เวที “CEO โซเซ” ชี้ทางออก เปิดประเทศอย่างไร? เศรษฐกิจไทยไปรอด
"หลักสูตร DTC" ระดมความเห็นผ่านช่องทางคลับเฮาส์ ดึงซีอีโอ นักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังแลกเปลี่ยนความเห็นความพร้อมวัคซีนกับเศรษฐกิจ-เปิดประเทศ กรณ์-สุดารัตน์ แนะรัฐสร้างความชัดเจนเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อก จัดหาวัคซีน แนะรัฐดึงเงินกู้ช่วยเหลือภาคธุรกิจ
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในรายการ "CEO โซเซ" หัวข้อ “วัคซีนมาแบบนี้ ไทยจะเปิดประเทศอย่างไร?” จัดโดย หลักสูตร DTC( Digital Transformation for CEO ) ดำเนินการโดย กรุงเทพธุรกิจ และฐานเศรษฐกิจ ทางแอพพลิเคชั่น Clubhouse
โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร แอร์เอเชีย เอวิเอชั่น ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ Thailand Future
ดำเนินรายการโดย ธีรธร ธาราไชย กรรมการบริหาร บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) วีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการบริหาร นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และ บากบั่น บุญเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย จำกัด
ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)กล่าวว่าการเริ่มเปิดประเทศที่จะเริ่มในวันที่ 1 ก.ค. ในพื้นที่ภูเก็ตที่เรียกว่า “ภูเก็ตแซนด์บ็อก”ซึ่งเหลือเวลาเพียงแค่ประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ข้อมูลที่เราส่งการเปิดพื้นที่ภูเก็ตในด้านต่างๆไปต่างประเทศยังไม่ชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้คาดว่ากระทรวงสาธารณสุขจะประกาศเป็นประเทศเลยว่าประเทศไหนบ้างที่สามารถเดินทางเข้ายังภูเก็ตได้ ส่วนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาก็ต้องไปติดต่อสถานทูตและไปขอใบรับรองการฉีดวัคซีน ซึ่งในเรื่องความไม่ชัดเจนทำให้นักท่องเที่ยวและสายการบินจากหลายประเทศยังสับสน เพราะจริงๆต้องประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 45 วันเพื่อให้ทุกฝ่ายมีความพร้อม
ทั้งนี้การที่ยังไม่มีความชัดเจนทำให้ไฟลท์ที่บินตรงมายังภูเก็ตนั้นยังไม่มีการแพลนตารางบิน และเชื่อว่าการขายตั๋วให้กับนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆก็ยังไม่มี มีความเป็นไปได้มากกว่าเมื่อเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกในวันที่ 1 ก.ค.อาจจะยังไม่มีนักท่องเที่ยวและเที่ยวบินเข้ามามากนักกว่าจะมาต้องช่วงสัปดาห์ 2-3 และการที่จะมีสายการบินต่อจากภูเก็ตไปที่อื่นที่เป็นสายการบินในประเทศก็ยังไม่มีการวางแผนเช่นกันซึ่งแอร์เอเชียเองก็ยังไม่ได้วางแผนจะเพิ่มเที่ยวบินที่บินไปยังภูเก็ตมากนักโดยคาดว่าจะเพิ่มจาก 1 เป็น 2 หรือ 3 เที่ยวบินต่อวัน และประเมิน 14 วันถึงจะประเมินอีกครั้งว่าจะเปิดเที่ยวบินในประเทศไปเพิ่มที่ภูเก็ตเพิ่มเติมหรือไม่
“เรื่องภูเก็ตแซนด์บ็อกเหมือนยังคิดไม่เสร็จพอคิดได้ดีขึ้นก็มาบอกใหม่ก็ไม่ชัดเจน แต่ประกาศมาก่อน เวลา 2 อาทิตย์ที่เหลือ เครื่องบินไม่เต็มลำแน่นอน โรงแรมก็มีต้นทุนมากในการกลับมาเปิดถ้าคนพักยังน้อย ซึ่งตรงนี้เป็นบทเรียนว่าถ้าเราจะเปิดในจังหวัดอื่นๆต้องวางแผนให้ดีกว่านี้ศึกษาจากที่เราพลาดจากการตลาดที่จะเปิดประเทศที่ภูเก็ตซึ่งควรทำได้ดีกว่านี้”
ธรรศพลฐ์กล่าวว่าการท่องเที่ยวในประเทศเองก็จะมีผลกระทบอีกพักใหญ่การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประทศก็ลำบาก เพราะเงินเก็บร่อยหรอมาก และมีการใช้เงินกู้เข้ามาด้วยซึ่งภาวะแบบนี้สภาพการเงินตึงตัวอาจใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะฟื้นได้ โดยแอร์เอเชียเองกว่าสถานะทางการเงินจะกลับมาปกติคือ 2-3 ปี หลังจากที่สามารถกลับมาบินได้100% ซึ่งคาดว่าเป็นช่วงเวลาคือประมาณ ไตรมาส 2-3 ปีหน้าที่จะกลับมาบินได้ 100% อีกครั้ง
ด้านกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้ากล่าวว่าในแผนการเปิดประเทศซึ่งเริ่มจาก “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งในระยะแรกที่เริ่มมีการเปิดพื้นที่จังหวัดภูเก็ตผู้ประกอบการจะมีต้นทุนที่ต้องแบกรับค่อนข้างมากรัฐบาลต้องจัดสรรการช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทให้กับผู้ประกอบการในภูเก็ตเพื่อให้ระยะแรกเปิดตัวและยืนอยู่ได้ รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยให้เข้าถึงแหล่งทุนเพราะภาระค่าใช้จ่ายที่มากจะไม่สอดคล้องกับกับรายได้ที่จะค่อยๆกลับมา
ส่วนการเปิดประเทศในจังหวัดอื่นๆคงต้องรออีกพักใหญ่ เพราะกว่าจะเปิดประเทศในจุดนั้นได้คนไทยต้องฉีดวัคซีนได้ 70% ของประชากรทั้งประเทศ ตอนนี้เพิ่งฉีดวัคซีนได้แค่ 6% ของทั้งประเทศ วัคซีนที่มีอยู่ยังมีจ้อจำกัดในเรื่องของปริมาณ วัคซีนที่มีอยู่อาจถึงแค่วันที่ 15 มิ.ย.นี้ก็ยังต้องเอาวัคซีนเข้ามาให้ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ในระยะต่อไปการขับเคลื่อนในประเทศต้องตั้งเป้าว่าเราจะกลับมาปกติได้เร็วแค่ไหน หากได้วัคซีนในปริมาณที่มากพอแล้วควรให้มีการเดินทางข้ามจังหวัดได้ ซึ่งในช่วงนั้นต้องเอาเงินไปช่วยผู้ประกอบการที่กลับมาเปิดใหม่ในช่วงแรก เช่น สายการบิน โรงแรม ที่มีค่าใช้จ่ายมากจากต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายในระยะแรก ขณะที่อีกเรื่องคือยังมีคนอีกจำนวนากที่ยังลังเลเรื่องการฉีดวัคซีนซึ่งเอาเข้าจริงแล้วคนที่ต้องการฉีดวัคซีนอาจมีแค่ 15 ล้านคน การให้คนฉีดวัคซีน 50% ของประชากรยังถือว่าไม่ง่ายซึ่งหลายประเทศมีปัญหาในส่วนนี้มาแล้ว การสื่อสารทำความเข้าใจเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำต่อเนื่องเพื่อให้เป้าหมายการฉีดวัคซีนได้ตามที่กำหนดไว้ 100 ล้านโดส ส่วนระยะต่อไปก็ต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้รองรับการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด
“ประเทศไทยต้องมีวัคซีนเศรษฐกิจคือการปรับโครงสร้างด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถทางด้านการแข่งขันของประเทศในระยะยาว”
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่ารัฐบาลต้องสร้างความชัดเจนเรื่องการเปิดประเทศ เช่นวางเป้าหมายว่าจะสามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้ภายในปีนี้เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ ซึ่งรวมทั้งการประกาศเป้าหมายในการเอาชนะโควิด-19เพื่อที่จะให้ประชาชนกลับมาทำมาหากินได้เป็นปกติมากที่สุด ทั้งนี้การจะไปถึงเป้าหมายในส่วนนั้นได้คือประชาชนต้องได้รับวัคซีนในปริมาณที่มากพอในสัดส่วน 70% ของประชากร รัฐบาลมีเป้าหมายในการฉีดวัคซีน 5 แสนโดสต่อวัน ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ต้องจัดหาวัคซีนให้ได้ 15 ล้านโดสต่อเดือนก็ต้องทำให้ได้ตามนั้นเพราะหากช้ากว่านั้นจะเสียโอกาสทั้งการท่องเที่ยวและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ
สำหรับในพื้นที่ภูเก็ตยังต้องพิจารณาเรื่องการเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอีกประมษณ 2 แสนคน ซึ่งกลุ่มนี้ต้องฉีดให้เขาก่อนวันที่ 15 มิ.ย.เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนที่จะเริ่มเปิดในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ส่วนการท่องเที่ยวนั้นต้องพิจารณาให้รอบครอบเพราะอาจต้องดูถึงการท่องเที่ยวเป็นเส้นทางจากภูเก็ตไปยังพื้นที่อื่นๆ
อีกเรื่องคือการกักตัว อาจไม่ต้องกักให้ถึง 14 วัน แต่อาจต้องให้กักตัว 7 วัน แล้วใช้การตรวจอื่นๆมาช่วยเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวมากขึ้น ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์สร้างความต้องการอย่างต่อเนื่องและเตรียมความพร้อมให้ครบทุกมิติอย่างละเอียดรอบคอบ
คุณหญิงสุดารัตน์ยังกล่าวด้วยว่าการจัดสรรงบประมาณปี 2565 ต้องจัดงบในรูปแบบใหม่ จัดสรรให้ลงไปมีพลังในการประคองชีวิตและเพิ่มอำนาจและกำลังซื้อให้ประชาชน จัดไปเพื่อเพิ่มวัคซีน จัดงบสร้างงานสร้างรายได้ ไม่ใช่การแจกที่น้อยและไม่เพียงพอ เพื่อให้ประชาชนมีงานและรายได้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจในการเตรียมการต้องลงไปโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตอินเตอร์เน็ตและ 5 จี หรือใส่งบฯน้ำ เทคโนโลยีการตลาด ศูนย์กลางการแพทย์ โจอย่าจัดงบแบบยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ต้องเข้าใจอย่างแท้จริง
ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) กล่าวว่า ภาคท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาก เพราะการท่องเที่ยวคิดเป็น 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) การล็อคดาวน์ ปิดรับนักท่องเที่ยวจะกระทบแรงงานจำนวนมากแรงงานในภาคการท่องเที่ยวจะไม่มีรายได้ และกระทบการจ่ายหนี้ การเปิดประเทศจึงมีความสำคัญเป็นทางออกระยะสั้นให้กับระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามการเปิดประเทศนั้นต้องมีรูปแบบและข้อปฏิบัติ และการวางแผนที่ชัดเจนต้องไม่ให้มีความเสี่ยงเพราะจากโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ที่คำนวณพบว่าหากเริ่มเปิดประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 2565 และเปิดการท่องเที่ยวให้ประเทศที่ได้รับวัคซีนจำนวนมากเข้ามาในประเทศไทยคาดว่าประเทศไทยจะได้รับรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท แต่หากมีการเกิดการระบาดแล้วต้องล็อกดาวน์เหมือในช่วงการเกิดการระบาดในระลอกที่ 1 ก็จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทเช่นกันซึ่งต้องชั่งน้ำหนักผลกระทบในส่วนนี้
ทั้งนี้การระบาดของโควิดจะประมาทไม่ได้ เพราะความไม่เพียงพอของระบบสาธารณสุขในอิตาลีและอินเดียเกิดขึ้นแล้ว หากมีการระบาดมากระบบสาธารณสุขของไทยก็มีความเสี่ยงมากเช่นกันจึงต้องเร่งการฉีดวัคซีน ขณะที่การเกิดการภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเชื้อกลายพันธุ์ตลอดเวลา ที่สำคัญในเรื่องของการจัดการวัคซีนเป็นสิ่งที่ต้องมีแผนระยะกลางและระยะยาวซึ่งต้องครอบคลุมทั้งนักท่องเที่ยว และแรงงานด้วย ส่วนการเปิดการท่องเที่ยวที่ภาคธุรกิจจะอยู่รอดได้จะเป็นการเปิดแบบโรงแรม เพราะเปิดแบบน้อยเกินไปไม่ได้ เปิดปุ๊บขาดทุนปั๊บ เพราะเปิดน้อยห้องเกินไปก็มีโอกาสขาดทุนมาก
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือต้นทุนของความสับสน นั้นเป็นต้นทุนที่สูงมาก ว่าเราจะทำอะไรต่อไป ในการสู้กับโรคระบาดเกินกว่าอาชีพใดอาชีพหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะทำได้โดยลำพัง ที่จริงแล้วจะต้องคิดแบบวิศวะกรรมเป็นระบบ การเปิดแล้วก็ต้องวางแผนคิดให้รอบครอบว่าจะเสี่ยงกับการเกิดระบาดรอบใหม่หรือเปล่า เพราะนอกจากภาคท่องเที่ยวมีอีกหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจที่รอการฟื้นตัวอยู่เช่นกัน”ณภัทร กล่าว