คลังเบรกลดภาษีบุคคล 17%แลกดึงดูดการลงทุน
รัฐบาลเร่งระดมสมองงัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนต่างชาติ วางเป้าดำเนินการ 4 กลุ่มหลัก ได้สิทธิคือถือครองวีซ่าอายุ 10 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน เร็วๆนี้ได้มีการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสู่ประเทศไทย ตามข้อเสนอของ ทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนที่มี มล.ชโยทิต กฤดากร เป็นหัวหน้าคณะทำงานเสนอ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯเห็นชอบในหลักการในการกำหนด 4 กลุ่มเป้าหมายที่จะมีการดึงดูดการลงทุน และเชิญชวนให้เข้ามาพำนักในประเทศไทย ได้แก่ 1.กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) ซึ่งรวมถึงนักลงทุนที่มีกำลังซื้อสูง ภายใต้โปรแกรม Flexible Plus Program 2.ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) และ4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-skilled professional โดยทั้ง 4 กลุ่มเป้าหมายจะต้องมีการทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลไม่น้อยกว่า1 แสนดอลลาร์ตลอดระยะเวลาในการถือวีซ่าด้วย
ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ที่ได้เสนอให้กับทั้ง 4 กลุ่มคือถือครองวีซ่าอายุ 10 ปี ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ (รวมทั้งรายได้ที่นำเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน) สิทธิในการเป็นเจ้าของ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว (รวมที่ดินในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น) ส่วนกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษให้ได้ใบอนุญาตในการทำงาน รวมถึงมีข้อเสนอให้จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ที่เกิดในประเทศไทยในอัตราคงที่ที่ 17% เท่ากันหมดทุกกลุ่ม
โดยในส่วนของสิทธิประโยชน์ที่คณะทำงานฯเสนอ ให้คิดเงินได้ภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนและพำนักในไทยระยะยาวที่อัตรา17% เท่ากันหมด (flat rate)นั้น ที่ประชุมฯยังไม่เห็นชอบ เนื่องจากกระทรวงการคลังแย้งว่าจะเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างชาวต่างชาติที่เสียภาษีอยู่ในประเทศไทยในอัตราเดิม รวมทั้งจะสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้เสียภาษีชาวไทยที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุดถึง 35% (กรณีที่มีรายได้เกินกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป)
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังมีความเป็นห่วงจะกระทบกับการจัดเก็บรายได้บางส่วนด้วย เนื่องจากในข้อเสนอได้มีการกำหนดว่าผู้ถือวีซ่าพำนักในประเทศไทยรายเดิมซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามที่ประเทศไทยต้องการให้พำนักในไทยในระยะยาวเมื่อวีซ่าหมดอายุแล้วเมื่อมีการต่อวีซ่าใหม่จะได้สิทธิประโยชน์เทียบเท่าผู้ได้รับวีซ่ารายใหม่
แหล่งข่าว ยังกล่าวต่ออีกว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลืออสังหาริมทรัพย์ภายใต้โครงการอีลิท ฟริกซิเบิล พลัส โปรแกรม ที่เสนอโดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เนื่องจากเป็นเรื่องการดึงคนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเหมือนกัน ซึ่งมาตรการนั้น ศบศ.อนุมัติหลักการไปตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563 เหลือเพียงมอบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ไปหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับมา ทำให้มาตรการนี้ให้ชาวต่างชาติที่นำเงินมาลงทุนในไทย 1 ล้านดอลลาร์หรือ 30 ล้านบาท ในอสังหาริมทรัพย์ หุ้น หรือบริษัท สามารถขอใบอนญาติทำงานในไทยได้ ตั้งเป้าหมายไว้ 10,000 ราย นำรายได้เข้าประเทศ 3 แสนล้านบาทซึ่งการซ้ำซ้อนกันทำให้นายกรัฐมนตรีรู้สึกหงุดหงิดแล้วให้กลับไปทำข้อเสนอมาใหม่อีกที
"ข้อเสนอในเรื่องการชักชวนผู้มีรายได้สูง และผู้เกษียณอายุทั่วโลกให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยยังมีข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบติเป็นจำนวนมากที่ต้องดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานนายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายละเอียดของแผนการดำเนินงาน ด้านต่าง ๆ และนำเสนอ ศบศ. พิจารณาอีกครั้งก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป"
สำหรับรายละเอียดและเป้าหมายของ 4 กลุ่มได้แก่ 1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง มีเงื่อนไขการให้วีซ่าพำนักระยะยาวในไทยโดยจะต้องลงทุนขั้นต่ำ 5 แสนดอลลาร์ในพันธบัตรรัฐบาลไทบ หรือลงทุนทางตรง หรือในรูปแบบอสังหาริมทรัพย์ 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ลงทุนขั้นต่ำ 2.5 แสนดอลลาร์ในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนทางตรง หรือในอสังหาริมทรัพย์ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ