GGC จับมือ KTIS ผุด ‘นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์' เฟส 2

GGC จับมือ KTIS ผุด ‘นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์' เฟส 2

GGC ผนึก KTIS ลุยลงทุน “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” ระยะที่ 2 พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานมูลค่า 1,430 ล้านบาท รองรับ NatureWorks LLC ตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA แห่งที่ 2 ในไทย

นายไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC กล่าวว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ โดยการร่วมทุนระหว่าง GGC บริษัทแกนนำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เดินหน้าสร้างนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะที่ 2 หลังจากที่บริษัท NatureWorks LLC (“NatureWorks”) ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ของโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจลงทุนโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) โดยจะเป็นการลงทุนโดย GKBI บริษัทร่วมทุนระหว่าง GGC และ KTIS ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการด้านสาธารณูปโภค เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับโรงงาน PLA ดังกล่าว คาดเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป 

โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC)สอดรับกับนโยบายโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)ของภาครัฐ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องตามนโยบายมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ที่ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub ของเอเซียภายในปี 2570 และเป็นโครงการ Bio Hub แห่งแรกของประเทศไทย โดยดำเนินการภายใต้บริษัทร่วมทุน ระหว่าง GGC และ KTIS ในนามบริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI บนเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ ในตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

โดยโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ระยะที่ 2 มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตร ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง (High Value Added) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) โดยใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

162858450581

GGC มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจ คือการเป็น Leading Green Company และ Green Flagship ของ GC Group การร่วมทุนดังกล่าวในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ สะท้อนถึงการเป็นผู้นำด้านธุรกิจเคมีชีวภาพของ GGC ทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับบริษัทฯ สำหรับธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพและเพิ่มโอกาสในการลงทุนต่อยอดธุรกิจเคมีชีวภาพ (Biochemicals) และพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ในอนาคต ที่ก่อให้เกิดการสร้างประโยชน์ร่วมกัน ตลอดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมชีวภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรของประเทศอย่างยั่งยืน

โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ระยะที่ 2  มีมูลค่าโครงการจำนวน 1,430 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อป้อนไฟฟ้า รวมถึงระบบผลิตไอน้ำ ผลิตน้ำ บำบัดน้ำเสีย ให้กับโครงการของ NatureWorks ซึ่งการเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานพลาสติกชีวภาพในครั้งนี้ จะทำให้เกิดโรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรแห่งใหม่ในประเทศไทย ตอบสนองความต้องการใช้วัสดุที่ยั่งยืนให้ตลาดโลก นับเป็นหนึ่งในโครงการที่สนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ตามเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ต่อไปในอนาคต

โดย GGC ยังมีโครงการลงทุนทางด้านเคมีชีวภาพอื่นๆ ที่จะลงทุนในโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ตามแผนและกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่จะเติบโตในธุรกิจเคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ ซึ่งพื้นที่นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์เปิดรับการลงทุนจากนักลงทุนอื่นๆ ที่สนใจลงทุนในธุรกิจชีวภาพต่างๆ ด้วยเช่นกัน

 

162858451699

นายอภิชาติ นุชประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจชีวภาพ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS กล่าวว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์นี้เป็นไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทยที่สอดรับกับแนวนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) อันเป็นประโยชน์กับเศรษฐิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจของชาวนครสวรรค์แต่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ

ทั้งนี้ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เป็นโครงการที่ก่อประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยทางด้านเศรษฐกิจนั้นจะมีการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและแรงงานในพื้นที่ ที่จะเข้ามาทำงานในโรงงาน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่มากขึ้น ด้านสังคมทำให้แรงงานในชุมชนไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ครอบครัวจะเข้มแข็งขึ้น

อีกทั้งยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้ในภาวะที่แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และ ด้านสิ่งแวดล้อมจะเห็นได้ชัดเจนมากตั้งแต่กระบวนการผลิตของโรงงานหีบอ้อยและโรงงานเอทานอลที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ทำให้ไม่เกิดของเสียออกสู่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียหรือฝุ่นควันต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมี Carbon Credit และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะสร้างความมั่นใจในเรื่องของการลดมลพิษทั้งในไร่อ้อยและในโรงงานอีกด้วย