ถอดบทเรียนซื้อเรือดำน้ำ ซื้ออย่างไรถึงคุ้ม
การซื้อเรือดำน้ำของไทย หากซื้อแล้วช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง ต่อยอดเป็นองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีในประเทศ จนสร้างอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องได้ การซื้อเรือดำน้ำก็จะคุ้มค่า คุ้มภาษี เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย
ในที่สุด นายกรัฐมนตรีก็สั่งการกระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือ ให้ชะลอการซื้อเรือดำน้ำออกไป
ท่ามกลางความรู้สึกของคนจำนวนมากที่เห็นว่า กองทัพเรือไม่ควรเสนอเรื่องนี้มาแต่ต้น เพราะไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลควรนำงบประมาณไปทุ่มแก้ไขปัญหาโควิด
ตลอดมา ฝั่งกองทัพอ้างความจำเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ความมั่นคง และเหตุผลทางเศรษฐกิจในแง่คุ้มครองผลประโยชน์ชาติทางทะเล และรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน ประเทศผู้ขาย ในฐานะคู่ค้ารายใหญ่
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นคุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเล และรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ประเมินความคุ้มค่ายาก ไม่ชัดเจนว่า การมีหรือไม่มีเรือดำน้ำสร้างความคุ้มค่าจริงหรือไม่
ในความเห็นของผู้เขียน การซื้อเรือดำน้ำสามารถสร้างความคุ้มค่าได้มากกว่านี้ หากซื้อแล้ว สามารถก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น สร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ เหมือนที่หลายประเทศประสบความสำเร็จ
ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ ที่ซื้อเรือดำน้ำจากเยอรมนี จนสามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมผลิตเรือดำน้ำของตัวเอง ต่อเรือดำน้ำขายให้อินโดนีเซียได้
ในหลายประเทศ มีการใช้โครงการการลงทุนขนาดใหญ่หรือการใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ เช่น การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ มาส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ผ่านนโยบายที่เรียกว่า การจัดซื้อจัดจ้างแบบชดเชย หรือนโยบายออฟเซ็ต (Offset Policy)
บทความนี้จะเล่าถึงนโยบายออฟเซ็ต หรือการจัดซื้อจัดจ้างแบบชดเชยว่าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร ไทยสามารถนำมาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่โดยรัฐ โดยเฉพาะยุทโธปกรณ์ เพื่อสร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างไร
นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างแบบชดเชย (Offset Policy) คืออะไร
นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างแบบชดเชยหรือนโยบายออฟเซ็ต เป็นนโยบายในการซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ระหว่างภาครัฐในประเทศผู้ซื้อ กับภาคเอกชนในประเทศผู้ผลิต หรือประเทศผู้ขาย โดยระบุในสัญญา ให้มีเงื่อนไขตอบแทนอื่นๆ แก่ผู้ซื้อ เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยี การตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนประกอบภายในประเทศ
ทั้งนี้ ในอดีตการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐในโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูง มักพิจารณาโดยเน้นที่คุณลักษณะและราคา ไม่ได้สนใจเงื่อนไขสิทธิประโยชน์อื่น เช่น ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ยกตัวอย่างเช่น ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางของรัฐที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการต่อรถไฟ หรือพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนประกอบ ให้ประเทศสามารถผลิตได้เองในอนาคต
ดังนั้นการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐที่เหมาะสม นอกจากได้สินค้าตามที่ต้องการ ยังควรกำหนดให้ผู้ขายมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย การระบุเงื่อนไขให้ผู้ขายปฏิบัติในลักษณะนี้เรียกว่า นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างแบบชดเชย
ตัวอย่างเช่น หากเป็นอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ประเทศผู้ซื้อสามารถตั้งเงื่อนไข ให้ผู้ขายชดเชยผลประโยชน์กลับมาให้ประเทศผู้ซื้อในรูปแบบต่างๆ เช่น สอนให้ผลิตเองได้ ถ่ายทอดเทคโนโลยีสำคัญ เป็นต้น
ปัจจุบันทั่วโลก มีมากกว่า 130 ประเทศที่ใช้นโยบายจัดซื้อแบบชดเชย
จากประสบการณ์ในต่างประเทศ พบว่าประเทศที่ใช้นโยบายแบบนี้ มีแนวโน้มประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง เช่น ใช้นโยบายจัดซื้อแบบชดเชยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
หลายประเทศสามารถใช้นโยบายจัดซื้อแบบชดเชยส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี จนรุดหน้าใกล้เคียงประเทศพัฒนาแล้ว หลายประเทศประสบความสำเร็จใช้นโยบายจัดซื้อแบบชดเชย พัฒนาตนเองเป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่ หรือตลาดเกิดใหม่ เรียกว่าไม่ว่าประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา ต่างใช้ประโยชน์จากนโยบายจัดซื้อแบบชดเชย เพื่อให้การใช้งบประมาณของรัฐมีความคุ้มค่ามากขึ้นทั้งสิ้น
ตัวอย่างประเทศในยุโรปที่ใช้ เช่น เยอรมนี อิตาลี กรีซ โปแลนด์ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ตุรกี ประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน
นโยบายจัดซื้อแบบชดเชยมีประโยชน์อย่างน้อย 5 ประการ
หนึ่ง ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูง ไม่ใช่แค่เพียงระดับฝึกอบรม หรือปรับปรุงทักษะแรงงานอย่างง่าย แต่ส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง จนต่อยอดสร้างองค์ความรู้ หรือเทคโนโลยีด้วยตัวเอง
สอง ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ เช่น ขยายไปสู่การมีอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนประกอบ หรืออุตสาหกรรมอื่นที่พึ่งพาเทคโนโลยีประเภทเดียวกัน
สาม ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจสามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง คุณภาพดี แข่งขันกับต่างประเทศได้ ช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศ ตลอดจนประชาชนในประเทศสามารถเข้าถึงสินค้าคุณภาพดี มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
สี่ ช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานประเทศ เพราะในการเตรียมความพร้อมที่จะซึมซับเทคโนโลยีระดับสูง รัฐต้องเตรียมทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม
ห้า ช่วยให้ในระยะยาว ภาคเอกชนในประเทศมีความแข็งแรง ซึ่งภาคเอกชนคือหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจ
กล่าวอีกนัยหนึ่ง นโยบายจัดซื้อแบบชดเชยคือการแทรกแซงของรัฐ ที่ช่วยให้ภาคเอกชนในประเทศสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลในฐานะผู้ซื้อมีแต้มต่อในการเจรจา
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า หลายประเทศสามารถใช้โอกาสในการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่โดยรัฐ โดยเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์ มาพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในประเทศตัวเอง เพื่อสร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจได้
การซื้อเรือดำน้ำของไทยก็เช่นกัน หากซื้อแล้ว ช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ใช่เพียงระดับฝึกอบรม ปรับปรุงทักษะแรงงาน กำลังพลเพื่อใช้หรือซ่อมเรือดำน้ำเท่านั้น แต่สามารถวิจัย พัฒนา ต่อยอดเป็นองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีในประเทศ จนสร้างอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องได้ การซื้อเรือดำน้ำก็จะคุ้มค่า คุ้มภาษี เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่า