'ทางหลวง' เผยความคืบหน้ามอเตอร์เวย์ 'แหลมฉบัง-โคราช'
“กรมทางหลวง” ลุยสร้างมอเตอร์เวย์แหลมฉบัง-นครราชสีมา กว่า 7 หมื่นล้าน หนุนขนส่งสินค้าเชื่อมภูมิภาค ลั่นอยู่ระหว่างศึกษาเส้นทางควบคู่โครงการรถไฟทางคู่ คาดได้ข้อสรุปความเหมาะสมภายใน ก.ย.นี้
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า แผนลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางใหม่ของ ทล. ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาให้สอดคล้องไปกับโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งขณะนี้ ทล.อยู่ระหว่างทำการศึกษาความเหมาะสมทุกโครงการลงทุน คาดว่าจะแผนพัฒนาจะมีความชัดเจนภายในเดือน ก.ย.นี้
อย่างไรก็ดี หนึ่งในโครงการที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้เตรียมผลักดันงานก่อสร้าง คือ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองชลบุรี (แหลมฉบัง) - นครราชสีมา ช่วงแหลมฉบัง – ปราจีนบุรี ทล.359 มูลค่างานก่อสร้างกว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยเป็นโครงการที่ ทล.ออกแบบแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมตามแผนพัฒนาควบคู่ทางรถไฟ หรือแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP)
“โครงข่ายมอเตอร์เวย์เส้นทางใหม่ๆ ในขณะนี้ ต้องรอผลการศึกษา MR-MAP แล้วเสร็จก่อน จึงจะสามารถจัดลำดับการลงทุนได้ว่าเส้นทางไหนที่เร่งด่วน แต่ความชัดเจนในขณะนี้สาย เป็นหนึ่งในโครงการที่ต้องพัฒนา เพื่อให้เป็นโครงข่ายสนับสนุนการขนส่งระหว่างภูมิภาค เชื่อมต่อจากด่านการค้าหนองคาย และอีอีซี ด้วยการคมนาคมทั้งทางบก และทางราง”
สำหรับมอเตอร์เวย์ชลบุรี (แหลมฉบัง) - นครราชสีมา ช่วงแหลมฉบัง – ปราจีนบุรี ทล.359 ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-หนองคาย ตามแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ปัจจุบันได้ศึกษาออกแบบแล้วเสร็จ เบื้องต้นคาดว่าการพัฒนาจะประกอบด้วย ด่านเข้า–ออก 10 แห่ง ทางแยกต่างระดับ 11 แห่ง อุโมงค์ 3 แห่ง และ Rest Area 8 แห่ง
ส่วนรูปแบบการก่อสร้างโครงการ ประกอบด้วย รูปแบบทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร (ช่วง กม.66+750 กม.124.065) รูปแบบทางหลวงขนาด 6 ช่องจราจร (ช่วง กม.9+250 ถึง กม.66+750) รูปแบบทางหลวงขนาด 8 ช่องจราจร (ช่วง กม.0+000 ถึง กม.9+250) และรูปแบบทางหลวงยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ช่วง กม.17+900 ถึง กม.29+100) และมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 6 แห่ง อยู่บริเวณทางแยกต่างระดับ ประกอบด้วย ด่านศรีราชา ด่านบ่อวิน ด่านหนองใหญ่ ด่านบ่อทอง ด่านสนามชัยเขต และด่านศรีมหาโพธิ
โดยมีแนวเส้นทางโครงการเริ่มต้นบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และไปสิ้นสุดบริเวณทางหลวงหมายเลข 359 รวมระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาจำนวน 3 จังหวัด 10 อำเภอประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี ได้แก่ อำเภอบางละมุง อำเภอศรีราชา อำเภอหนองใหญ่ อำเภอบ้านบึง อำเภอบ่อทอง และอำเภอเกาะจันทร์ ขณะเดียวกันยังครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ อำเภอแปลงยาว อำเภอสนามชัยเขต และ อำเภอพนมสารคาม ส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ได้แก่ อำเภอศรีมหาโพธิ
ทั้งนี้ ผลการศึกษาของ ทล.ก่อนหน้านี้พบว่า ด้านการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของโครงการพบว่ามีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับ 13.4% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 11,902.74 ล้านบาท และค่าอัตราส่วนระหว่างมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย (B/C Ratio) เท่ากับ 1.2