ตลท.ดับร้อนหุ้นซิ่ง สั่งติด Cash Balance กว่า 100 บริษัท
เปิดหุ้นราคาขึ้นร้อนแรงช่วง 7 เดือนแรก 64 AEC ขึ้นแรงสุด 4,458% รองมา JTS เพิ่มขึ้น 2,646% ขณะที่ตลท.ดับร้อนสั่งติดแคชบาลานซ์มากถึง 105 บริษัท มากสุด XPG 9 ครั้ง DELTA-SABUY 7ครั้ง ”ภากร” เผยอยู่ระหว่างศึกษายกระดับความคุ้มครองผู้ลงลงทุน
ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ระบาดหนัก ส่งผลกระทบทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวน แต่ตั้งแต่ต้นปีถึง 22 ก.ค.2564 หุ้นไทยสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เพียง 7% แต่หุ้นขนาดกลางขนาดเล็กหลายบริษัทปรับตัวขึ้นร้อนแรง ซึ่งหุ้นที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดปีนี้ คือ AEC เพิ่มขึ้น 4,458.82% จากราคา 0.17 บาท อยู่ที่ 7.75 บาท JTS เพิ่มขึ้น 2,646% จากราคา 1.93 บาท อยู่ที่ 53 บาท
ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องออกโรงให้บริษัทชี้แจงข้อมูล และดับร้อนด้วยการสั่งให้ซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด (Cash Balance) เท่านั้น ซึ่งหุ้นบางตัวลดความร้อนแรงลงไปได้ แต่บางตัวแม้จะติด Cash Balance แต่ราคาก็ยังคงพุ่งสวนต่อไป
ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ต้นปีนี้ถึง 23 ก.ค. โดยมีหุ้นที่ตลท.สั่งให้ซื้อขายด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น รวมบริษัท 105 ซึ่งพบว่า หุ้นที่ติด Cash Balance มากที่สุด คือ บมจ. เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG) 9 ครั้ง รองมา คือ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) และ บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) 7 ครั้ง ส่วนบมจ.จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ (JTS) 5 ครั้ง
โดยราคาหุ้นของ XPG เพิ่มขึ้นกว่า 638% จากต้นปีที่ 1.07 บาทต่อหุ้น มาอยู่ที่ 7.90 บาทต่อหุ้น ส่วน DELTA เพิ่มขึ้น 18% จากต้นปีที่ 486 บาทต่อหุ้น มาอยู่ที่ 576 บาทต่อหุ้น ส่วน SABUY เพิ่มขึ้น 405% จากต้นปีที่ 1.81 บาทต่อหุ้น มาอยู่ที่ 9.15 บาทต่อหุ้น
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยในปี 2564 มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่สูง ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยแวดล้อมที่เข้ามากระทบ รวมถึงข่าวสารจากทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลต่อเนื่องให้ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นหลายบริษัทมีความผันผวนสูง ซึ่งเป็นหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องเตือนผู้ลงทุนถึงความเคลื่อนไหวที่ผิดปกตินี้
ทั้งนี้มาตรการดูแลมีตั้งแต่การแจ้งไปยังบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพื่อให้ชี้แจงถึงข้อมูล ที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคา หาก บจ.ไม่มีข้อมูลชี้แจง ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีมาตรการกำกับการซื้อขาย ได้แก่ ระดับ 1 Cash Balance ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ต้องดำเนินการให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น โดยลูกค้าต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์
ระดับ 2 ห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย หรือห้ามสมาชิกใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการคำนวณเป็นวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ (ในทุกประเภทบัญชี) และให้ติด Cash Balance ส่วนระดับ 3 ห้าม Net Settlement หรือห้ามสมาชิกหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน (ซื้อและขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน ค่าขายคืนเป็นวงเงินในวันทำการถัดไป) รวมถึงห้ามคำนวณวงเงินซื้อขาย และให้ติด Cash Balance
“หากราคาหุ้นยังสวิง ผันผวน และปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่บริษัทไม่มีข้อมูลมาสนับสนุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะพิจารณาดำเนินการต่อ โดยมองว่ามาตรการในปัจจุบันสามารถคุ้มครองนักลงทุนได้เพียงพอแล้ว อย่างไรก็ดีตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้มองหาแนวทางเพิ่มเติมเพื่อยกระดับความคุ้มครอง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา และจะแจ้งรายละเอียดผ่านสื่อ หรือออกเป็นหนังสือรับฟังความเห็น (เฮียริ่ง) อีกครั้งเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม”
ขณะที่การประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายภากร กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการประสานกับ ก.ล.ต.เป็นปกติ ซึ่งในกรณีที่พบว่าหุ้นในตลาดมีความผันผวนสูง ไม่ว่าในกรณีใด ก็มีการหารือร่วมกับ ก.ล.ต.อยู่แล้ว
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นขนาดกลาง-เล็กมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่สูงมาก และมีอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) ที่เพิ่มขึ้นเกิน 40 เท่าส่งผลให้ติดแคชบาลานซ์ แตกต่างจากหุ้นขนาดใหญ่ที่แม้บางกลุ่มราคาจะปรับขึ้นสูง เช่น กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มพลังงาน หรือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แต่พบว่าค่า P/E ยังขยับขึ้นช้ากว่าหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่ 20 เท่า 10 เท่า และ 7 เท่า ตามลำดับ อีกทั้งมีการควบคุมการซื้อขายโดยนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้มีแรงขายทำกำไรลงมาเมื่อราคาปรับขึ้นสูง
อย่างไรก็ดี หุ้นที่ติดแคชบาลานซ์ไม่ได้หมายความว่าเป็นหุ้นที่ไม่ดี และจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป โดยราคาหุ้นบางบริษัทที่ปรับขึ้นร้อนแรงเป็นผลจากปัจจัยบวกเฉพาะตัว เช่น บริษัทมีการบันทึกกำไรพิเศษ หรือบริษัทมีการขยายธุรกิจใหม่ที่ส่งผลต่อภาพรวมธุรกิจเดิมอย่างมีนัยสำคัญ อย่างกรณีหุ้นของ บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล หรือ XPG ที่เดิมประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และเผชิญผลขาดทุน แต่ปัจจุบันมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ รวมถึงขยายการลงทุนไปยังธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นกว่า 10 เด้ง เป็นต้น
ขณะที่ราคาหุ้นบางบริษัทที่ที่ปรับขึ้นร้อนแรง แต่กลับไม่มีปัจจัยพื้นฐานหรือข้อมูลรองรับนั้น อาจเป็นหุ้นที่ถูกปั่นขึ้นมา ซึ่งนักลงทุนจะต้องซื้อขายด้วยความระมัดระวัง โดยสามารถสังเกตเบื้องต้นง่ายๆ ว่าบริษัทนั้นมีบทวิเคราะห์รองรับหรือไม่ หากไม่มีบริษัทหลักทรัพย์ใดจัดทำบทวิเคราะห์ครอบคลุม แนะนำหลีกเลี่ยงลงทุน