SMD เทรนด์ยุคโควิด ใส่เกียร์บั้มธุรกิจโต !
สบจังหวะอุตสาหกรรมสุขภาพขึ้นเทรนด์ของโลก ! 'จุดขาย' น้องใหม่ไอพีโอ 'เซนต์เมด' ระดมทุนตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 17 มิ.ย. นี้ ราคา 7.20 บาท 'วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์' นายใหญ่ ติดเครื่องธุรกิจขยายศักยภาพ 'อุปกรณ์การแพทย์ให้เช่า-ศูนย์ตรวจการนอนหลับ'
เมื่อนโยบายของภาครัฐต้องการผลักดันประเทศไทยขึ้นแท่น 'ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ' (Medical Hub) รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หรือเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) อีกด้วย สอดรับกับอุตสาหกรรมการเปลี่ยนแปลงสู่ 'สังคมผู้สูงอายุ' (Aging Society) กำลังส่งผลบวกต่อหุ้นน้องใหม่ไอพีโอ บมจ. เซนต์เมด หรือ SMD ผู้ดำเนินธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลก !
โดยเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 54 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นจำนวนไม่เกิน 25.23% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ในราคา 7.20 บาทต่อหุ้น คาดว่าจะเข้าซื้อขายเป็นวันแรก (เทรด) วันที่ 17 มิ.ย. 2564 คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย 388,800,000 บาท
โดยความ 'โดดเด่น' ดังกล่าว และเป็นธุรกิจที่สอดรับแผนลงทุนของกลุ่มโรงพยาบาลรัฐและเอกชนไทย เพื่อเพิ่มความสามารถการให้บริการทางการแพทย์รองรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีอัตราเพิ่มขึ้นทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ในช่วงปี 2564-2565 ที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 6.5% ต่อปี
ปัจจุบัน SMD เป็นตัวแทนการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายใต้ตราสินค้าของผู้ผลิตมากกว่า 30 ราย โดยดำเนินธุรกิจใน 2 ประเภทหลัก ประกอบด้วย 'ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้า' (เทรดดิ้ง) โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ และ 'ธุรกิจให้บริการ' โดยให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์หลังการขาย และให้บริการเช่าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงบริการตรวจการนอนหลับ
โดยบริษัทแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม คือ 'กลุ่มสินค้าด้านเวชบำบัดวิกฤติ' (Critical Care) เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยในหออภิบาลผู้ป่วยหนักและห้องฉุกเฉิน เช่น เครื่องช่วยปั๊มหัวใจระบบอัตโนมัติ เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบเออีดีและแบบใช้ในโรงพยาบาล และเครื่องเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพพร้อมระบบศูนย์กลางและระบบเทเลเมดิซีน เป็นต้น
'กลุ่มสินค้าด้านการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับ' (Respiration) เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจและการนอนหลับ เช่น เครื่องตรวจวิเคราะห์ความผิดปกติขณะนอนหลับ เครื่องเฝ้าติดตามความดันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดขณะนอนหลับ เครื่องช่วยหายใจความดันบวกสองระดับ และเครื่องช่วยหายใจซีแพพสำหรับผู้ป่วยนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น
'กลุ่มสินค้าด้านหทัยวิทยา' (Cardiology) เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาความผิดปกติการทำงานของหัวใจ เช่น เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 12 ลีด เครื่องทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย และเครื่องวัดอัตราการไหลของเลือดในเส้นเลือดขณะทำการผ่าตัดหัวใจ เป็นต้น
'กลุ่มเครื่องมือแพทย์ทั่วไป' (General Medical Device) เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์สำหรับการใช้งานทั่วไป เช่น โคมไฟผ่าตัด เตียงผ่าตัด โคมไฟทำหัตถการเล็ก เครื่องส่องตรวจตา หู คอ จมูก ชุดใส่ท่อช่วยหายใจ เตียงผู้ป่วย รถเข็นทางการแพทย์ รถเข็นกู้ชีพผู้ป่วยฉุกเฉิน และเครื่องวัดอุณหภูมิบริเวณหน้าผาก เป็นต้น
'กลุ่มสินค้าสมาร์ทฮอสพิทอล' (Smart Hospital) เป็นกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ทำให้โรงพยาบาลดูทันสมัย และใช้อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลในการปฏิบัติงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ลดการรายงานผลและจดบันทึกด้วยกระดาษ (Paperless) อีกทั้งมีการเชื่อมต่อข้อมูลเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวเข้ากับระบบ Hospital Information System หรือระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ เครื่องวิเคราะห์ดัชนีมวลกาย
และ 'กลุ่มอื่นๆ' (Others) เป็นกลุ่มอุปกรณ์ประกอบการใช้งานเครื่องมือแพทย์ใน 5 กลุ่มสินค้าดังกล่าวข้างต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสั่งซื้อจากผู้ผลิตภายในประเทศ เช่น แบตเตอรี่ และเจล เป็นต้น
'ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซนต์เมด หรือ SMD แจกแจงสตอรี่การเติบโตอนาคตให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ด้วยภาพรวมของอุตสาหกรรมอยู่ในเทรนด์การเติบโตของโลก ซึ่งธุรกิจของบริษัทก็อยู่ในเทรนด์ของโลก สอดคล้องกับแผนธุรกิจของบริษัทหลังระดมทุนจะได้รับเงินจากการ IPO ในครั้งนี้ ! 'ปลดล็อก' โอกาสการเติบโตในระดับสูง รวมทั้งเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรองรับโอกาสทางธุรกิจในอนาคต
สะท้อนผ่านแผนธุรกิจระยะ 3-5 ปีข้างหน้า (2564-2568) ในการขยายบริการใหม่ๆ เพื่อสร้างพอร์ต 'รายได้ประจำ' (Recurring Income) อย่างสม่ำเสมอ บ่งชี้ผ่านเงินลงทุนใน 2 ธุรกิจหลัก 'ธุรกิจเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เช่า' จำนวน 150 ล้านบาท ในช่วงปี 2564-2566 และ 'โครงการศูนย์ตรวจการนอนหลับ' จำนวน 90 ล้านบาท ในช่วงปี 2564-2566 ส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนดำเนินกิจการ จำนวน 88.80 ล้านบาท และชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน จำนวน 60 ล้านบาท
เขา แจกแจงว่า สำหรับโครงการศูนย์ตรวจการนอนหลับ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำอย่างสม่ำเสมอ โดยจะเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ประจำให้บริษัทด้วย เพราะแบ่งรายได้กับโรงพยาบาล โดยบริษัทจะมีการขยายเตียงสำหรับตรวจการนอนหลับ โดยบริษัทตั้งเป้าจะสามารถเพิ่มจำนวนเตียงตรวจเฉลี่ยปีละ 8 เตียงตรวจ
โดยคาดภายในปี 2566 จะมีจำนวน 28 เตียงตรวจ จากปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วจำนวน 4 เตียงตรวจ มูลค่าลงทุน 15 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้บริษัทได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก พร้อมทั้งมีแผนขยายไปสู่โรงพยาบาลชั้นนำอีกหลายแห่ง เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ตรวจการนอนหลับ
สำหรับ ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ให้เช่า ซึ่งบริษัทสามารถให้เช่าเครื่องมือในโรงพยาบาล ก็จะเป็น Recurring Income ที่คู่แข่งรายเล็กไม่สามารถเข้ามาได้ ในอนาคต SMD ก็จะมีรายได้ที่มั่นคง และยังจะเพิ่มเครื่องมือแพทย์ใหม่ๆ เข้ามาจำหน่ายเพื่อรองรับความต้องการลูกค้าทั้งโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน และการลงทุนให้เช่าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ
ขณะที่เป้าหมายรายได้แบ่งเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง) ตั้งเป้าเติบโต 10-15% ต่อปี ธุรกิจสัญญาเช่า ตั้งเป้าให้เติบโตทุกปี ส่วนรายได้ศูนย์ตรวจการนอนหลับ จะเพิ่มตามจำนวนเตียง ตามแผนเพิ่มปีละ 8 เตียง ในปี 2564-2568 ซึ่งก็จะทำให้รายได้เติบโตปีละ 15-20% สำหรับผลกระทบจากโควิด ส่งผลดีให้บริษัทมากกว่าเชิงลบ เพราะมีความต้องการเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม '4จุดเด่น' ของ SMD ที่สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ข้อแรก เป็นผู้นำตลาดสินค้าเวชบำบัดวิกฤติและเป็นสินค้าด้านการช่วยระบบการหายใจของคนไข้ ข้อสอง สินค้าของบริษัทเป็นคุรุภัณฑ์ทางการแพทย์พื้นฐานที่ต้องมีอยู่ใน รพ. เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยให้พ้นวิกฤติ และมีความต้องการสูงในช่วงโควิด-19 ข้อสาม มีความสามารถบริหาร Product mixed เพื่อรักษา Gross margin ที่ 41%-42% และข้อสี่ การขยายบริการใหม่ ทำให้เกิดแหล่งรายได้ประจำใหม่ ช่วยลดความผันผวนของรายได้ขาย
'เรามีศักยภาพเติบโตสูงจากข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันทางธุรกิจ และจากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจมายาวนาน ได้รับความไว้วางใจจากผู้ผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลก รวมถึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเป็นโอกาสรุกขยายธุรกิจอย่างเต็มที่'
ขณะที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2561–2563) บริษัทมีรายได้มีจากการขายและบริการรวม 506.03 ล้านบาท 618.63 ล้านบาท และ 660.94 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 14.29% โดยมีสัดส่วนรายได้หลักจากกลุ่มสินค้าด้านเวชบำบัดวิกฤติ คิดเป็นสัดส่วน 40.20% ซึ่งมีฐานลูกค้าหลัก คือ กลุ่มโรงพยาบาลรัฐคิดเป็น 71.07%จากความต้องอุปกรณ์การแพทย์ของภาครัฐที่เพิ่มขี้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนกำไรสุทธิปี 61-63 ทำได้ 30.52 ล้านบาท 60.44 ล้านบาท และ 77.75 ล้านบาท ตามลำดับ
ท้ายสุด 'วิโรจน์' หุ้น SMD เป็นหุ้นเครื่องมือแพทย์ที่จะเติบโตพร้อมกับหุ้นโรงพยาบาล ซึ่งหุ้นโรงพยาบาล เป็น Defensive Stock ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี คนก็จะต้องมารักษา และผู้สูงอายุมากขึ้นอัตราการเจ็บป่วยก็มากขึ้น SMD ขายเครื่องมือแพทย์ ที่ใช้ในห้องฉุกเฉิน ห้อง ICU เป็นฟังก์ชั่นพื้นฐานที่ทุกโรงพยาบาลต้องมี บริษัทก็จะเติบโตไปด้วย เพราะถือครองแบรนด์ชั้นนำของประเทศ ถ้าโรงพยาบาลไหนขยายกิจการ SMD ก็มีโอกาสที่จะเข้าแข่งขัน