สมอ. บุกจับเมลามีนไม่ได้รับอนุญาตคาโรงงานกว่า 3 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 7 ล้านบาท
สมอ. ลงพื้นที่สมุทรสาคร และสมุทรปราการ บุกจับโรงงานผลิตและนำเข้าภาชนะเมลามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต 5 แห่ง กว่า 3 แสนชิ้น มูลค่ากว่า 7 ล้านบาท ทลายแหล่งต้นตอการผลิตและแหล่งกระจายสินค้าก่อนส่งจำหน่าย เตือนผู้บริโภคก่อนซื้อให้ดูเครื่องหมาย มอก.
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโกดังและโรงงานทำภาชนะเมลามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตย่านสมุทรสาคร และสมุทรปราการ จำนวน 5 แห่ง ว่า สมอ. ให้ความสำคัญกับการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดอย่างเข้มงวด รวมถึงสินค้าที่จำหน่ายผ่านทางออนไลน์ด้วย ถึงแม้จะอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่ได้เฝ้าระวังสินค้าที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสินค้าที่ สมอ. ควบคุมจำนวน 123 รายการ รวมถึงภาชนะเมลามีนด้วย โดยกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งผู้ประกอบการที่จะทำ หรือนำเข้าสินค้าดังกล่าว ต้องได้รับอนุญาตก่อน หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย แต่จากการตรวจสอบพบว่ายังมีผู้ประกอบการบางรายไม่เกรงกลัวกฎหมายทำสินค้าไม่ได้มาตรฐานออกมาจำหน่ายในท้องตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งที่ยังไม่ได้รับอนุญาต
จากการตรวจสอบพบว่า มีการลักลอบทำและนำเข้าภาชนะเมลามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ จำนวน 5 ราย ดังนี้
รายแรก เป็นของบริษัทเดียวกัน แต่มีสองโรงงาน ตั้งอยู่ในตำบลบางปูใหม่ และตำบลท้ายบ้านใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พบมีการลักลอบทำภาชนะเมลามีนออกมาจำหน่ายก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. จึงได้ดำเนินการยึดอายัดสินค้าไว้ทั้งหมด มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท
รายที่สอง ตั้งอยู่ในตำบลท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร พบมีการลักลอบทำภาชนะเมลามีนออกมาจำหน่ายก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. เช่นเดียวกัน จึงได้ดำเนินการยึดอายัดสินค้าไว้ทั้งหมด มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท
รายที่สาม ตั้งอยู่ในตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร พบมีการลักลอบทำภาชนะเมลามีนออกจำหน่ายก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. จึงได้ดำเนินการยึดอายัดสินค้าไว้ทั้งหมดมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท
รายที่สี่ ตั้งอยู่ในตำบลบางน้ำจืด อ.เมือง จังหวัดสมุทรสาคร พบมีการลักลอบนำเข้าภาชนะเมลามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการขยายผลการตรวจสอบผ่านช่องทางการยกเว้นสินค้าที่ไม่อยู่ในขอบข่ายการควบคุม (Exempt 99) พบการสำแดงพิกัดการนำเข้าเป็นเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารทำด้วยเมลามีน จึงได้เข้าตรวจสอบจนพบการลักลอบนำเข้าสินค้าดังกล่าว และได้ยึดอายัดสินค้าไว้ทั้งหมดมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท
รายที่ห้า ตั้งอยู่ในตำบลบางน้ำจืด อ.เมือง จังหวัดสมุทรสาคร พบมีการลักลอบนำเข้าภาชนะเมลามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการขยายผลการตรวจสอบการนำเข้าผ่านระบบการตรวจติดตามการนำเข้าผ่าน พิธีการศุลกากร หรือ E-tracking จึงได้เข้าตรวจสอบจนพบการลักลอบนำเข้าสินค้าดังกล่าว และได้ยึดอายัดสินค้าไว้ทั้งหมดมูลค่ากว่า 2 แสนบาท
ซึ่งทั้งหมดจะทำการสอบสวนขยายผลต่อไปว่า ก่อนหน้าที่จะถูกจับในครั้งนี้ ทำความผิดมากี่ครั้งแล้ว และมีปริมาณการผลิตหรือนำเข้าเท่าไหร่ เพื่อจะได้ทำการเรียกสินค้าดังกล่าวคืน และประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบ และระมัดระวังในการใช้สินค้าดังกล่าวเหล่านี้ต่อไป
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการ 3 รายแรกเป็นโรงงานทำภาชนะเมลามีนซึ่งผลิตขึ้นก่อนที่จะได้รับใบอนุญาต แม้ว่าปัจจุบันทั้ง 3 ราย จะได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. แล้วก็ตาม ก็ยังถือว่ามีความผิดต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยโทษสำหรับความผิดฐานทำผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการแสดงเครื่องหมายมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษฐานมีไว้เพื่อจำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ โทษดังกล่าวเป็นโทษสำหรับการกระทำความผิดในแต่ละครั้งเท่านั้น หากมีการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ ก็จะต้องได้รับโทษตามกรรมตามวาระที่กระทำความผิดด้วย และในส่วนของผู้นำเข้าอีก 2 ราย มีความผิดฐานนำเข้าผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษฐานมีไว้เพื่อจำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ภาชนะเมลามีนเป็นสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ต้องมีความปลอดภัยในการใช้งาน เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคโดยตรง จึงขอฝากถึงผู้บริโภคให้เลือกซื้อภาชนะเมลามีนที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน รับรอง เท่านั้น หาก สมอ. พบว่ามีผู้ประกอบการรายใดลักลอบทำหรือนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานถือว่ามีความตั้งใจที่จะทำหรือนำเข้าสินค้าที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สมอ. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลคุณภาพสินค้าให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค จะไม่ยอมให้มีการกระทำการดังกล่าวเด็ดขาด และพร้อมตรวจติดตามอย่างเข้มงวดในทุกช่องทาง เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าที่เป็นอันตรายถึงมือผู้บริโภค และจะดำเนินการกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมายอย่างถึงที่สุด จึงขอเตือนไปยังผู้ประกอบการทุกรายอย่าได้คิดทำเป็นอันขาด” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย