ครม.ขีดเส้นความพร้อม รับ“เวียงจันทน์”
ครม.มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือ รถไฟความเร็วสูงจากจีนถึงเวียงจันทน์ธ.ค.นี้ ชี้ เร่งปรับ ขนส่ง,NSW,กฎระเบียบรับการค้าพุ่ง
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อเร็วๆนี้ ถึงมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ว่าด้วยกรอบแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการเดือนธ.ค.นี้
ที่ประชุมเห็นชอบกรอบแนวทางการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการรถไฟสายจีน-สปป. ลาว และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกรอบแนวทางฯ และรับประเด็นความเห็นของ กบส. ไปประกอบการดำเนินการ ,มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดแผนงาน/โครงการตามกรอบแนวทางฯ และเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
รวมถึงมอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการแนวทางการพัฒนาระยะปานกลางรองรับการเปิดให้บริการรถไฟสายจีน-สปป. ลาว พร้อมกรอบวงเงินงบประมาณให้มีความชัดเจน เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าและการเดินทางที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มอบหมายให้จังหวัดหนองคายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเจรจากับสปป. ลาวเพื่อผ่อนผันการเปิดจุดผ่านแดนอื่น ๆ สำหรับการนำเข้า-ส่งออก และการเดินทางสัญจรเพื่อลดความแออัดบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-สปป. ลาว แห่งที่ 1 ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงคมนาคม (คค.) รายงานว่า ได้ดูแลรักษาและซ่อมบำรุงสะพานอย่างต่อเนื่องตามแผนการซ่อมบำรุง
นอกจากนี้ให้ พัฒนาระบบ National Single Window (NSW) ซึ่งปัจจุบันมีการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาต/ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ NSW แล้ว 10,107 รายการ จาก 11,352 รายการ คิดเป็น 89.03% และมีหน่วยงานที่เชื่อมโยงข้อมูลครบถ้วนแล้ว 19 หน่วยงาน จากทั้งหมด 24 หน่วยงาน
ส่วนประเด็นความเห็นและข้อเสนอแนะได้แก่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดให้บริการรถไฟสายจีน-สปป. ลาว,การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระบบราง โดยคค. ควรเร่งเจรจา3 ฝ่าย (จีน-ไทย-สปป. ลาว) เพื่อแก้ไขปัญหา Missing Link ให้เกิดความชัดเจนนอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญในการบริหารจัดการการเดินรถไฟเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายระบบรางได้สูงสุด
การพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการเปลี่ยนถ่ายสินค้าคค. ควรพิจารณาการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณสถานีนาทา (เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายรถไฟไทย-สปป. ลาว) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถรองรับกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต