มกอช. กำหนดมาตรฐานสมุนไพรตลอดห่วงโซ่ หวังส่งออก ดันไทยขึ้นแท่นผู้นำอาเซียน

มกอช. กำหนดมาตรฐานสมุนไพรตลอดห่วงโซ่ หวังส่งออก ดันไทยขึ้นแท่นผู้นำอาเซียน

มกอช. ขานรับนโยบายส่งเสริมใช้สมุนไพร ขับเคลื่อนมาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เป้าหมายส่งออกเป็นชั้นน้ำในอาเซียน พร้อมหนุนด้านการตลาด ผ่าน DGTFarm

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสมุนไพร เป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเห็นว่า สมุนไพรมีความปลอดภัย รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายมีการส่งเสริมใช้สมุนไพร ในโรงพยาบาล สถานพยาบาล ทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน และมีการนำสมุนไพรมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง  อาหารเสริม และยารักษาโรค

โดยปี 2562 สมุนไพรไทยมีมูลค่าทางการตลาดในประเทศที่สูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งประเทศไทยมีการส่งออกวัตถุดิบ ทั้งพืชสมุนไพรสด แห้ง สารสกัด และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไปต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ตลาดสมุนไพรยังมีการขยายตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพร อีกทั้งการผลิตตามมาตรฐานจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและความมั่นใจในความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้าให้แก่ผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

162867283318

ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. จึงได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร ครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตพืชสมุนไพร ทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตในแปลงปลูกถึงการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้วัตถุดิบพืชสมุนไพรที่มีคุณภาพและปลอดภัย เหมาะสมสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร และครอบคลุมการผลิตวัตถุดิบพืชสมุนไพรที่จำหน่ายในรูปผลิตผลสด และพืชสมุนไพรที่ผ่านการลดความชื้น ทั้งพืชสมุนไพร (Herbs) ที่ใช้ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร (Herbal Product)  

ที่ผ่านมา มกอช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสมุนไพร ภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ปี 2560-2565 ที่ครอบคลุมการพัฒนาสมุนไพรไทยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

เพื่อให้ประเทศไทยจะเป็นประเทศส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรไทยอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ การสร้างความเชื่อมั่นการตรวจสอบและรับรองกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน จะนำมาสู่ความมั่นใจของผู้บริโภคในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่

162867285982

1.การจัดทำมาตรฐานสินค้าพืชสมุนไพร เป็นการกำหนดเกณฑ์คุณภาพของพืชสมุนไพร ตามมาตรฐานสินค้า GAP และมาตรฐานพืชสมุนไพรแห้ง จำนวน 5 ฉบับ แยกตามส่วนของพืชที่นำมา ได้แก่ ฉบับที่ 1 หัว เหง้า  และราก ฉบับที่ 2 ใบ ส่วนเหนือดิน และทั้งต้น ฉบับที่ 3 ดอก ฉบับที่ 4 ผลและเมล็ด และฉบับที่ 5 เปลือกและเนื้อไม้ โดยมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานสมัครใจและได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้ มกอช. กำลังดำเนินการจัดทำคู่มือประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP พืชสมุนไพร จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และกระชายดำ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564 นี้

2.การส่งเสริม การพัฒนาและยกระดับเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจประเมินสู่ความเป็นมืออาชีพ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงปัจจุบัน รองรับการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐาน จึงได้จัดให้มีโครงการพัฒนาศักยภาพองค์กร (CB/IB) เพื่อรองรับระบบการตรวจสอบรับรอง

โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร (มกษ. 3502-2561) และมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง เกษตรอินทรีย์ เล่ม 1: การผลิต แปรรูป แสดงฉลาก และจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (มกษ. 9000 เล่ม 1-2552) โดยอบรมในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่ โครงการเตรียมความพร้อมผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติ ทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร (มกษ. 3502-2561) เมื่อวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา

 และโครงการอบรมให้แก่ผู้แทนศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร (ศวพ.) กรมวิชาการเกษตร 8 แห่ง เพื่อนำองค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ที่ได้รับไปปฏิบัติใช้ได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับมาตรฐาน ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ระหว่างวันที่ 18-19 สิงหาคม 2564 นี้  

162867622849

“นอกจากนี้ ได้มีการเพิ่มช่องทางการค้าและประชาสัมพันธ์ ผ่านตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ (DGTFarm) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีสินค้าสมุนไพรเข้าร่วม DGTFarm มีจำนวน 6 ร้านค้า แบ่งเป็น ตลาดสินค้าเกษตร GAP 3 ราย ได้แก่ รสสุคนธ์ Farm-ขมิ้น/นวลฉวี-ขมิ้นชันพันธุ์แดงสยาม/สวนขมิ้น สุวัลลี-ขมิ้นชันแดงพันธุ์สยาม และตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ 3 ราย ได้แก่ Namkang Organic-ขมิ้นชันบด ออร์แกนิค/ กฤษณ์คนรักเกษตร-มะแว้งเครือ/เวิลด์โกรว์ ออร์แกนิค ฟาร์ม-ผงมะขามป้อม 100% ผงฟ้าทะลายโจร 100% ผงไพล 100% ผงขิง 100% ผงบอระเพ็ด 100% ผงขมิ้นเหลือง 100% ผงกวาวเครือแดง 100% ผงกวาวเครือขาว 100% ผงขมิ้นชัน 100%”