ย้อนรอย‘แอชตัน อโศก’ไปต่อหรือต้องทุบ?
จากการที่ศาลปกครองมีคำพิพากษา เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ "แอชตัน อโศก" ที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด กลายเป็นประเด็นร้อน !!! ที่สร้างกระแสความหวั่นวิตกให้กับลูกบ้าน และคนที่กำลังซื้อคอนโด
ปัจจุบันโครงการ "แอชตัน อโศก" สร้างเสร็จและโอนกรรมสิทธิ์มาได้กว่า 2 ปีแล้ว แม้ว่าจะยังมียูนิตเหลือขายอยู่แต่ก็เพียงไม่กี่ยูนิตจากจำนวนทั้งหมด 783 ยูนิต ซึ่งการเพิกถอนใบอนุญาตครั้งนี้เท่ากับว่าโครงการนี้ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตมาตั้งแต่หลายปีที่แล้ว และขั้นตอนต่างๆ ที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ต้นนั้นก็ผิดด้วยเช่นกัน
การที่มีคำพิพากษาแบบนี้ออกมานั้นสร้างความวิตกกังวลให้กับคนที่มียูนิตอยู่ในโครงการนี้แน่นอน
แม้ว่าทางบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) จะออกมาชี้แจงแล้วว่าคำตัดสินของศาลปกครองยัง "ไม่ใช่" ที่สิ้นสุด โดยทางบริษัทจะมีการดำเนินการคัดค้านคำพิพากษาก็ตาม
“สุรเชษฐ กองชีพ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า ในกลุ่มของผู้ซื้อในตอนนี้คงต้องหาทางเรียกร้องหรือขอคำยืนยันจากฝั่งของเจ้าของโครงการ เพื่อให้มั่นใจว่า พวกเขาจะยังมีสิทธิ์ในกรรมสิทธิ์อาคารชุดที่ซื้อไว้ตั้งแต่หลายปีที่แล้ว
โดยในช่วงที่เปิดขายโครงการนี้สร้างกระแสเสมือนเป็นเบญจภาคีแห่งพระเครื่อง และเป็นหนึ่งในโครงการที่มีการแย่งชิงกันมากที่สุด เนื่องจากทำเลที่ตั้งโครงการที่ถือได้ว่า หาได้ยากยิ่ง (Rare item) ในตอนนั้นและในอนาคต ส่งผลให้ราคาขายในเวลานั้น จะมากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตร
แต่พอถึงช่วงเวลาที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและต้องโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงต้นปี 2561 กลับมีปัญหาเรื่องของการฟ้องร้องกันในส่วนของทางเข้า-ออกแบบ จนเป็นเป็นข่าวครึกโครมมาแล้วระลอกหนึ่ง แต่ก็สามารถก่อสร้าง และทำการโอนได้ ซึ่งกระบวนการต่างๆ ในชั้นศาลเพิ่งจะได้คำพิพากษาออกมาเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ก็สร้างกระแสความไม่เชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อส่วนหนึ่งที่เลือกจะไม่โอนกรรมสิทธิ์และขอเงินคืนจากทางเจ้าของโครงการ
แม้ว่าทางเจ้าของโครงการจะยืนยันว่า กระบวนการต่างๆ ไม่มีปัญหาแน่นอน และอีกปัจจัยที่มีผลให้ผู้ซื้อส่วนหนึ่งยังคงถือกรรมสิทธิ์ในโครงการนี้ต่อ เพราะว่าราคาขายต่อในช่วงหลังจากปิดการขายไปแล้วนั้นแตะ 300,000 บาทต่อตารางเมตร ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องของการฟ้องร้องกันก็ตาม
จากนี้ไปผู้ซื้อคงเข้าไปกดดันทางเจ้าของโครงการในเรื่องนี้ และคงมีการดำเนินการฟ้องร้องหรือขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขายังสามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในโครงการนี้ได้ต่อไป หรือ เพื่อให้มั่นใจว่า จะได้รับการเยียวยาจากเจ้าของโครงการในอนาคตถ้าต้องออกจากโครงการนี้ไป และที่สำคัญคือ โครงการนี้มีเจ้าของร่วมเป็นชาวต่างชาติหลายราย
อีกทั้งบางส่วนไม่ได้อยู่ในประเทศไทยด้วยคงต้องรอดูทิศทางของความร่วมมือกันในกลุ่มของเจ้าของร่วมนี้ต่อไป เจ้าของโครงการคงมีการดำเนินการทางกฎหมายต่อไปเพื่อเป็นการหาทางออกให้กับโครงการแน่นอน เพราะถ้าผิดจริงก็มีอีกหลายหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จหลายปีแล้ว ผ่านกระบวนการขออนุญาตต่างๆ มาหลายขั้นตอนกว่าจะถึงวันนี้
สุรเชษฐ ระบุว่า กรณีของโครงการนี้อาจจะสร้างกระแสและความตื่นตัวในฝั่งของผู้ซื้อมากขึ้น เนื่องจากไม่มีใครอยากเกิดปัญหาแบบนี้แน่นอนในอนาคต ดังนั้น การพิจารณาเลือกซื้อคอนโดมิเนียมในอนาคต ต้องเพิ่มความใส่ใจในเรื่องของ "ทางเข้า-ออก" ให้มากขึ้น โครงการใดก็ตามที่อยู่ติดถนนหรือซอยที่เป็นทางสาธารณะแบบชัดเจนคงได้รับความสนใจมากกว่าโครงการที่ทางเข้า-ออกไม่ชัดเจนหรือดูคลุมเครือ เพราะผู้ซื้อมีความมั่นใจตั้งแต่วันที่เข้าไปดูโครงการแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคำพิพากษาที่ตัดสินออกมานั้นจะยัง "ไม่ใช่" บทสรุปหรือจุดจบของเรื่องนี้ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะเห็นทิศทางของบทสรุป แต่ก็คงสามารถยกให้เป็น "กรณีศึกษา" สำหรับเจ้าของโครงการในอนาคตได้เลยว่าการจะพิจารณาซื้อที่ดินเพื่อนำมาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์นั้นทุกอย่างต้องชัดเจนตั้งแต่ก่อนวันซื้อที่ดินแล้ว เพราะถ้าเกิดการฟ้องร้องแบบนี้ก็มีสิทธิ์ที่เกิดความเสียหายขึ้นได้
บางโครงการที่เจอปัญหาแบบนี้ และมีการฟ้องร้องกันจนถึงขั้นสูงสุดนอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังต้องทั้งเงินทอง รวมไปถึงชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัท /แบรนด์
แต่ที่แน่ๆ อาจจะมีผลกระทบกับการเสนอขายหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปและผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งจะเสนอขายในระหว่างวันที่ 5-6 และ 9-10 ส.ค.นี้