ซัพพลายคอนโดใหม่'64วูบ 25-30% หันรุก‘ราคาเข้าถึงง่าย’เร่งตัดสินใจซื้อ
จากการสำรวจของ “เอ็ดมันด์ ไต” พบว่าอุปทานใหม่ของคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ไตรมาสสองปี 2564 มีจำนวน 4,214 ยูนิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 1,963 ยูนิต แต่ “ลดลง” เมื่อเทียบกับไตรมาสสองปี 2562 เปิดตัวสูงถึง21,993 ยูนิต
นีรนุช กนกวิไลรัตน์ ผู้จัดการด้านงานวิจัยและที่ปรึกษา บริษัท เอ็ดมันด์ ไต แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โควิดระลอกแรกผู้ประกอบการ “ปิดสำนักงานขาย” พร้อมกับชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่! หลังจากนั้นไตรมาสสามปี 2563 เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ดีเวลลอปเปอร์ปรับกลยุทธ์การตลาดรุกผ่านช่องทางออนไลน์ หรือโซเชียลคอมเมิร์ซมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตไทยชอปปิงออนไลน์สูงถึง 83% และทำการซื้อสินค้าผ่านมือถือถึง 71% และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
“ปัจจุบันลูกค้าสามารถจองคอนโดผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทำให้ผู้ซื้อต่างชาติสามารถเข้าถึงอสังหาฯ ในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ไม่เฉพาะคนไทย เท่ากับว่าผู้ประกอบการสามารถขยายช่องทางขายไปต่างประเทศไทยง่ายขึ้น ทำให้ไตรมาสสามปี 2563 เริ่มมีการเปิดตัวโครงการใหม่ มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 10,302 ยูนิต"
อย่างไรก็ตาม ไตรมาสแรกปี 2564 กลับปรับลดลงเหลือ 1,963 ยูนิต เนื่องจากเริ่มมีการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ แต่ในไตรมาสสอง จำนวนยูนิตที่เปิดตัวขยับขึ้นมา4,214 ยูนิต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบางโครงการที่เปิดตัวในไตรมาสแรกปีนี้เป็นโครงการที่มีจำนวนห้องหลายยูนิต บางโครงการ 1,000 ยูนิต ส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดเกรดซี ส่วนคอนโดเกรดเอมีเพียง 1 โครงการที่เปิดตัวในไตรมาสที่สองคือ “ไรส์ เจริญนคร ลักซ์ นีโอ คลาสสิค” เป็นคอนโดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อเดิม “อิมเพรสชั่น เจริญนคร” ผู้พัฒนาโครงการ ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ สูง 22 ชั้น จำนวน 170 ยูนิต ราคา 180,000 ต่อตร.ม. เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อที่ต้องการอยู่อาศัยแบบครอบครัว ด้วยจุดขายยูนิตละ 2 ห้องนอน
"จำนวนโครงการที่เปิดตัวในไตรมาสสองปีนี้ ส่วนใหญ่จับกลุ่มคนทำงาน และนักลงทุนคนไทยที่ซื้อเพื่อขายต่อหรือปล่อยเช่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น และจากตลาดคอนโดที่เริ่มชะลอตัวตั้งแต่ปี 2562-2563 ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่โฟกัสบ้านจัดสรร และลดจำนวนการเปิดตัวโครงการคอนโดในปีนี้ หันจับตลาดที่มีกำลังซื้อน้อย และปานกลาง ด้วยการเปิดตัวเซกเมนต์ราคาไม่แพง (affordable price) กลุ่มกำลังซื้อน้อยสามารถซื้อได้"
สำหรับอัตราการจองคอนเปิดตัวใหม่ในไตรมาสสองที่ผ่านมา เฉลี่ย 33.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกอัตราการจอง 31.7% เพราะโครงการที่เปิดตัวในไตรมาสสอง ส่วนหนึ่งขายได้ถึง 80-90% จากการลงสนามเซกเมนต์ราคาไม่แพงของรายใหญ่ อาทิ แสนสิริ โนเบิล พฤกษา ออริจิ้น ราคาที่เข้าถึงทำให้เกิดยอดจองเร็ว (Presale) อาทิ เดอะมูฟ คอนโด ของแสนสิริ
“การจองคอนโดปัจจุบันไม่จำเป็นใช้เงินเยอะเหมือนสมัยก่อน ทำให้ลูกค้าตัดสินใจง่าย ยิ่งเป็นแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ โลเกชั่นดี และราคาไม่แพง ตร.ม.ไม่ถึงแสน ลูกค้าจับต้องได้ ยอดจองจึงเร็วกว่าปกติ ”
ส่วนราคาขายคอนโดนเกรดเอ ระดับลักชัวรี และซูเปอร์ลักชัวรี ที่มีราคาตั้งแต่ 150,000 ต่อตร.ม.ขึ้นไป ในไตรมาสสองมีแค่ไรส์ เจริญนคร ลักซ์ นีโอ คลาสสิค ที่มีราคาเฉลี่ย 180,000 บาท ต่อตร.ม. โครงการเดียว จากไตรมาสแรกมีการเปิดตัวหลายโครงการทำให้ราคาคอนโดไตรมาสแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 240,000 บาทต่อตรม. ทั้งนี้เนื่องจากบรรยากาศของตลาดไม่เอื้อกับการเปิดตัวโครงใหม่ ที่เป็นโครงการหรูที่อยู่ใจกลางเมืองทำให้ราคาปรับตัวลดลง
“แนวโน้มของตลาดคอนโดในปีนี้ จะได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์และคำสั่งปิดแคมป์ก่อสร้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้การสร้างคอนโดไม่เสร็จได้ทันตามเวลาที่กำหนด หรือแม้ว่าจะสร้างเสร็จตรงเวลาได้แต่ผู้ประกอบการจะเลื่อนเปิดตัวโครงการในไตรมาสสามและสี่ออกไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นโครงการเกรดเอหรือระดับแมส ที่มีราคาตร.ม.ละ 70,000-80,000 บาท ในพื้นที่รอบนอก คาดว่าโครงการคอนโดเปิดตัวใหม่ในปีนี้เทียบปี 2563 ลดลง 25-30%"
เวลานี้ตลาดเต็มไปด้วยปัจจัยลบ!! ไม่ว่าจะจำนวนสต็อกที่ค้างอยู่จำนวนหนึ่ง บรรยากาศไม่เอื้อต่อการซื้อและลงทุน ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจ จาก “วิกฤติโควิด” ที่ไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน? แนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทุกวัน สถานการณ์นี้ยิ่งนานก็ยิ่งมีผลกับสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคที่ิอ่อนแอลง กระทบเป็นลูกโซ่ต่อธุรกิจ และการใช้ชีวิต