เปิด 10 อันดับ 'กองทุนหุ้นสหรัฐ' ที่มีผลตอบแทนสูงสุด
"มอร์นิ่งสตาร์"เผยเม็ดเงินกองทุนรวมในสหรัฐ เงินไหลเข้าสูงสุดในรอบ 6เดือนที่ 7.2 แสนล้านดอลลาร์และครึ่งแรกปีนี้ผลตอบแทน"กองทุนหุ้นสหรัฐ"ในไทย สูงถึง 27%และสูงต่อเนื่องในเดือนก.ค.นำโดย"ทิสโก้ ยูเอส อิควิตี้ อันเฮดจ์" ที่ 28.93% บลจ.ชี้ครึ่งปีหลังโตเด่น
เม็ดเงินกองทุนรวมในสหรัฐ ทำสถิติใหม่ ข้อมูลจาก “บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)” จำกัด เปิดเผยรายงานล่าสุดว่า ตลาดกองทุนรวมในสหรัฐ มีเงินไหลเข้าสูงทำสถิติใหม่ในรอบ 6 เดือนที่ 7.2 แสนล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ปี 2536 ที่มอร์นิ่งสตาร์เก็บข้อมูล โดยเม็ดเงินไหลเข้าเคยสูงสุดที่ 3.9 แสนล้านดอลลาร์
หากพิจารณาในช่วงครึ่งหลังปี 2564 โลกในฟากฝั่งประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ ยังคงอยู่ในเรดาร์ของผู้ลงทุน เพราะถึงแม้ปัจจุบันจะมีวิกฤติการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่กลับมาสร้างความกังวลในตลาดทั่วโลกอีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่า ด้วยการอัตราการฉีดวัคซีนไปเกินกว่าครึ่งของประชากร สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ยิ่งส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐกลับมาได้เร็วกว่าในประเทศอื่นในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นมีโอกาสที่ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐ จะปรับตัวลงมาได้บ้าง แต่หากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานแล้ว ยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี โดยฝั่งสหรัฐมีน้ำหนักของตลาดหุ้นที่โดดเด่น กลุ่มหุ้นเทคโนโลยีก็กลับมาได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์โควิด-19 และเติบโตค่อนข้างดี หรือกลุ่มหุ้นรับธีมเปิดเมือง ก็อยู่ในความสนใจ
สำหรับในครึ่งแรกปี 2564 มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช พบว่า “กองทุนหุ้นสหรัฐ” ในไทยให้ผลตอบแทนสูงสุดอยู่ที่ 27.0% ขณะที่ในช่วงเดือน ก.ค.ปีนี้ ยังมีบางกองที่สร้างผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในครึ่งปีแรก
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลในเว็บไซต์ มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช พบว่า “กองทุนหุ้นสหรัฐ” ที่ทำ “ผลตอบแทนสูงสุด 10 อันดับในช่วงประจำเดือน ก.ค. 2564 ( ณ 29 ก.ค. 2564 ) ดังนี้
1.กองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส อิควิตี้ อันเฮดจ์ (TUSEQ-UH) ผลตอบแทน (YTD) 28.93%
2.กองทุนเปิด อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด อเมริกัน โกรท ฟันด์ (ABAG) ผลตอบแทน (YTD) 28.52%
3.กองทุนเปิด อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด อเมริกัน โกรท - สมอลเลอร์ คอมพานี ฟันด์ (ABAGS) ผลตอบแทน (YTD) 27.73%
4.กองทุนเปิดเคแทม ยูเอส โกรท อิควิตี้ ฟันด์ (KT-US-A) ผลตอบแทน (YTD) 22.24%
5.กองทุนเปิดทหารไทยยูเอสออพพอร์ทูนิตี้ส์ (TMBUSO) ผลตอบแทน (YTD) 20.78%
6.กองทุนเปิดทหารไทย US500 Equity Index (TMBUS500) ผลตอบแทน (YTD) 19.59%
7.กองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ (TUSRMF) ผลตอบแทน (YTD) 19.56%
8.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส (ชนิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) (SCBS&P500E) ผลตอบแทน (YTD) 19.45%
9.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยูเอส SCBS&P500P (ชนิดผู้ลงทุนกลุ่ม/บุคคล) (SCBS&P500P) ผลตอบแทน (YTD) 45%
10.กองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส อิควิตี้ ฟันด์ (TISCOUS) ผลตอบแทน (YTD) 19.43%
"วิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์" รองผู้อำนวยการฝ่าย กลยุทธ์การลงทุน ไพรเวทเมเนจท์เม้นท์ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักต่อการลงทุนในหุ้นต่อไป ถึงแม้ว่าข่าวร้ายและปัจจัยลบต่างๆจะมีมากขึ้น ไม่ว่าเป็น การกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น รวมถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด อาจลดการทำคิวอีลง (QE Tapering) ในช่วงปี 2565
แต่เมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เรายังคงคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี2564 การเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว น่าจะยังคงแข็งแกร่งต่อไป (Above-trend growth) เชื่อเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้กำลังสู่ช่วงกลางของวัฎจักรเศรษฐกิจ (Mid Cycle) ซึ่งผลตอบแทนของการลงทุนในหุ้นจะถูกขับเคลื่อนโดยการเติบโตของผลกำไรเป็นหลัก
โดยมองว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นในครึ่งหลังของปีนี้ จะต่ำลงกว่าช่วงครึ่งปีแรก และตลาดการลงทุนจะมีความผันผวนมากขึ้น กลยุทธ์การลงทุนที่แนะนำคือ การจัดพอร์ตการลงทุนให้รับกับความผันผวน(defensive) มากขึ้น โดยเน้นการ selective buy หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมี pricing power ที่สูง ได้แก่ หุ้นสหรัฐในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟแนนซ์ พลังงานและเฮลธ์แคร์
"สาห์รัช ชัฏสุวรรณ" ผู้อำนวยการสายการตลาด และที่ปรึกษาการลงทุน บลจ. ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าสหรัฐฯสามารถบริหารจัดการกระจายฉีดวัคซีนป้องกันโควิด- 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งรัฐบาลยังเดินหน้านโยบายการคลังอย่างต่อเนื่อง จนผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น ด้วยปัจจัยบวกดังกล่าว จึงทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง
ส่วนปัจจัยที่เข้ามารบกวนการลงทุน ในเรื่องเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลนัก โดย บลจ.ทิสโก้ มองว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยลบชั่วคราว เพราะเงินเฟ้อในครั้งนี้มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นในระยะแรกของการเปิดเมือง ประกอบกับฐานการคำนวนเงินเฟ้อที่ต่ำ จากปีที่แล้วเกิดการล็อกดาวน์ (Lockdown) ทั่วโลก ทำให้การคำนวนเงินเฟ้อจะสูงกว่าปกติในปีนี้ จึงคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะไม่เปลี่ยนท่าทีและคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไป เป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังน่าสนใจ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นสหรัฐขนาดกลาง-เล็ก
"รัชดา ตั้งหะรัฐ" กรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมสถานการณ์ โควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมากจากมาตรการเร่งฉีดวัคซีน รวมทั้งมาตรการอัดฉีดทั้งการเงินและการคลังของแต่ละประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในประเทศหลักๆ อย่าง สหรัฐกลับมาฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น ทำให้ราคาหุ้นในบางประเทศมีการปรับตัวขึ้น ในขณะที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ
โดยกลุ่มประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในสัดส่วนสูงจะมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการผลิตและการบริการที่ชัดเจน ทำให้ทางองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) มีการปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP ของเดือนพฤษภาคม 2564 โดยประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 จะอยู่ที่ 5.8% สูงกว่าคาดการณ์เดิมในเดือนธันวาคมที่มองไว้เพียง 4.2% ด้านตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คาดว่า GDP จะสามารถเติบโตได้แข็งแกร่งถึง 6.9% ในปีนี้ สูงกว่ากลุ่มยูโรปและญี่ปุ่นที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.3% และ 2.6% ตามลำดับ ขณะที่จีนจะยังขยายตัวได้ดีที่ 8.5%