'ไลฟ์' ขายของออนไลน์ยังไง ให้ลูกค้าอยาก CF ?
ถอดความสำเร็จ 9 ข้อจากการไลฟ์ขายของออนไลน์ ผ่านโซเชียลมีเดีย ให้ลูกค้าอยากซื้อ อยาก CF สามารถปิดการขายได้ง่ายๆ
"ไลฟ์ขายของ" หรือการ "ถ่ายทอดสด" ในโซเชียลมีเดีย กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางทำการตลาดของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ยุคดิจิทัล ที่ช่วยกระตุ้นความอยากซื้อของกลุ่มเป้าหมายได้ไม่น้อย และถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้ผู้ค้าออนไลน์ทั้งหลายมีโอกาสได้สร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าแบบเรียลไทม์ และปิดการขายได้ทุกที่ทุกเวลา
ทว่าไม่ใช่ใครๆ ก็จะประสบความสำเร็จในการไลฟ์ขายของกันเสียหมด แล้วคนที่ทำสำเร็จไลฟ์กันอย่างไร ? "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงชวนมาถอดสูตรการไลฟ์สดขายสินค้าที่จะทำให้ลูกค้าอยาก CF ในทันที หรือทริคที่ช่วยให้ปิดการขายในช่องทางไลฟ์ได้ง่ายขึ้น โดยสรุปเป็น 9 ทริค ดังนี้
1. มีตัวตนที่ชัดเจน
หากมองดูความสำเร็จของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์หลายคน ที่มีชื่อเสียงจากการขายของผ่าน "ไลฟ์" ในโซเชียลมีเดีย เราจะพบว่าสิ่งหนึ่งที่พวกเขาเหล่านั้นมีเหมือนกัน ก็คือ การมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น สะท้อนตัวตนที่ชัดเจน หรือสร้างการจดจำบางอย่างได้ในเวลาอันรวดเร็ว เช่น ลักษณะการพูดที่เป็นเอกลักษณ์ ความมีอารมณ์ขัน การแต่งกายที่โดดเด่น หรือใช้อุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้ลูกค้าจดจำได้ง่าย เช่น กระดิ่งตั้งโต๊ะ (กระดิ่งไลฟ์สด)
เช่น บังฮาซัน มีลูกเล่นในการพูดที่เป็นเอกลักษณ์ ใช้กระดิ่งและการประสานเสียงของลูกน้องที่ไม่เคยมีใครทำ ทำให้การไลฟ์ไม่น่าเบื่อและอยากติดตามต่อไปเรื่อยๆ เป็นต้น
2. ไม่ขายอย่างเดียว
การขายที่ไม่ใช่การขาย เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ลูกค้ายุคใหม่สนใจ เพราะการตั้งหน้าตั้งตาขาย โชว์สินค้า บอกราคา อาจทำให้ลูกค้าได้สินค้าไปตามต้องการแล้วจบในครั้งเดียว แต่การขายที่สอดแทรกเรื่องราว หรือชวนลูกค้าคุยในประเด็นต่างๆ ให้ความรู้หรือข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสินค้ากับลูกค้า จะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย และจะสร้างโอกาสขายสินค้าในระยะยาวได้มากกว่า
นอกจากนี้การพูดสิ่งเหล่านี้แทรกไประหว่างไลฟ์ขายของ จะช่วยส่งเสริมให้สินค้าของเราน่าซื้อมากขึ้นและมีโอกาสปิดการขายได้แบบเนียนๆ ด้วย
3. รู้จักสินค้าของตัวเองดี
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความคาดหวังของลูกค้าที่เข้ามาดูไลฟ์ขายของคือมีความสนใจสินค้าที่เรากำลัง "ไลฟ์" อยู่
ดังนั้นสิ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้คือการทำการบ้านเกี่ยวกับสินค้าที่ตัวเองกำลังขาย เพราะพ่อค้าแม่ค้าที่สามารถตอบคำถามของผู้ชมไลฟ์ได้รวดเร็ว รวมถึงสามารถอธิบายคุณสมบัติหรือรายละเอียดของสินค้านั้นๆ ได้ดี ชัดเจน น่าสนใจ รวมถึงสามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับสินค้าของตัวเองได้เมื่อมีคำถามโถมเข้ามา จะมีโอกาส "ปิดการขาย" ได้มากกว่า มีความน่าเชื่อถือ และส่งผลให้ยอดขายพุ่งสูงตามไปด้วย
4. รู้ที่
ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มที่สามารถไลฟ์ขายสินค้าได้หลายช่องทาง เช่น Facebook Instagram TikTok Youtube ฯลฯ การเลือกแพลตฟอร์มที่มีกลุ่มเป้าหมายของเราอยู่มาก ก็จะมีโอกาสได้รับการตอบรับที่ดี กว่า หรือปิดการขายได้ง่ายกว่า
5. รู้เวลา
เวลาเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้การไลฟ์ประสบความสำเร็จ ซึ่งการเลือกเวลาในการ ไลฟ์ให้ตรงกับช่วงที่กลุ่มเป้าหมายมีเวลาเข้ามาดูได้สะดวก เช่น หากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเราคือวัยทำงาน อาจต้องไลฟ์หลังเวลาเลิกงาน เป็นต้น
เรื่องนี้ยืนยันด้วยข้อมูลจาก Global Digital Report 2021 ที่รายงานผลสำรวจว่า ช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการทำ Live Selling ในไทย คือ 19.00 น. โดยหมวดสินค้ายอดนิยมจะเป็น ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ 37% เครื่องแต่งกาย 28% และหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 24%
6. จัดวางสินค้าได้ดี
บรรยากาศในการไลฟ์ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกค้าอยากซื้อหรือไม่อยากซื้อ สังเกตได้ว่าเวลาที่มีการไลฟ์ขายของมักจะมีการจัดวางสินค้าอยู่ด้วย ซึ่งเรื่องนี้มีเหตุผล เนื่องจากการจัดวางสินค้าเป็นพื้นหลัง หรือวางในจุดที่เห็นอย่างชัดเจน หรืออยู่ในสายตาของผู้ชมตลอด จะช่วยกระตุ้นความอยากซื้อมากขึ้น และรอติดตามสินค้าที่ตัวเองอยากได้
7. ส่งเสริมการขายให้เป็น
การ "ไลฟ์ขายของ" เป็นต่อการขายวิธีอื่นๆ ทำไม่ได้ คือการ "ส่งเสริมการขาย" ได้แบบเรียลไทม์ เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ คือ หากเป็นการขายหน้าร้านแล้วอยากจัดกิจกรรมแจกรางวัล ก็จะต้องรอให้ลูกค้าส่งคำตอบเข้ามา รวบรวมคำตอบ คัดรายชื่อผู้โชคดี แล้วจึงแจกจ่ายรางวัลออกไป ซึ่งทั้งหมดนั้นใช้เวลานานมาก แต่สำหรับการไลฟ์ขายของ แม่ค้าสามารถเล่นเกมชิงรางวัลในขณะที่ไลฟ์ได้เลยทันที
การใช้จุดเด่นตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ จะช่วยส่งเสริมการขายได้ดี เช่น การเปิดประมูลสินค้า มีของแถมเมื่อซื้อรวมยอดถึงเป้า หรือเพิ่มกิจกรรมกำหนดระยะเวลาในการ CF ช่วยเร่งการตัดสินใจซื้อ และสร้างความตื่นเต้นได้ ไม่น่าเบื่อ และอยากติดตามต่อ
8. ทำสม่ำเสมอ
การไลฟ์เป็นประจำ ในความถี่เท่าๆ เดิม มีส่วนทำให้ลูกค้าที่ติดตาม..... ทำให้ลูกค้าที่ถูกใจกลับมาตามดูไลฟ์ และซื้อสินค้าได้ง่าย ขณะเดียวกันการทำอย่างต่อเนื่องจะทำให้ผู้ไลฟ์มีความชำนาญ เข้าใจความต้องการของลูกค้ามากขึ้น และปรับปรุงไลฟ์ให้ดียิ่งขึ้นในครั้งต่อๆ ไปได้อย่างชำนาญ
9. ดูเป็นมืออาชีพ
ส่ิงที่ทำให้การไลฟ์ขายของดูเป็นมืออาชีพ จำเป็นจะต้องอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ไลฟ์ขายของได้ราบรื่น ไม่สร้างความรำคาญใจให้กับลูกค้า และไลฟ์ได้ต่อเนื่องแบบไม่ต้องกังวลเรื่องระบบ
โดยอุปกรณ์พื้นฐานที่ควรมีในการไลฟ์ เช่น ไมค์โครโฟน ช่วยให้สื่อสารได้ชัดเจน ซึ่งไมค์โครโฟนที่ใช้ในการไลฟ์ผ่านโทรศัพท์มือถือมีหลากรูปแบบ ซึ่งสามารถเลือกได้ตามความสะดวก เช่น ไมค์แบบ wireless ช่วยให้เดินไปไหนมาไหนได้สะดวก หรือไมค์สายยาวๆ ก็ได้ ซึ่งมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยถึงหลายพันบาท
ไฟวงสำหรับไลฟ์ หรือไฟห้องที่สว่างเพียงพอ แสงสว่างเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้ามองเห็นคนขาย และเห็นสินค้าอย่างชัดเจน ช่วยกระตุ้นความอยากซื้อได้มากขึ้น
ขาตั้งมือถือ ช่วยให้การไลฟ์ของเราทำได้อย่างสะดวก ซึ่งมีทั้งแบบขาสั้นตั้งโต๊ะ หรือขายาว ซึ่งหากขาตั้งสามารถปรับได้หลายระดับก็จะช่วยอำนวยความสะดวกเวลาเปลี่ยนสถานที่ไลฟ์มุมต่างๆ ให้ไม่น่าเบื่อได้
ที่มา: POST Family