ธุรกิจผ่าทางตันโควิดบาลานซ์ศก.แนะล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่เสี่ยงสูง

ธุรกิจผ่าทางตันโควิดบาลานซ์ศก.แนะล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่เสี่ยงสูง

การแพร่ระบาดของมหันตภัยไวรัสโควิด-19 ระลอก 4 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อพีค! ทุบสถิติใหม่แทบทุกวัน สร้างความกังวลต่อทั้งภาคธุรกิจ ประชาชน และรัฐบาล ต่อแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้เร็วที่สุด เพื่อลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ

การแพร่ระบาดของมหันตภัยไวรัสโควิด-19 ระลอก 4 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อพีค! ทุบสถิติใหม่แทบทุกวัน สร้างความกังวลต่อทั้งภาคธุรกิจ ประชาชน และรัฐบาล ต่อแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้เร็วที่สุด เพื่อลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด หลังจากประเทศไทย และทุกประเทศทั่วโลกล้วนเผชิญผลกระทบสาหัสลากยาวมาร่วมปีครึ่ง! ทั้งมีแนวโน้มการแพร่ระบาดที่ตีกลับมาเป็นระลอก โดยวันนี้ (9 ก.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์​การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้มีการประชุม ศบค.ด่วน ครั้งที่ 9/2564 เพื่อพิจารณามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 4

อิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะภาคเอกชนต้องการเห็นมาตรการภาครัฐที่ออกมานั้นสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดไปพร้อมกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บ้าง โดยเสนอให้รัฐพิจารณาแนวทาง 1.การล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ ที่มีการแพร่ระบาดสูง 2.กิจการหรือธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนไหนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ก็ต้องขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้านเพื่อลดการเดินทาง และการแพร่กระจายของโควิด 3.กิจกรรมที่ต้องอยู่ “หน้างาน” ไม่สามารถหยุดดำเนินการได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม งานก่อสร้าง จะต้องมีการเร่งตรวจเชิงรุกเพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื่้อ พิจารณาระดับการติดเชื้อว่าต้องแยกการกักตัวอยู่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือพื้นที่รองรับต่างๆ

“เรามีบทเรียนมาแล้วในช่วงเกือบปีครึ่ง ทั้งล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ บางธุรกิจไม่สามารถดำเนินการ อย่างกรณีจังหวัดภูเก็ตก่อนหน้านั้นห้ามการเข้าออก หรือการล็อกดาวน์แบบตลาดกลางกุ้ง ซึ่งรัฐบาลน่าจะนำมาใช้ปรับใช้ผสมผสานกัน เพื่อควบคุมความปลอดภัยในเชิงสาธารณสุขควบคู่กับเศรษฐกิจได้"

ทั้งนี้ รัฐต้องลงรายละเอียดในแต่ละพื้นที่มากกว่าเดิม เพื่อกำหนดมาตรการล็อกดาวน์เฉพาะแต่ละพื้นที่ในระดับที่แตกต่างกันตามความจำเป็น เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จะต้องวางแผนให้รอบคอบก่อนประกาศมาตรการหรือแนวทางใดๆ ให้มีการสื่อสารที่ชัดเจน ตรงประเด็น เพื่อป้องกันความสับสนทั้งในกลุ่มประชาชนและธุรกิจเกี่ยวข้องที่จะต้องปฎิบัติตาม รวมทั้งการแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้เตรียมตัว

“หากให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างหยุดทั้งโรงงาน ก่อสร้าง เราเดินหน้าต่อไปไม่ได้แน่นอน รัฐบาลก็ต้องชั่งใจว่า จะดำเนินการอย่างไรท่ามกลางการระบาดโควิดระลอก 4 ที่ตัวเลขพีคสุดแล้ว และแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์เล็ก ใหญ่กระจายตั้งแต่ระดับครอบครัว แคมป์คนงาน โรงงานขนาดใหญ่”

แต่หากย้อนกลับไปมองมาตรการล็อกดาวน์ในปี 2563 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการให้ผู้คนงดการเดินทาง หรือทำกิจกรรมในร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า มีการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถาน ซึ่งในเวลานั้นไม่ห้ามการก่อสร้าง ฉะนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ยกเว้นการขนส่งสินค้ามีการจำกัดเวลา ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานบันเทิง ผับ บาร์ ซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาด ปิดบริการ

สถานการณ์วิกฤติในครั้งนี้ เชื่อว่า แนวทางปฎิบัติไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ สามารถดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจต่อไปได้! พร้อมๆ กับการควบคุมความเสี่ยง จุดเสี่ยงต่างๆ โดย สถานบันเทิง ผับ บาร์ อยู่ในกลุ่มควบคุมต่อเนื่อง ้

ฉะนั้น ควรจะต้องมีการผสมผสานกันระหว่างมาตรการในครั้งแรกกับมาตรการที่รัฐบาลได้ดำเนินการ แก้ปัญหาที่เคยใช้ในตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาครมาประยุกต์ใช้กับมาตรการล็อกดาวน์ในครั้งนี้ ก็คือ ล็อกดาวน์100% เป็นที่ที่เป็นไป ทั้งนี้เนื่องจาก 1. มีข้อจำกัดในเรื่องของวัคซีนที่มาไม่ทัน 2. มีสถานที่ในการรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ

แต่มาตรการล็อกดาวน์ควรทำควบคู่ไปด้วยกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วย มิเช่นนั้นรัฐบาลจะไม่สามารถจะมีงบประมาณมาชดเชยหรือเยียวยาได้หมด เพราะยิ่งเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้นมาอีกประเทศยิ่งปั่นป่วนหนักขึ้นมาอีก ซึ่งต้องมีทางออกให้กับภาคเอกชนเหมือนกัน หรือจะให้เอกชนเข้าไปช่วยอย่างไรได้บ้าง ยกตัวอย่างในช่วงที่โควิดเกิดการระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ทางกานดา พร็อพเพอร์ตี้ บริจาคเงิน1ล้านบาทเพื่อทำโรงพยาบาลสนาม ที่สาครร่วมใจ ซึ่งได้ใช้ประโยชน์เต็มที่จนถึงปัจจุบัน แต่ก็ต้องมีบุคคลกรทางสาธารณสุขเข้ามาช่วยดูแล เพราะเอกชนสามารถทำได้เฉพาะเรื่องของโครงสร้าง หรือโรงงานอาจกันบางส่วนมาเป็นโรงพยาบาลสนามก่อนไหม แต่บางส่วนส่วนยังคงดำเนินการทางเศรษฐกิจได้ต่อไป

 'ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ'สกัดปัญหาลากยาว!

วสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดลากยาวไปเรื่อยๆ สุดท้ายต้องล็อกดาวน์เหมือนมาเลเซีย!

"หากระบาดหนักมากแล้วค่อยล็อกดาวน์ก็จะใช้เวลานานขึ้น ยิ่งถึงจุดที่คนป่วยมีจำนวนมากเกินกว่าระบบสาธารณสุขจะดูแลไหว หากลากยาวไปเรื่อยๆ ทุกอย่างยังไม่จบ ที่สำคัญจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน หากใช้วิธีการเดิมๆ ในการต่อสู่กับโควิดคงไม่ได้ผล"

การรับมือวิกฤติโควิดไม่ต่างจากการทำธุรกิจ! เมื่อใช้กลยุทธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแนวทางเดิมๆ ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ เพราะสถานการณ์เปลี่ยน! ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากต้องปรับวิธีการบริหารจัดการใหม่ให้สอดรับสถานการณ์แต่ละช่วงเวลานั้นๆ

ต้องยอมรับว่า ตัวเลขติดเชื้อที่เพิิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้น วิธีการจัดการเดิมๆ ไม่ได้ผล! ก็น่าที่จะต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการใหม่

มาตรการ “ล็อกดาวน์” น่าจะช่วยให้ตัวเลขการติดเชื้อหรือแพร่ระบาดไม่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกซึ่งสุดท้ายก็ต้องใช้วิธีการล็อกดาวน์ จะยาวนานแค่ไหน อย่างไร แตกต่างกันไป

ทั้งนี้ จากมาตรการล็อกดาวน์ครั้งที่ผ่านมาไม่ได้ห้ามผู้คนออกจากบ้าน แต่ขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน ร้านค้าปิดบริการ ยกเว้นร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต ที่จำหน่ายสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน มี “เคอร์ฟิว” ดังนั้นถ้ากลับมาล็อกดาวน์ 2-3 สัปดาห์ แล้วตัวเลขดีขึ้น ค่อยปลดล็อกกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ดีกว่าให้ 2-3 สัปดาห์จากนี้สถานการณ์แย่ลงไปเรื่อยๆ เท่ากับสูญเสียเวลาที่ไม่ได้ทำอะไร หรือสมควรต้องล็อกดาวน์ไปแล้ว 2-3 สัปดาห์

หากเริ่มต้นล็อกดาวน์ตั้งแต่วันนี้ ผ่านไป 2-3-4 สัปดาห์แล้วทุกอย่างคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นได้ สามารถยับยั้งการสูญเสียชีวิตของผู้คนจากมหันตภัยโควิดได้ ก็ต้องยอมเสี่ยง เพราะนาทีนี้ไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าทุกอย่างจะจบ! แต่ล็อกดาวน์อาจสร้างโอกาสมากกว่า! ปล่อยให้ลากยาวต่อไปแล้วประเทศไม่สามาถเดินหน้าต่อไปได้