไตรมาส 1/64) แต่ละปีผลิตเพลงมากมาย เป็น จุดแข็งอย่างมาก และปัจจุบันแทบจะเป็นค่ายใหญ่เดียวที่ยืนหยัดทำเพลงเสิร์ฟผู้ฟัง 

แกรมมี่ ไม่จำกัดกรอบการเติบโตแค่ทำเพลงขายให้คนไทยฟัง แต่หลายปีที่ผ่านมาพยายามจะขยับสู่การปั้น “Idol” ให้แจ้งเกิด แต่จังหวะปั๊วะปัง อาจยังไม่ประจักษ์นัก แต่บริษัทไม่ลดละการผลักดัน Idol สัญชาติไทยประดับวงการ ล่าสุดจึงเห็นการร่วมมือครั้งสำคัญของGMM Grammy และ “YG Entertainment” ยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ร่วมทุนตั้งบริษัทใหม่ YG”MM (วายจีเอ็มเอ็ม) ขึ้น มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดย GMM Grammy ถือหุ้นสัดส่วน 51% และ YG Entertainment ถือหุ้นสัดส่วน 49%

162232050238

 ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ฉายเหตุผลของความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการดึงจุดแข็งของ 2 บริษัทมาต่อยอดและร้างโอกาสทางธุรกิจเพลง โดยเฉพาะการพัฒนาและสร้างศิลปินใหม่ให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก แบบครบวงจร ยิ่งกว่านั้นหวังเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเพลงในประเทศไทยอีกด้วย 

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ได้ตกลงทำสัญญาทำพันธกิจหลักร่วมกันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนและผสมผสานทรัพยากรต่างๆ ทั้งทีมบุคลากร เทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญ และระบบการดำเนินงานต่างๆ ทั้งหมดสานเป้าหมายในการสร้างศิลปิน Boy Band และ Girl Group ให้สามารถเปิดตัวภายใน 5 ปีข้างหน้า ตรงตามหลักสูตรของ YG Entertainment เป๊ะๆ

ตัวเลข 5 ปี อาจค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับเกาหลี ที่กินเวลายาวนาน ต้องเดบิวต์หลายปี ทำให้ศิลปิน Idol มีการเซ็นต์สัญญากับค่ายต่างๆ เพื่อปลุกปั้นกันนับ 10 ปี จนขนานนาม สัญญาทาสเพราะ 7 ปีแรก หรือเวลานับหมื่นชั่วโมงจะต้องทุ่มเทให้กับการฝึกร้อง ฝึกเต้นอย่างหนักหน่วงเพื่อให้เป็น ศิลปิน วงดนตรีสุดยอดเยี่ยม และอีก 6-7 ปี จึงจะมีผลงานออกมาเพื่อ ทำเงิน” 

 รายการ Superstar K รายการเพลงสุดยิ่งใหญ่ของเกาหลีใต้ ที่มีผู้จัดคือหนึ่งในกลุ่มบริษัท แชบอลอย่าง “CJ E&M” เคยมีผู้สมัครนับล้านคนเพื่อมาคัดตัวในรายการ แม้การจะก้าวเป็นศิลปิน Idol จะโหดหินแค่ไหน แต่คนเกาหลีใต้พร้อมที่จะรับความท้าทายและแรงกดดันเพื่อความฝัน และอนาคตอันสดใส 

แกรมมี่ เลือกใช้คัมภีร์ของ “YG” ปั้นไอดอลไทยสู่เวทีสากล มีแนวทางดังนี้ เริ่มจาก 1. Audition เฟ้นหาเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเป็นศิลปินฝึกหัด ที่จะได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มข้น จากบรรดาครูชั้นนำของทีม YG Entertainment ซึ่งเป็นตัวแทนจากต้นสังกัดของ BLACKPINK, 2NE1, BIGBANG นั่นเอง 2.Training หลังค้นหา ว่าที่ศิลปิน ได้จากการ คัดเลือกและออดิชั่น สเต็ปถัดไปจะได้รับการฝึกหัดและการพัฒนาในการเป็นศิลปินแบบครบทุกด้าน เน้นความสามารถในการเป็นศิลปิน เช่น การร้องเพลง การเต้น การแสดง วมถึงการจัดแต่งรูปร่าง บุคลิก ลักษณะนิสัย การตอบคำถามสื่อ มนุษยสัมพันธ์ ฯลฯ โดยทีม Master Trainer ของ YG Entertainment

162232128851

3.Concept & Production คิดและวาง Concept ในเรื่องต่างๆ ตามเทรนด์โลก เพื่อทำให้ศิลปินเป็นที่ต้องการของตลาดและโดนใจทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเรื่อง DNA ภาพลักษณ์ของศิลปิน การวาง Concept เพลงและการแต่งเพลง รวมถึงการ Mastering การสร้างมิวสิกวิดีโอและชิ้นงานโปรโมตระดับโลก ฯลฯ 4.Media Marketing จัดสรรสื่อที่ครอบคลุมแบบครบวงจรทุกรูปแบบ ทั้ง On Ground, On Air, Online รวมถึงการคิดและวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดด้วยคอนเทนท์ที่ใช่และตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้ Big Data ที่มี เพื่อสร้างความสำเร็จด้านภาพลักษณ์และสร้างรายได้ให้กับศิลปิน เพื่อให้ศิลปินเป็นที่รู้จักควบคู่กับการสร้างความนิยมให้กับเพลงใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น

5.Music Marketing Distribution ทำการตลาดให้ศิลปินเพื่อสร้างรายได้ในทุกช่องทาง ทั้ง Physical, Digital, Merchandising, Concert, Fan Meet, Festival รวมไปถึงการบริหารศิลปิน ทั้งในรูปแบบ Presenter, งานจ้าง, Sponsorship และสินค้าของศิลปิน 6.Copyright ดูแลลิขสิทธิ์เพลงให้ในรูปแบบการ Service กับธุรกิจต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะคืนรายได้กลับสู่คนเบื้องหลังและเบื้องหน้า

อุตสาหกรรมเพลงยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก แต่เราต้องยอมรับความจริงว่าโลกเปิดกว้างสำหรับผู้ฟังตามความก้าวล้ำของเทคโนโลบยี  ศิลปินจากทุกทวีปทั่วโลกก็เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเรามีฝันที่จะพาศิลปินไทยไประดับโลกการเดินทางเพียงลำพังอาจไปสู่เป้าหมายได้ช้ากว่าที่ตั้งใจไว้ บริษัทฯ จึงได้พูดคุยเจรจากับพาร์ทเนอร์ที่มีวิชั่นในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเป็น The Best of Asia อย่าง YG Entertainment โดยการ JV ในครั้งนี้ คือ การผสานจุดแข็งของแต่ละฝ่ายในการเฟ้นหา พัฒนา และ ส่งเสริมศิลปินรุ่นใหม่ให้เป็นศิลปินแถวหน้าในระดับโลกควบคู่กับการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวร่วมกัน

ตลาด Idol โลกวันนี้ไมได้มีแค่ศิลปินจากสหรัฐที่ยึดครองพื้นที่ และเกาะกุมหัวใจฐานแฟนเพลง แฟนคลับ เพราะที่ 1 ถูกโค่นโดย Idol เกาหลีใต้อย่างวงบอยแบนด์BTS” สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการเพลงมากมาย อย่างล่าสุด เพลง BUTTER โกยยอดผู้ชมเกิน 100 ล้านวิว เร็วสุดก่อน 24 ชั่วโมง บนแพลตฟอร์ม Youtube ยิ่งกว่านั้นเป็นการทุบสถิติยอดรับชมแซงเพลง Dynamite ของตัวเองด้วย 

162232066967

ส่วนค่ายเพลง Big Hit Entertainment ที่ตัดสินใจเข้าตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้เพื่อระดมทุน ยังทุบสถิติ IPO มูลค่าสูงสุด ส่วนบริษัทมีมูลค่ามหาศาลแสนล้านบาททั้งที่มีศิลปินเพียง BTS ยัง Featuring กับศิลปินระดับท็อปของโลกมากมาย เช่น Halsey, Lauv เคยได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ ในเวทีการประชุมของสหประชาชาติ(UN) เป็นศิลปิน K-Pop วงแรกคว้ารางวัลจาก Billboard Music Awards เป็นต้น  

ธนากร มนูญผล รองกรรมการผู้อำนวยการ - หน่วยงาน Group Investment จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เล่าว่า ตลาด Idol ถือเป็นเซ็กเมนต์ที่มีการ เติบโตเร็วสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา หากภารกิจที่ทำร่วมกับ YG ประสบความสำเร็จ สามารถกรุยทางสู่ตลาดอินเตอร์ฯได้ Idol จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ ที่สร้างการเติบโตให้บริษัท 

ทั้งนี้ การเดบิวต์ศิลปินมองอย่างระวังและตามแผนจะใช้เวลา 5 ปี แต่เร็วสุดมีโอกาสเห็นภายใน 3 ปี ส่วนเงินที่ลงทุนไปจะเห็นการคืนทุนภายใน 5-7 ปี ซึ่งเม็ดเงินที่กลับคืนมายังไม่รวมผลประโยชน์ทางอ้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปินปัจจุบัน

สำหรับปี 2020 ศิลปิน Idol ของคนฟังเพลงทั้งโลกหรือ Global music คือ ศิลปินวง BTS ของค่าย Big Hits แซงหน้าทั้ง Taylor swift, Drake The weeknd, Billie Ellish, Eminem, Post Malone, Ariana grande, Juice wrld และ Justin beiber ตามลำดับ ยิ่งกว่านั้น วง BTS ยังกวาดรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท ในปีเดียว นับเป็นตัวเลขสะท้อนความใหญ่ของตลาด idol ได้เป็นอย่างดี 

แกรมมี่ทำตลาด Idol มา 3-4 ปีแล้ว และสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นอีก เพราะเซ็กเมนต์นี้ยังมีโอกาสเติบโตได้สูงมากเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายต่อหัวสูงมากและเติบโตเร็วมาก หากบริษัทสามารถปั้น Idol ให้สามารถดังได้แบบ BTS โอกาสคืนทุนจะเร็วมาก เกิดขึ้นได้ในปีเดียว” 

เกาหลีใต้ไม่ได้มีแค่ Idol ผงาดโลก แต่ภาพยนตร์อย่าง Parasite ก็คว้ารางวัลออสการ์มากอดแล้ว ส่วนศิลปิน PSY  พาเพลง GANGNAM STYLE โกยยอดวิวสูงสุดตลอดกาลกว่า 4,000 ล้านวิว บนยูทูปเช่นกัน 

เกาหลีใต้ใช้เวลานับสิบปี สร้างและส่งกระแส K-Pop เขย่าโลก ส่วนไทยจะสร้างและส่ง T-Pop ไปประชันได้หรือไม่ ต้องติดตามกันยาวๆ