ครม.ไฟเขียวจ่ายเยียวยาเพิ่มเติมอีก 3 จังหวัดล็อคดาวน์ ฉะเชิงเทรา - ชลบุรี - อยุธยา

ครม.ไฟเขียวจ่ายเยียวยาเพิ่มเติมอีก 3 จังหวัดล็อคดาวน์ ฉะเชิงเทรา - ชลบุรี - อยุธยา

ครม.ไฟเขียวเยียวยา แรงงาน ธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากจากการล็อคดาวน์ ฉะเชิงเทรา - ชลบุรี - อยุธยา ให้ความช่วยเหลือเหมือนกับ 10 จังหวัด 9 กลุ่มอาชีพ เป็นระยะเวลา 1 เดือน คลอบคลุมนายจ้าง ลูกจ้าง แรงงานนอกระบบ

รายงานงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (20 ก.ค.)เห็นชอบตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอให้มีการขยายขอบเขตการบรรเทาผลกระทบและการปรับปรุงรายละเอียดของมติ ครม.เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2564 เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ประกาศยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดงเข้ม) ในพื้นที่ 10 จังหวัดเป็น 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานครนครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี  ยะลา สงขลา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร โดยพื้นที่ที่เพิ่มา 3 จังหวัดล่าสุดตามประกาศ ศบค.ฉบับที่ 27 ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา 

ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ 3 จังหวัดที่เพิ่มเติมยังคงครอบคลุมแรงงานในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคมใน 9 กลุ่มอาชีพ เป็นระยะเวลา 1 เดือน ที่ได้มีการประกาศไปก่อนหน้านี้  ได้แก่ 

1) ก่อสร้าง


2) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร


3) ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ


4) กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

5) ขายส่งและการขายปลีก ซ่อมยานยนต์


6) ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า


7) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน

8) กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ

และ 9) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร

การให้ความช่วยเหลือแรงงงานในระบบประกันสังคมแบ่งเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1.กลุ่มแรงงานตามม. 33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุดไม่เกิน10,000 บาท

2.ผู้ประกอบการหรือนายจ้างตามหลักการให้ความช่วยเหลือจะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200คน ในอัตรา 3,000บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน

3.ผู้ประกันตนตามมาตรา 39และมาตรา40สัญชาติไทยที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000บาท จำนวน 1 เดือน ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา33มาตรา 39และมาตรา 40สัญชาติไทยที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน ให้เตรียมหลักฐานเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40กับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนก.ค.2564เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000บาทจำนวน 1 เดือน

กลุ่มผู้ประกอบการหรือนายจ้างตามหลักการให้ความช่วยเหลือที่มีลูกจ้างแต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมให้ดำเนินการ ดังนี้ 1.กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนนายจ้างในระบบประกันสังคม พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนม. 33ในระบบประกันสังคมกับสำนักงานประกันสังคม ภายในเดือนก.ค.2564เพื่อให้สามารถได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,500บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน

สำหรับกรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างแต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ให้เตรียมหลักฐานสำหรับการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40ในระบบประกันสังคมกับสำนักงานประกันสังคม ภายในเดือน ก.ค.2564เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000บาท จำนวน 1 เดือน

และในกรณีที่เป็นผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน”ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะในปัจจุบันที่ผ่านการตรวจสอบคัดกรองแล้วและไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง จะขยายการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน”จากเดิมที่กำหนดให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม เป็น 5 กลุ่ม รวมถึงร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค้าบริการ และกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่) โดยให้ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน”ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมเนื่องจากไม่มีลูกจ้าง ให้ดำเนินการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000บาท จำนวน 1 เดือน

สำหรับผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ที่มีลูกจ้างแต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ขึ้นทะเบียนนายจ้างในระบบประกันสังคมพร้อมทั้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33ในระบบประกันสังคม ภายในเดือน ก.ค. 2564เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือตามหลักการเดียวกันกับแรงงานและนายจ้างที่เพิ่งลงทะเบียนเข้าสู่ระบบประกันสังคม