พิษโควิด-19 ฉุดยอดผู้โดยสารผ่านระบบร่างวูบต่อเนื่อง

พิษโควิด-19 ฉุดยอดผู้โดยสารผ่านระบบร่างวูบต่อเนื่อง

กรมการขนส่งทางราง เผยสถิติการเดินทางระบบราง ผลกระทบโควิดระลอก 3 ฉุดผู้โดยสารรถไฟ – รถไฟฟ้า เหลือวันละ 1.7 แสนคน ประเมินแนวโน้มลดต่อเนื่อง ด้าน รฟม. ขยายเวลาโปรโมชั่นเที่ยวโดยสารถึง ม.ค.2565 ลดภาระค่าครองชีพ

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลต่อปริมาณการเดินทางผู้โดยสารที่มาใช้บริการระบบขนส่งทางรางรวมทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟ, รถไฟฟ้า MRT, รถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พบว่าเหลือเฉลี่ย 3-4 แสนคนต่อวัน ลดลงจากช่วงก่อนเกิดโควิด -19 ที่มีผู้โดยสารรวมเฉลี่ย 1 ล้านคนต่อวัน

“ปริมาณผู้โดยสารในระบบรางขณะนี้ ถือว่ายังต่ำกว่าจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้ในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างมาก และเมื่อมีการประกาศจำกัดเวลาการเดินทาง ก็พบว่าประชาชนตื่นตัว ให้ความร่วมมือ ทำให้จำนวนผู้โดยสารในระบบรางลดลงทันที”

โดยผลจากการประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด งดเดินทางออกนอกเคหะสถานตั้งแต่เวลา 21.00 - 04.00 น. และให้ระบบขนส่งสาธารณะหยุดให้บริการตั้งแต่เวลา 21.00 - 04.00 น. มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.2564

แต่กลับพบว่าผู้โดยสารใช้บริการระบบรางลดทันที รวม ปริมาณทั้งระบบมีเพียง 2.1 แสนคน หลังจากนั้น ในวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 1.7 แสนคน ลดลง 83% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แบ่งเป็น รถไฟ 8.69 พันคน, รถไฟฟ้า MRT 4.88 หมื่นคน, รถไฟฟ้า BTS 1.06 แสนคน และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 7.33 พันคน

162625539056

นายพิเชฐ ยังกล่าวอีกว่า จำนวนผู้โดยสารเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นตัวเลขผู้โดยสารที่มาใช้บริการต่ำที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สาเหตุน่าจะเนื่องจากเป็นวันหยุด และสถานการณ์การแพร่ระบาดค่อนข้างหนัก มีผู้ติดเชื้อค่อนข้างมากเกือบหมื่นคน ประชาชนจึงงดเดินทางออกจากบ้าน

ส่วนวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของการปิดให้บริการระบบขนส่งทางรางในเวลา 21.00 น. ปรากฏว่า มีผู้โดยสารมาใช้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบรวมประมาณ 3 แสนคน และวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา มีผู้โดยสาร 2.75 แสนคน อย่างไรก็ดี ขร.คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐ และเอกชน ได้ให้ความร่วมมือในการให้พนักงานปฏิบัติงานที่บ้าน (Work From Home) มากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดยังค่อนข้างรุนแรงมาก

162625540073

ทั้งนี้ จากการติดตามการให้บริการของขนส่งทางรางทุกระบบในช่วงที่มีการประกาศให้ขนส่งสาธารณะหยุดให้บริการในช่วง 21.00-04.00 น. พบว่ายังไม่มีปัญหาอะไร โดยก่อนช่วงที่จะปิดให้บริการผู้โดยสารในทุกระบบค่อนข้างบางตา ไม่หนาแน่นแออัด โดย ขร. ยังคงกำชับให้ผู้ให้บริการระบบขนส่งทางรางทุกระบบ รวมทั้งให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด จัดการภายในขบวนรถ และภายในสถานีไม่ให้เกิดความแออัด

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ได้ทำการขยายระยะเวลาการจำหน่ายเที่ยวโดยสารทั้ง 3 ประเภท ในราคาเดิมไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค.2565 เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกและคุ้มค่าให้แก่ประชาชน และสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง