ส่อง“งบบูรณาการ EEC” จัดสรรสู่เป้าหมายที่แท้จริง
ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลได้ส่งพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2565 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งงบประมาณปี 2565 มีงบประมาณที่รัฐบาลขอตั้งไว้ทั้งหมด 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากงบประมาณในปีที่แล้ว 5.7%
สำหรับงบประมาณของ EEC นั้นแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ งบประมาณที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. เป็นผู้ขอโดยตรง และงบประมาณที่หน่วยงานต่าง ๆ เป็นผู้ขอรับงบประมาณในโครงการที่มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับแผนการพัฒนา EEC ที่เรียกกันว่างบประมาณบูรณาการ EEC ซึ่งมีหน่วยงานที่ขอรับงบประมาณในส่วนนี้ถึง 9 กระทรวง 22 หน่วยงาน 3 รัฐวิสาหกิจ และ 2 องค์กรปกครองท้องถิ่น
งบประมาณที่ สกพอ. ขอยื่นไปนั้นเท่ากับ 446.10 ล้านบาท เป็นงบประมาณดำเนินการของ สกพอ. ส่วนงบประมาณในแผนบูรณาการของ EEC ของหน่วยงานต่าง ๆ นั้น ในปี 2565 ได้รับการตั้งคำของบประมาณลดลงจาก 21,336.38 ล้านบาทในปี 2564 เหลือเพียง 12,275.36 ล้านบาทในปีนี้ หรือลดลง42.5% ซึ่งก็ยังสงสัยว่าจะสามารถทำงานเข้าเป้าหมายในการสร้างการลงทุนทั้งในภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ EEC ในปี 2565 ที่ 300,000 ล้านบาท และ GDP เพิ่มขึ้น 4% ตามที่ตั้งไว้ได้อย่างไร
งบประมาณบรูณาการ EEC กว่า 10,381 ล้านบาท เป็นงบประมาณเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และระบบดิจิทัล ซึ่งหน่วยงานที่รับงบประมาณนี้ก็คือ คมนาคม กองทัพเรือ การประปา การไฟฟ้า และการรถไฟ ฯลฯ ส่วนแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยว แนวทางการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งแนวทางการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนเพื่อรองรับการขยายเมือง ก็ได้แบ่ง ๆ งบประมาณกันไปตามที่เหลือราวสองพันกว่าล้านบาท
หลายโครงการที่ไม่ปรากฏในแผนบูรณาการในปีนี้ก็คือโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติที่ก่อสร้างมาหลายปีที่เปิดเฟสหนึ่งไปแล้ว แต่เฟสอื่น ๆ ก้าวหน้าอย่างช้า ๆ เพราะเงื่อนไข กติกาของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งใครเป็นข้าราชการจะรู้ว่าทรมาณจิต ทรมาณใจขนาดไหน และผู้ประมูลก็มีช่องในการร้องเรียนมากและง่ายเกินไป นอกจากนี้การใช้เวลาในการหารือของหน่วยงานดำเนินงานและหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางก็ใช่จะไวนัก ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายล่าช้า ซึ่งเข้าทางสำนักงบประมาณที่จะมีเหตุผลตัดงบนี้ในปีนี้ทิ้งไปเพราะที่ให้มายังใช้ไม่หมด และที่ยิ่งแปลกใจก็คือดันมีโครงการของหน่วยงานอื่นที่ตั้งโครงการสร้างสนามทดสอบรถยนต์อัตโนมัติ CAV proving ground ขึ้นมาอีก ผมไม่แน่ใจว่ารายละเอียดเป็นอย่างไรยังหาไม่เจอ แต่ถามในใจว่า เขาไม่รู้ ไม่คุยกันหรือไง ให้มันอยู่ด้วยกันเหมือนที่อื่น ๆ ไม่ได้หรือไง
จุดดีของงบบูรณาการ EEC นั้นจะช่วยให้ สกพอ. มองภาพใหญ่ได้ว่าใครกำลังทำอะไรในพื้นที่ EEC แต่จะบังคับเขาให้ต้องทำให้ได้นั้นดูท่าทางจะยาก เพราะงบประมาณในโครงการที่ปรากฏที่อยู่ในแผนบูรณาการ EEC นี้ก็ถือว่าเป็นโครงการที่อยู่ในงบประมาณของหน่วยงานด้วย ไม่ได้มองแยกว่ามีแต้มต่อเพราะเป็นโครงการในงบบูรณาการด้วย แต่เขาจะมองงบก้อนรวมของสำนักงานเป็นสำคัญแล้วตั้งหลักหั่น ถ้าใครอยากได้งานใหม่เจ๋ง ๆ ก็ต้องยอมเสียงานเดิมอื่นไป เพื่อให้ยอดรวมไม่แกว่งไปจากเดิมเมื่อปีที่แล้วมากนัก เลยทำให้งานในงบบูรณาการ EEC ส่วนมากเป็นงานปกติของหน่วยงานนั้น ๆ
ดังนั้น ตัวชี้วัดนี้น่าจะเปลี่ยนให้เป็นตัวชี้แบบ impact คือวัดที่มูลค่าการลงทุนของธุรกิจและอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือที่มีนวัตกรรม ซึ่งน่าจะตรงกับเป้าหมายในการของการสร้าง EEC ตั้งแต่แรก
ก็ต้องเฝ้าดูว่างบบูรณาการ EEC ที่ฝากให้หน่วยงานอื่น ๆ ทำนั้น พอต้องเผชิญหน้ากับการหั่นงบของสภาผู้แทนฯ แล้ว หากต้องเลือกเก็บบางโครงการไว้ แล้วมาดูว่าโครงการในงบบูรณาการ EEC จะเหลือมากน้อยเพียงใด เพราะเวลานักการเมืองเห็นชื่อ EEC จะเห็นภาพของใครก็พอรู้กัน จะให้เดินสะดวก ก้าวหน้า ก็ไม่ใช่การเมืองไทยสิครับ