เกษตร ดัน “ฟ้าทะลายโจร”เต็มสูบ อัดเงินกู้ดอกเบี้ย1 % พร้อมซื้อคืน
การระบาดของโควิด-19 ทำให้พืชสมุนไพรที่มีในประเทศไทยได้รับความสนใจหันมาใช้ประโยชน์กันมากขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงพร้อมสนับสนุนการเพาะปลูก ทั้งเงินทุนพันธุ์ และตลาด
ล่าสุด ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ใช้ศูนย์ส่งเสริมและขยายพันธุ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 5 ศูนย์ และศูนย์สมุนไพรแบบครบวงจรที่ อ.แม่มอก จ.ลำปาง ในการปลูกต้นกล้าฟ้าทะลายโจร ขิง ข่า กระชายขาวและตะไคร้ ซึ่งในแต่ละศูนย์จะผลิตต้นกล้าได้อย่างน้อย 100,000 กล้า พร้อมนำไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรกว่า 30,000 ราย และจะให้ทางกรมพัฒนาที่ดิน เข้าช่วยสนับสนุนในการให้ความรู้เกี่ยวการใช้ดินและน้ำ นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาส่งเสริมในการผลิต และจะให้ทางกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เป็นผู้รับซื้อผลผลิตที่ได้ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนต่อไป
ทั้งนี้ ฟ้าทะลายโจร ที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 เพราะจากผลการวิจัยหลายแห่ง ได้ระบุถึงสรรพคุณในการป้องกันและรักษาโควิดได้ เนื่องจากมีสารสำคัญ คือ แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) มีสรรพคุณสามารถลดความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการไม่หนักได้ ซึ่งในขณะนี้ฟ้าทะลายโจรขาดตลาดอย่างมาก เพราะประชาชนเริ่มมั่นใจในตัวสมุนไพรมากขึ้น
ดังนั้นนี่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา และนับเป็นโอกาสของเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพรสามารถปลูกฟ้าทะลายโจรให้มีคุณภาพ มีสารสำคัญเพียงพอ เพื่อแปรรูปผลผลิตจำหน่ายเอง หรือจำหน่ายเป็นวัตถุดิบให้กับหน่วยงานที่จะนำไปแปรรูปเป็นยาเพื่อใช้ในการรักษาต่อไปได้
ด้านนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์คัดเลือกสหกรณ์เข้าโครงการส่งเสริมปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบผลิตยาสมุนไพร ให้กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้มีความต้องการวัตถุดิบจำนวนมาก แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะผลักดันให้สหกรณ์เข้ามามีบทบาทดังกล่าว โดยเฉพาะการปลูกฟ้าทะลายโจร ที่เริ่มนำร่องจับคู่กับกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก หากสามารถทำได้ดีผลเป็นที่น่าพอใจ อนาคตจะขยายไปปลูกสมุนไพรสำคัญตัวอื่น ๆ เพื่อลดการนำเข้าคือขมิ้นและขิง ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและสหกรณ์ที่เข้าโครงการ
“โครงการปลูกฟ้าทะลายโจร จะต้องเดินหน้าจริงจัง เพราะขณะนี้ไม่พอ ที่สำคัญต้องเป็นชนิดที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์สูง ที่ทางการแพทย์ต้องการซึ่งกรมวิชาการเกษตรมี 2 พันธุ์ ดังนั้นเพื่อให้มีการขยายพันธุ์และขยายผลผลิตจึงต้องจับระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ซึ่งเป็นผู้ใช้ให้เป็นคู่ธุรกิจกัน และอนาคตจะขยายไปยังสมุนไพรตัวอื่น เช่น ขมิ้น ขิง “
ซึ่งกรมแพทย์แผนไทยจะได้เป็นผู้ชี้ว่า ต้องการสมุนไพรตัวไหน เท่าไหร่ อย่างไร เพื่อที่จะได้คุมคุณภาพการผลิตเพราะต้องปลอดสารเคมี เนื่องจากใช้เป็นยา การจับมือกับกระทรวงสาธารณสุขจะทำให้มีความชัดเจนทั้งด้านการผลิตที่มีคุณภาพและตลาดรองรับ ซึ่งคิดว่ามูลค่าตลาดสมุนไทยมหาศาลมาก เพราะเทรนด์ของโลกมาแนวรักษาสุขภาพ และกรณีการระบาดของโควิดครั้งนี้จะเห็นว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีบทบาทที่สำคัญมาก โครงการจะเริ่มประมาณต้นส.ค.นี้เบื้องต้นคาดว่าจะได้กล้าพันธุ์ดีที่กรมวิชาการเกษตรสนับสนุนประมาณ 2 แสนกล้า เพื่อเป็นต้นพันธุ์ให้เกษตรกรที่เข้าโครงการ”
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมอยู่ระหว่างการคัดเลือกสหกรณ์ ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการปลูกฟ้าทะลายโจรในสถาบันเกษตรกร 4 แห่ง ภูมิภาคละ 1 แห่ง พื้นที่ดำเนินการ 500 ไร่ เมื่อได้สหกรณ์เป้าหมายแล้วจะมีการส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์นั้นปลูก พื้นที่เป้าหมายเบื้องต้น 500 ไร่ ซึ่งต้นฟ้าทะลายโจรทั้งหมดของสมาชิกจะต้องขายให้สหกรณ์ทั้งหมด เพื่อให้สหกรณ์รวบรวมส่งให้กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้มีความต้องการมากเพื่อผลิตเป็นยาสมุนไพร แต่ยังขาดตัววัตถุดิบ
ทั้งนี้ หลังจากได้สหกรณ์ที่เข้าโครงการแล้วจะมีการชี้แจงแนวทางการปลูกฟ้าทะลายโจรให้ได้คุณภาพเพื่อนำไปผลิตยาสมุนไพร เพราะต้องการสมุนไพรปลอดสารเคมี อย่างไรก็ตามกรณีสหกรณ์ที่เข้าโครงการต้องการทุนดำเนินการ กรมจะจัดเงินกู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้ในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1 เพื่อใช้ในการตั้งต้นเข้าโครงการ
ทั้งนี้ กรมคาดว่าโครงการนี้จะเป็นช่องทางสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกสหกรณ์ได้ดี เนื่องจากเป็นสมุนไพรคุณภาพ และคาดหวังว่าหากสหกรณ์สามารถผลิตได้คุณภาพ อนาคตหลายสหกรณ์จะเป็น แหล่งผลิตสมุนไพรปลอดสารได้อีกจำนวนมาก และจะสามารถเป็นทั้งแหล่งผลิตและแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลต่อรายได้ของสมาชิกสหกรณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากความสำเร็จของโครงการบ้านพอเพียงเลี้ยงชีวิตสู้โควิด-19 ที่ได้มีการมอบพืชผักและสมุนไพร 7 ชนิดให้แก่เกษตรกรในปีที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้นกว่า 3.7 ล้านต้น โดยมีฟ้าทะลายโจร รวมอยู่ด้วย และจากความต้องการต้นพันธุ์ฟ้าทะลายโจรของประชาชนมีปริมาณมาก
จึงได้สั่งการให้กองขยายพันธุ์พืชนำเมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจรมาเพาะขยายพันธุ์และต่อยอดสู่โครงการผลิตต้นพันธุ์ฟ้าทะลายโจรสนับสนุนการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่านศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 ศูนย์ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ตรัง นครราชสีมา นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ พิษณุโลก มหาสารคาม ลำพูน สุพรรณบุรี และอุดรธานี ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถมอบต้นพันธุ์ฟ้าทะลายโจรให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้ในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2564 โดยจะให้บริการศูนย์ละ 50,000 ต้น รวมจำนวนทั้งสิ้น 500,000 ต้น ทั้งนี้ทางกรมส่งเสริมการเกษตรจะแจ้งวันพร้อมให้บริการต้นพันธุ์ที่แน่นอนอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ ในด้านการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ ภายใต้โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีกลุ่มแปลงใหญ่พืชสมุนไพร จำนวนทั้งสิ้น 37 แปลง ใน 22 จังหวัด เกษตรกร 1,565 ราย รวมพื้นที่จำนวน 7,913 ไร่ โดยแปลงใหญ่สมุนไพรจะมีตลาดรองรับที่แน่นอน ทั้งแบบมีข้อตกลงล่วงหน้ากับผู้รับซื้อ และจำหน่ายผ่านตลาดเกษตรกร เว็บไซต์ตลาดเกษตรออนไลน์ ตลาดในท้องถิ่น ตลาดขายส่ง และตลาดส่งออก
รวมทั้งยังมีแปลงใหญ่สมุนไพร จำนวน 6 แปลงที่มีการจัดทำ MOU กับโรงพยาบาลที่มีการผลิตยาสมุนไพร ได้แก่ 1. แปลงใหญ่สมุนไพรทับทิมสยาม 05 ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว ทำ MOU ส่งวัตถุดิบสมุนไพรแห้ง กับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 2. แปลงใหญ่สมุนไพร หมู่ 4 ตำบลโคกจาน อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี MOU ส่งวัตถุดิบสมุนไพรสด กับโรงพยาบาลตระการพืชผล
3.แปลงใหญ่สมุนไพร หมู่ 5 ตำบลพนา อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ ทำ MOU ส่งวัตถุดิบสมุนไพรสด กับโรงพยาบาลพนา 4. แปลงใหญ่สมุนไพร หมู่ 4 ตำบลเขาวงกต อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ทำ MOU ส่งวัตถุดิบสมุนไพรแห้ง กับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 5. แปลงใหญ่สมุนไพรบ้านโนนธาตุ ตำบลพนา อำเภอพนา ทำ MOU ส่งวัตถุดิบสมุนไพรสด / แห้ง กับโรงพยาบาลพนา และ 6. แปลงใหญ่สมุนไพรตำบลหนองตอกแป้น ตำบลหนองตอกแป้น อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ทำ MOU ส่งวัตถุดิบสมุนไพรแห้ง กับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
ปัจจุบันมีเกษตรกรรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกและแปรรูปสมุนไพรกว่า 3,000 กลุ่ม โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้เข้าไปส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนเหล่านี้มีการวางแผนการผลิต เน้นกระบวนการผลิตและแปรรูปที่ถูกต้อง ปลอดภัย และได้รับการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ได้แก่ GAP อย. GMP เกษตรอินทรีย์ และ HACCP รวมถึงการพัฒนากล่องบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าสินค้าและตีตลาดกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีรูปลักษณ์สวย ทันสมัย โดยสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน ประกอบไปด้วยสินค้าทั้งประเภทอุปโภค เช่น ลูกประคบสมุนไพร แชมพู สบู่สมุนไพร ผงขัดผิว ครีมทาผิว เป็นต้น และประเภทบริโภค เช่น น้ำสมุนไพร ขิงผง น้ำพริกสมุนไพร ข้าวเกรียบสมุนไพร เป็นต้น