พาณิชย์ เร่งปั้นผู้ส่งออกท้องถิ่นรุ่นใหม่เสริมทัพการค้าระหว่างประเทศ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้ายุทธศาสตร์ปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากระดับภูมิภาคผ่านโครงการพัฒนาผู้ส่งออกรุ่นเน้นกลุ่มผู้ประกอบการจาก 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือเรียนรู้และเตรียมความพร้อมก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง (มิ.ย. – ธ.ค. 2564 ) ภาพรวมการส่งออกของไทยจะฟื้นตัว และสร้างมูลค่าได้มากกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ - การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ในหลายประเทศเริ่มส่อแววสดใส รวมทั้งการกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ความเชื่อมั่นและอุปสงค์ของสินค้าต่าง ๆ เริ่มมีแนวโน้มในทางบวก
อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งให้กับการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 กรมฯ จึงมียุทธศาสตร์สำคัญคือการผลักดันให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้มีโอกาสก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเล็งเห็นว่ายังมีสินค้าที่ผลิตโดยคนไทยในระดับภูมิภาคเป็นจำนวนมาก ที่มีศักยภาพสามารถส่งออกได้ ตลอดจนต้องการตอบโจทย์นโยบาย Local to Global ของกระทรวงพาณิชย์ในการสนับสนุนผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาคให้ได้ก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ ไม่เพียงแต่จะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานราก ช่วยรักษาเสถียรภาพในการจ้างงาน รวมทั้งยังช่วยเปิดตลาดให้สินค้าอีกหลายประเภทได้มีโอกาสสร้างชื่อในเวทีสากลได้อีกด้วย
ด้าน นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาผู้ส่งออกรุ่นใหม่ Young Exporter from Local to Global (YELG) ปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด Global Export Connect สินค้าไทย บินไกล ไร้พรมแดน ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นอีกโครงการที่สำคัญ ซึ่งได้เคยแจ้งเกิดผู้ประกอบการส่งออกมาแล้ว 900 ราย สำหรับรูปแบบของโครงการเป็นการเสริมความรู้และฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ (Zoom Meeting) ให้กับผู้ประกอบการใน 3 ส่วนภูมิภาค ผ่านการจัดอบรมหลากหลายรูปแบบ อาทิ การรับฟังการเสวนาจากผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรงทางด้านการส่งออกระหว่างประเทศ การรับฟังการบรรยายในหัวข้อที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการส่งออก ตลอดจนการทำกิจกรรมสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เข้าอบรมเพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศในรูปแบบกลุ่ม หรือคลัสเตอร์ พร้อมสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของการแข่งขัน ตลอดจนร่วมกันวางแผน กำหนดทิศทางกลยุทธ์ รวมทั้งการแบ่งปันทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจส่งออกระหว่างกันได้
นางอารดา เฟื่องทอง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กล่าวว่า สำหรับการปั้นนักส่งออกรุ่นใหม่ในโครงการนี้ ระยะที่ 1 สถาบันฯ จะรับสมัครผู้ประกอบการไทยทุกกลุ่มที่ต้องการก้าวสู่ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และบุคคลทั่วไปรวมจำนวน 450 ราย ระยะที่ 2 คัดเลือกผู้ประกอบการจากระยะที่ 1 ที่มีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคล ผู้จดทะเบียนพาณิชย์ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือผู้ที่มีความพร้อมในการต่อยอดสู่การส่งออก รวมจำนวน 120 ราย ให้ได้มีโอกาสก้าวสู่การค้าระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ผู้ที่เข้ารับการอบรมในโครงการฯ จะได้รับการพัฒนาและรับคำปรึกษาโดยตรงจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งออกระหว่างประเทศโอกาสในการเป็นตัวแทนเข้าร่วมจัดทำ VDO Storytelling ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำการตลาด เพื่อสร้างอัตลักษณ์ทางสินค้าและธุรกิจ พร้อมประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ตลอดจนยังได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs Pro-active ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ให้สามารถขยายตลาดในต่างประเทศได้อย่างมืออาชีพสำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th