'กพท.' ชี้การบินทรุด โควิดกลายพันธุ์ฉุดรายได้ ธุรกิจยังซึมยาว
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดรายงานสถิติการขนส่งทางอากาศ ไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2564 ชี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกทวีความรุนแรงการกลายพันธุ์ของไวรัสและเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ทั่วโลก ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินในไทยยังเป็นขาลง
อย่างไรก็ดี กพท.ยังระบุด้วยว่า แม้ปัจจุบันจะมีการกระจายวัคซีนและอัตราการฉีดวัคซีนภายในไทยเพิ่มขึ้น แต่ผู้โดยสารทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยชาวต่างชาติยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบินลดลงจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารลดลง 35.5% และปริมาณเที่ยวบินยังลดลง 27.8% ส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ มีการขยายตัวเล็กน้อย เพียง 0.01%
รายงานข่าวจาก กพท.เผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้โดยสารภายในประเทศที่ก่อนหน้านี้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการกระตุ้นการเดินทางของอุตสาหกรรมการบิน แต่กลับมีปริมาณการเดินทางลดลง 2.4 ล้านคน หรือราว 37.1% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้านี้
สอดคล้องไปกับปริมาณเที่ยวบินที่พบว่าในไตรมาสที่ 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 61,636 เที่ยวบิน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 16,985 เที่ยวบิน หรือคิดเป็น 21.6% โดยการลดลงของเที่ยวบิน ส่วนใหญ่มากจากปริมาณเที่ยวบินภายในประเทศลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นหลายพื้นที่และรัฐบาลมีมาตรการควบคุมการเข้าออกพื้นที่และจำกัดการเดินทาง ทำให้เที่ยวบินในประเทศลดลงราว 27.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ในส่วนของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการขนส่งทางอากาศ กพท.ประเมินพบว่ามีหลายส่วน อ้างอิงจากการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบไปด้วย ปัจจัยจากอัตราการฉีดวัคซีน โดยตามเป้าหมายของรัฐบาล หากมีการจัดหาและการกระจายวัคซีนได้ 100 ล้านโดสภายในปี 2564 คาดว่าจะทำให้เกิดภูมิคคุ้มกันหมู่ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า ซึ่งแน่นอนว่าไม่ทันต่อการต้อนรับฤดูการท่องเที่ยวปีนี้ ที่จะเริ่มต้นในช่วงตารางบินฤดูหนาวเดือน ต.ค.2564
ทั้งนี้ หากรัฐบาลจัดหาและกระจายวัคซีนได้เพียง 64.4 ล้านโดสภายในปี 2564 คาดว่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในไตรมาส 3 ปีหน้า และหากมีการจัดหาและกระจายวัคซีนได้น้อยกว่า 64.4 ล้านโดสภายในปี 2564 คาดว่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านการท่องเที่ยวที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เนื่องจากการระบาดที่รุนแรง ส่งผลให้ไทยไม่สามารถผ่อนคลายมาตรการลดการกักตัวที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวได้สำเร็จภายในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อีกทั้งการระบาดระลอกใหม่ที่อาจมีความยืดเยื้อ จึงทำให้ภาคท่องเที่ยวปรับการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 เหลือเพียง 7 แสนคน จาก 3 ล้านคน และในปี 2565 จำนวน 10 ล้านคน จาก 21.5 ล้านคน
“กพท.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบิน เราก็ประเมินว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินในปีนี้จะยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน เพราะการแพร่ระบาดยังรุนแรงต่อเนื่อง เรามองสอดคล้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ออกมาประเมิน เพราะตอนนี้ไทยยังมีมาตรการชะลอการเดินทาง ซึ่งกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว”
นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่าสถิติการเดินทางเข้า-ออก 6 ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท. ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าลดลงเหลือเฉลี่ย 1 หมื่นคนต่อวัน ติดลบราว 80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า ยอดจองการเดินทางล่วงหน้า (บุ๊กกิ้ง) ในเดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้ เฉลี่ยราว 30-40% จากเส้นทางบินระหว่างประเทศมายังโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่ยอมรับว่าเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังรุนแรง ประกอบกับมีมาตรการชะลอการเดินทาง ส่งผลให้การบินไทยยังไม่สามารถขายบัตรโดยสารในช่วงตารางบินฤดูหนาวได้ โดยปัจจุบันยังชะลอเพื่อติดตามสถานการณ์