‘พฤกษา’เร่งระบายสต็อก7พันล้านผ่านออนไลน์
พฤกษา รับมือล็อกดาวน์ โหมออนไลน์เต็มสูบ ระบายสต็อก 7 พันล้าน จี้รัฐเร่งมาตรการเยียวยาลูกค้า-ผู้รับเหมา หนุนดอกเบี้ยต่ำ เข้าถึงสินเชื่อ ย้ำถึงเวลายกเลิกแอลทีวี
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงขยายวงกว้าง และมาตรการรัฐสกัดการแพร่ระบาดด้วยการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง 1 เดือน ล่าสุดล็อกดาวน์พื้นที่สีแดง 14 วัน ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจทุกประเภทรวมถึงอสังหาริมทรัพย์หยุดชะงัก
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงเดินหน้าธุรกิจตามแผนงานเดิมปีนี้ด้วยเป้าหมายเปิด 35 โครงการ มูลค่า 35,000 ล้านบาท ซึ่งเน้นในเซ็กเมนต์ที่เป็นเรียลดีมานด์ และนำสต็อกกว่า 7,000 ล้านบาท ออกมาระบายหรือเร่งการขาย ผ่านแคมเปญใหญ่ในแต่ละไตรมาส และโปรโมชั่นเสริมตามความเหมาะสม เพื่อกระตุ้นยอดขายในกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ
ปัจจุบัน บริษัทมีกระแสเงินสดกว่า 10,000ล้านบาท ทำให้สามารถเดินหน้าการลงทุนใหม่ได้อย่างเต็มที่ หากสถานการณ์ครึ่งปีหลังดีขึ้น คาดว่าจะมียอดขายและรายได้กว่า 20,000 ล้านบาท ยกเว้นว่าสถานการณ์ยืดเยื้อจะต้องมีการปรับแผนใหม่
“เวลานี้คนหันมาซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบกันมากขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีในการขยายจากฐานกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน ซึ่งได้รับผลกระทบด้านกำลังซื้อน้อย"
นายปิยะ ย้ำว่า แนวทางการปรับตัวเวลานี้คือเน้นขายสต็อกสินค้าที่มีอยู่ 7,000 ล้านบาท โดยใช้กลยุทธ์การตลาดและการขายผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งช่วงล็อกดาวน์นี้ คนทำงานที่่บ้านมากขึ้นทำให้มีการเสิร์ชข้อมูลสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้นด้วย ผนวกกับการจัดแคมเปญโปรโมชั่นออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้ได้รับความสนใจจากลูกค้าในช่องทางนี้
อย่างไรก็ดี มาตรการเยียวยาธุรกิจอสังหาฯ รัฐต้องพิจารณาช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าระดับกลาง (mass) ซึ่งเป็นฐานหลักของตลาดอสังหาฯ ทั้งด้านสินเชื่อ การประนอมหนี้ หรือการผ่อนผันชำระหนี้ ส่วนกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 40,000-100,000 บาท รัฐควรมีมาตรการด้านดอกเบี้ย และการเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย หรือลงทุน ที่สำคัญควรยกเลิกมาตรการคุมเข้มสินเชื่อภาคอสังหาฯ หรือ แอลทีวี ที่เป็นอุปสรรคกับการทำธุรกิจออกไปก่อน รวมถึงมีมาตรการเยียวยากลุ่มผู้รับเหมาโดยเฉพาะรายเล็ก รายกลาง ให้อยู่รอดได้
“เมื่ออสังหาฯ ขายได้ การก่อสร้าง หรืออุตสาหกรรมเกี่ยวข้องมีงาน มีรายได้ มีการใช้จ่ายสร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ"
อีกเรื่องที่สำคัญเวลานี้ คือ การเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากพอที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อไปได้ ทั้งนี้ ภาพรวมอสังหาฯ ปีนี้จากคาดการณ์เติบโต 9% น่าจะเติบโต 5-6% แต่อยู่ในสถานะดีกว่าปี 2563 ที่ตลาดติดลบ 20-30% ขณะที่ปัจจุบัน ตลาดแนวราบกลับขึ้นมามีสัดส่วน 60% สูงกว่าคอนโดมิเนียม มีสัดส่วนอยู่ที่ 40%