'ทีดีอาร์ไอ'ประเมิน 120 วันเปิดประเทศ ชี้ 'วัคซีน'เดิมพันความสำเร็จ
“ทีดีอาร์ไอ” ประเมินเปิดประเทศ 120 วัน หากสำเร็จดันเศรษฐกิจ 4.5-5.4 แสนล้าน หวั่นเสี่ยงระบาดจากเชื้อกลายพันธุ์เข้าประเทศเพิ่ม กรณีร้ายแรงระบาดสูงสุดวันละ 7 พันคน เสี่ยงล็อคดาวน์อีกรอบหากสาธารณสุขรับไม่ไหว แนะเร่งนำเข้าวัคซีนประสิทธิภาพสูงเพิ่ม
การประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วัน ของ พล.อ.ยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจที่คาดหวังว่าไตรมาส 4 ที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย ในขณะเดียวกันการเปิดประเทศยังอยู่บนเงื่อนไขการฉีดวัคซีนให้เพียงพอจนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า แผนการเปิดประเทศใน 120 วัน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศถือว่าเป็นเป้าหมายในอุดมคติ (Aspiration goal) อยู่พอสมควร เรียกได้ว่าเป็นกรณีคาดการณ์ในกรณีดีที่สุด (Best case) ทั้งการควบคุมโรคระบาดและการกระจายวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศก่อนจะเปิดเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าอย่างเร็วที่สุดประชาชน 70% จะได้รับวัคซีนครบ 2 โดส ในเดือน ก.พ.2565 จึงจะเปิดเศรษฐกิจได้เพราะเกิดการสมดุลย์ระหว่างการควบคุมการระบาดกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ส่วนเป้าหมายของนายกรัฐมนตรีที่จะเปิดประเทศและเศรษฐกิจภายใน 120 วัน หรือเดือน ต.ค.2564 ซึ่งเร็วกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ 4 เดือนครึ่ง ซึ่งหากทำสำเร็จจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมา 4.5-5.4 แสนล้านบาท โดยเป็นการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวและการจับจ่ายบริโภคของคนในประเทศ
“วัคซีน”เงื่อนไขเปิดประเทศ
นายนณริฏ กล่าวว่า ปัจจัยความสำเร็จและความเสี่ยงของแผนนี้อยู่ที่เรื่องวัคซีนโควิดทั้งในเรื่องของปริมาณและคุณภาพของวัคซีน โดยปริมาณแผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาลที่จะฉีดเข็มแรกให้กับประชาชนในเดือน มิ.ย.และอีก 4 เดือนข้างหน้าจะฉีดได้ 45 ล้านโดส คิดเป็น 60% ของประชากร ซึ่งยังไม่ถึงภูมิคุ้มกันหมู่ที่ควรจะได้ 70%
รวมทั้งส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีด 2 เข็มด้วย เพราะเมื่อดูตัวเลขแล้วแผนการฉีดวัคซีนในเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 6 ล้านโดส เดือน ก.ค.-ก.ย.อยู่ที่เดือนละ 10 ล้านโดส และในเดือน ต.ค.ที่จะครบกำหนด 120 วัน ช่วงครึ่งเดือนคาดว่าจะฉีดวัคซีนได้ 5 ล้านโดส รวมเป็น 45 ล้านโดส ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการฉีดในเข็มที่ 1 ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลเลือกทางเสี่ยงที่จะเปิดประเทศในช่วงที่ยังไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งต้องพิจารณาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อทั้งระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจ
ห่วงประสิทธิภาพวัคซีน
สำหรับประเด็นต่อมาที่ต้องพิจารณา คือ ประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งวัคซีนที่ไทยได้รับนั้นในทางการแพทย์ถือว่าเป็น Secondary vaccine ที่ประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดไม่ดีนัก และเป็นความเสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดในวงกว้างมีมากขึ้นหลังจากเปิดประเทศและผ่อนคลายให้จัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดได้แบบปกติ
ทั้งนี้ เมื่อดูโมเดลจากต่างประเทศเปรียบเทียบการตัดสินใจของรัฐบาลไทยจะคล้ายกับการผ่อนคลายในอังกฤษและชิลี ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ เปิดประเทศหลังฉีดวัคซีน แต่ต้องปิดอีกครั้ง ทำให้เห็นความเสี่ยงการระบาดระดับสูง โดยกรณีร้ายแรงสุด คือ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่าวันละ 7,000 คนต่อวัน จะเกินความสามารถของระบบสาธารณสุขไทย และและเกินความสามารถของแพทย์พยาบาลที่ทำงานหนักอยู่แล้ว และขณะนี้คุมการระบาดระลอก 3 ยังไม่ได้ หากมีเชื้อกลายพันธุ์จากสายพันธุ์อินเดียและแอฟริกา จะลำบากมากที่สาธารณสุขจะรับมือไหว
แนะดูบทเรียนอังกฤษ-ชิลี
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีผลการศึกษาการระบาดและประสิทธิภาพของวัคซีนใน 3 ประเทศ คือ ชิลี อังกฤษ และอิสราเอล ซึ่งทั้ง 3 ประเทศได้เข็มแรกเกิน 60% และเข็มสอง 40% แล้ว โดยผลจากการใช้วัคซีนที่แตกต่างกันทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดเมื่อเปิดเมืองแตกต่างกัน โดยชิลีใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นหลัก ส่วนอังกฤษใช้แอสตร้าเซเนก้า และ อิสราเอลใช้ไฟเซอร์ ซึ่งผลออกมาพบว่ามีเพียงอิสราเอลที่ใช้วัคซีนไฟเซอร์ที่กลับมาเปิดเศรษฐกิจได้ยั่งยืน ส่วนอังกฤษที่ใช้แอสตร้าเซเนก้าในระยะแรกเหมือนจะดี แต่พอเจอสายพันธุ์เดลต้าก็สู้ไม่ไหวต้องปิดใหม่อีกครั้ง
“ประสิทธิภาพของวัคซีนมีผลต่อการเปิดเมืองอย่างยั่งยืน ซึ่งในต่างประเทศมีงานวิจัยเปรียบเทียบแล้วว่าใน 3 ประเทศ ที่ใช้วัคซีนแตกต่างกันมีเพียงอิสราเอลที่ใช้ไฟเซอร์ที่เปิดเมืองได้ยั่งยืน ส่วนซิโนแวคที่ใช้ในไทยมากเหมือนกันเป็นวัคซีนที่เป็น Second ties คือ ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ แต่การป้องกันการระบาดเข้าใจว่าเจอสายพันธุ์ไม่แรงเท่าเดลต้าก็จอดไปแล้ว ดังนั้นหากตั้งเป้าเปิดเศรษฐกิจเรื่องวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงก็จำเป็นที่รัฐบาลต้องนำเข้าเพิ่มไม่เช่นนั้นต้องเสี่ยงต่อการกลับไปปิดประเทศ ปิดเศรษฐกิจ หรือล็อคดาวน์อีก”
หวั่นต้องปิดประเทศอีก
นายนณริฏ กล่าวว่า การระบาดที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่การตัดสินใจกลับมาปิดประเทศ หรือประกาศล็อกดาวน์อีกครั้งซึ่งอาจเป็นการประกาศล็อกดาวน์แบบเป็นพื้นที่ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นสูงหรือล็อกดาวน์แบบทั่วประเทศแบบที่มาเลเซียมีการประกาศไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเท่ากับว่ามีความไม่แน่นอนเพราะต้องเปิดๆปิดๆซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นต้นทุนภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวตามคำสั่งของภาครัฐ
ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศก็จะตัดสินใจไม่เข้ามาเลยแล้วไปที่ประเทศอื่นแทน เพราะเห็นถึงความไม่แน่นอนของนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งหลายประเทศเจอกับสถานการณ์เช่นนั้นมาแล้ว
ทั้งนี้เมื่อดูจากคำประกาศของนายกรัฐมนตรีได้เห็นความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะออกไปในทิศทางใด เพราะมีประเด็นที่บอกว่าหากการเปิดประเทศเกิดการแพร่ระบาดก็มีความจำเป็นที่จะต้องล็อคดาวน์ โดยพิจารณาจากสถานการณ์ความรุนแรง ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็บอกว่าการล็อคดาวน์นั้นมี 2 ระดับ คือ การล็อคดาวน์ในระดับพื้นที่ และการล็อคดาวน์แบบทั้งประเทศหรือที่เรียกว่า Total lockdown ซึ่งแบบนนี้จะกระทบเศรษฐกิจมาก
“เมื่อเป็นเช่นนั้นเป้าหมายเศรษฐกิจที่รัฐบาลวางไว้จะไม่สำเร็จ ทั้งเป้าหมายที่จะต้องการเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว และเป้าหมายจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลวางนโยบายไว้ก่อน เพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคและการท่องเที่ยวเดินหน้าได้ แต่การแพร่ระบาดที่รุนแรงจนกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดสุดท้ายจะส่งผลจากในมิติของสุขภาพมายังภาคของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงและรัฐบาลต้องวางแผนในส่วนนี้โดยช่างน้ำหนักถึงโอกาสและความเสี่ยงอย่างรอบครอบด้วย”