กรมชล ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวริมคลอง

กรมชล ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวริมคลอง

กรมชลประทาน ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวริมคลอง เข้ากำจัดวัชพืช สร้างสถานี-ประตูระบายน้ำและปรับปรุงคลองบางขนาก รับฤดูฝน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะคณะอนุกรรมการบริหารพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ครั้งที่ 3/2564 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ผ่านระบบ video conference ว่า ตามแผนการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ที่กรมชลประทาน รับผิดชอบ แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ประกอบด้วย การปรับปรุงสิ่งกัดกวางทางน้ำในคลองแสนแสบ

 

 โดยนำเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าทำการกำจัดวัชพืชในคลองแสนแสบ บริเวณตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมระยะทางกว่า 5.8 กิโลเมตร ได้ปริมาณวัชพืชกว่า 26,000 ตัน  และดำเนินการกำจัดวัชพืชในคลองบางขนาก เริ่มตั้งแต่ตำบลบางน้ำเปรี้ยว ผ่าน ตำบลโพรงอากาศ สิ้นสุดที่ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมระยะทางกว่า 19.2 กิโลเมตร ได้ปริมาณวัชพืชกว่า 14,700 ตัน ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ

การก่อสร้างสถานีและประตูระบายน้ำบางขนาก พร้อมอาคารประกอบ ในพื้นที่ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า 45% ของแผนงาน และจะเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ หากแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้ง และควบคุมการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน ช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดกับประชาชนในพื้นที่ได้

 การปรับปรุงคลองบางขนาก แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ งานปรับปรุงคลองแสนแสบ รวมระยะทางกว่า 5.8 กิโลเมตร  และ งานปรับปรุงคลองบางขนาก รวมระยะทางกว่า 19.2 กิโลเมตร มีแผนการดำเนินงาน 3 ปี (ปี 2566-2568) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมสำรวจและออกแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ ก่อนนำเสนอต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อพิจารณาต่อไป

                สำหรับการเตรียมพร้อมรองรับน้ำในฤดูฝนในพื้นที่คลองแสนแสบ กรมชลประทาน มีแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลาก ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก โดยใช้แนวคันกั้นน้ำพระราชดำริ เป็นเส้นแบ่งขอบเขตความรับผิดชอบระหว่างกรุงเทพมหานครและกรมชลประทาน ซึ่งกรมชลประทานจะรับผิดชอบพื้นที่ภายนอกคันกั้นน้ำ ด้วยการใช้คลองแนวขวาง และคลองแนวดิ่งในการบริหารจัดการน้ำหลากไม่ให้เข้าเขตกรุงเทพฯ ได้แก่ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวาสายล่าง คลองแสนแสบ คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศน์บุรีรมย์

 

รวมทั้งใช้ประตูระบายน้ำ(ปตร.) และสถานีสูบน้ำระบายน้ำออกสู่แม่น้ำสายหลัก และทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีสถานีสูบน้ำทั้งหมด 12 สถานี อัตราการสูบประมาณวันละ 41.55 ล้าน ลบ.ม. เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล หากในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำร่วมกันกับกรุงเทพฯ กรมชลประทานจะใช้สถานีสูบน้ำบริเวณรอยต่อเขตกรุงเทพฯ สูบน้ำออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ ลงสู่คลองชลประทาน ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำ และอ่าวไทยต่อไป ซึ่งสถานีสูบน้ำและอาคารบังคับน้ำตามแนวรอยต่อเหล่านี้ จะมีเกณฑ์ระดับน้ำในการควบคุมการปิด-เปิด ที่เกิดจากข้อตกลงร่วมกันระหว่างกรมชลประทานและกรุงเทพมหานคร

 

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยินดีและพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มกำลัง เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ถึงผลการดำเนินงานให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองแสนแสบให้ดียิ่งขึ้น