เทรนด์ ‘บิวตี้-เฮลตี้’แรง ดันเครื่องสำอางไทยโตสวนโควิด
ตลาดเครื่องสำอางกว่า 3 แสนล้านบาท ลุ้นฟื้นตัวโต 3% หลังเทรนด์ผู้บริโภคยังรักสวย คู่ดูแลสุขอนามัย สินค้าสกินแคร์ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ทำความสะอาดร่างกายโตดี
ปี 2563 ตลาดเครื่องสำอางกว่า 3 แสนล้านบาท ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อย่างหนักและเผชิญการหดตัว 4.5% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากที่ผ่านมาเศรษฐกิจ กำลังซื้อหดตัว แต่ผู้บริโภคยังซื้อสินค้าความงาม เครื่องสำอาง หนุนตลาดขยายตัว
ทั้งนี้ ปี 2564 โรคระบาดยังอยู่ แต่ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ประเมินแนวโน้มตลาดเครื่องสำอาง ปีนี้จะเติบโตอย่างต่ำ 3% นับเป็นการฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง ประกอบกับสถานการณ์ตลาดก่อนสงกรานต์ ยอดออเดอร์สินค้าจากต่างประเทศมีการเติบโตอย่างมาก สร้างมูลค่าถึง 6,000-7,000 ล้านดอลลาร์
ส่วนตลาดในประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคยังรักสวยรักงาม ยิ่งกว่านั้นมาพร้อมกับการดูแลสุขอนามัยเข้นข้นขึ้น แม้อยู่บ้านต้องยังต้องดูแลผิวพรรณ อาบน้ำ ทำความสะอาดผม ส่งผลให้สินค้าหมวดดูแลผิวพรรณหรือสกินแคร์ ยังขยายตัว รวมถึงหมวดผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมมีการเติบโตได้ โดยทั้ง 2 หมวดยังเป็นตลาดใหญ่มูลค่า 80,000 ล้านบาท และ 30,000 ล้านบาทตามลำดับ รวมถึงผลิตภัณฑ์กลุ่มทำความสะอาด เช่น ครีมอาบน้ำด้วย
ขณะที่เครื่องสำอางที่หดตัวยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์สีสันหรือเมกอัพ มีมูลค่าราว 20,000 ล้านบาท หดตัว 10% น้ำหอม ผลิตภัณฑ์กันแดด และเครื่องสำอางจับกลุ่มผู้ชาย มูลค่าหลักพันล้านบาท เมื่อผู้บริโภคต้องทำงานที่บ้าน อยู่บ้านมากขึ้น การใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงลดน้อยลง แต่ด้วยขนาดตลาดไม่ใหญ่ การหดตัวที่เกิดขึ้นจึงไม่กระเทือนภาพรวมมากนัก
“ตลาดเครื่องสำอางมีการเติบโตมาโดยตลอด แต่ปี 2564 เป็นครั้งแรกที่เจอการหดตัว ส่วนแนวโน้มปีนี้ คาดว่าจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง เพราะช่วงไตรมาสแรกการค้าขายดีมาก ผู้บริโภคอัดอั้นใช้จ่าย ไม่ได้ออกจากบ้าน เมื่อได้ออกจากบ้าน จึงซื้อเครื่องสำอาง ส่วนการส่งออกออเดอร์มีการเติบโตทั้งจากสรัฐ ยุโรป จีน และอาเซียนในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามหรือซีแอลเอ็มวี ที่เหลือยังไม่ฟื้นตัว”
นอกจากนี้ ปัจจัยที่กระตุ้นให้ตลาดเครื่องสำอางยังเติบโต ท่ามกลางหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากโควิด เศรษฐกิจ กำลังซื้อหดตัว คือ “ฐานผู้บริโภคใหม่ๆ” ซึ่งปัจจุบันการแต่งหน้าเกิดขึ้นเร็วในกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ เทียบกับอดีตกว่าจะเริ่มแต่งหน้าต้องเรียนจบปริญาตรี
ส่วนการส่งออกกลับมาเติบโตได้ ไม่เพียงออเดอร์จากลูกค้าประเทศต่างๆ แต่การรับจ้างผลิตหรือโออีเอ็มจากประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฯ ยังขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของการป้อนเครื่องสำอางไทยสู่ตลาดโลก คือต้นทุนการขนส่งที่แพงขึ้นหลายเท่าตัว รวมถึงระบบบริการเชื่อมมโยงข้อมูลการค้าขายของรัฐและเอกชนในการส่งออกที่ยังติดขัด ล่าช้า และมีความทับซ้อน
ปัจจุบันสถานการณ์โรคโควิดยังไม่คลี่คลาย แต่เชื่อมั่นว่าการเติบโตของตลาดเครื่องสำอางจะเห็นต่อเนื่องจากปีนี้ จนถึงปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะโต 4% และปี 2566 จะเติบโตได้ 5%
“ตลาดเครื่องสำอางจะค่อยๆกลับมาเติบโต เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคมองการแต่งหน้าเป็นแฟชั่น ไม่มีใครยอมตกเทรนด์ แต่ความสวยยุคนิวนอร์มัล มาพร้อมการดูแลสุขอนามัย”
เกศมณี กล่าวอีกว่า เดิมปี 2564 สมาคมฯต้องการผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยให้เป็นผู้นำของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ด้วยการยกงานแสดงสินค้าระดับโลกมาอยู่ในไทยอย่าง “คอสโมพร๊อฟ”(Cosmoprof CBE ASEAN) จากเดิมจัดเพียง 4 แห่งทั่วโลก เช่น ลาสเกวัส ฮ่องกง ฯ โดยจะผนวกเข้ากับงานไชน่า บิวตี้ เอ็กซ์โป(China Beauty Expo:CBE) งานแสดงสินค้าความงามใหญ่สุดในโลก แต่พิษสงโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนการจัดงานปลายปีนี้ เป็นกันยายน 2565