'เอ็กโก้' เร่งเจรจาดึงลงทุน ตั้งโรงงาน 'นิคมฯระยอง'
เอ็กโก กรุ๊ป ทุ่มหลักพันล้านบาท ลุยก่อสร้าง “นิคมฯเอ็กโกระยอง” ต้นปีหน้า หลังออกแบบเสร็จ ปลายปีนี้ คาดสรุปพันธมิตรร่วมลงทุนในปีนี้ หวังดึงดูดอุตสาหกรรมสมาร์ทเทคโนโลยีตั้งโรงงานปี 2566
นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ที่พัฒนาบนพื้นที่โรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุ เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบโครงการ ซึ่งจะแล้วเสร็จปลายปี 2564 และเริ่มการก่อสร้างเต็มรูปแบบได้ในช่วงต้นปี 2565 หลังจากโครงการได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จแล้ว โดยคาดว่า จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี หรือเสร็จสิ้นปลายปี 2565 และเริ่มเปิดให้โรงงานต่างๆ ทยอยเข้ามาตั้งฐานการผลิตได้ในช่วงปี 2566
สำหรับการลงทุนระยะแรกจะเป็นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เอื้อต่อการรองรับพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมลงทุนจัดตั้งโรงงานในพื้นที่ตามเป้าหมายความร่วมมือระหว่างเอ็กโก กรุ๊ป และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ลงนามสัญญาร่วมดำเนินงานโครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง ปลายปี 2563 ซึ่งเน้นพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะสีเขียว (Smart & Green Industrial Estate) รองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
“ช่วงนี้ก็มีเจรจาพันธมิตรต่างๆ ที่เตรียมมาลงทุน เช่น ไทย จีน อินเดีย แม้ว่าจะมีผลกระทบโควิด-19 แต่เจรจาก็ทำได้ผ่านระบบ Zoom และมีบางรายลงไปดูพื้นที่จริง แต่ตัวนิคมฯตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรื้อถอนและออกแบบเพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ”
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เดินหน้าเจรจากับพันธมิตรที่มีศักยภาพจะเข้ามาร่วมลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมหลายราย คาดว่าได้ข้อสรุปภายในปี 2564 และหากทุกรายที่เจรจากันอยู่ตอบรับเข้าร่วมลงทุนทั้งหมดคาดว่าพื้นที่อาจไม่เพียงพอ แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันยอมรับว่ายังประเมินคงความต้องการของลูกค้าได้ยาก เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวก็ยังไม่มีใครอยากขยายการลงทุน แต่มองโอกาสไว้ตลอดหรือพูดได้ว่ายังไม่มีใครอยากเอาเงินมาจม แต่หากโควิด-19 คลี่คลายลง เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้เร็วเชื่อมั่นว่าการลงทุนจะกลับมาเติบโต และมั่นใจว่ามีคนสนใจเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแน่นอน
สำหรับพันธมิตรที่จะดึงดูดเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจะต้องตอบโจทย์การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมุ่งเน้นการเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ซึ่งจะต้องเป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ซัพพอร์ตพลังงานทดแทน เพราะนิคมฯนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศที่รองรับการลงทุนหลายรูปแบบและยังมีจุดเด่นเชิงพื้นที่ เช่น การได้รับสิทธิประโยชน์จากอีอีซีและสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่เรียกได้ว่า มีสิทธิประโยชน์มากพอที่จะจูงใจนักลงทุนที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่
รวมถึงมีระบบสาธารณูปโภคพร้อมทั้งน้ำและระบบไฟฟ้า มีระบบร่างของภาครัฐ ซึ่งใกล้สนามบินอู่ตะเภาที่เหมาะที่จะเป็นพื้นที่ฐานอุตสาหกรรมระยะยาว และรองรับการลงทุนตามนโยบายของภาครัฐที่จะส่งเสริม New S-Curve
ขณะที่เอ็กโก กรุ๊ป ก็จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าและผลิตไอน้ำ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งขณะนี้ ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะต้องลงทุนระดับใด เพราะยังต้องรอความชัดเจนว่า ลูกค้าที่เข้ามาลงทุนจะเป็นอุตสาหกรรมประเภทใดและจำนวนมีกี่ราย ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่จะเน้นไปที่พลังงานสะอาด ทั้งพลังงานทดแทน และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังมีระบบท่อก๊าซของ ปตท.รองรับอยู่แล้ว
ส่วนเงินลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในเบื้องต้น คาดว่าจะใช้เงินไม่มากประมาณหลักพันล้านบาท เพราะเป็นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น ยังไม่ร่วมกันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ยังต้องรอประเมินดีมานด์การใช้ไฟฟ้าที่ชัดเจนอีกครั้ง
สำหรับ โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง ตั้งอยู่ที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีพื้นที่รวม 621 ไร่ เป็นการใช้พื้นที่ของโรงไฟฟ้าระยอง จ.ระยอง ที่หมดอายุไปตั้งแต่ปี 2557 มาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และมีความตั้งใจพัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้ และโครงการนี้ จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่สร้างรายได้ในอนาคตที่ยั่งยืนให้กับบริษัท ตอบแทนผู้ถือหุ้น และนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น แบตเตอรี่ ซึ่งหากมีพันธมิตรดีๆ บริษัทก็อาจเข้าไปร่วมลงทุนได้ด้วย
ทั้งนี้ ตามแผนเดิมคาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภค ประมาณ 1-2 ปี และสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2565 โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักประเภท S-Curve และ New S-Curve ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ได้แก่ ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ครบวงจร และเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เป็นต้น
สำหรับโครงการนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่เดิม ซึ่งมีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อน้ำดิบ สายส่งและสถานีไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น รวมถึงมีศักยภาพด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งมีเครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่มีศักยภาพ และอยู่ในบริเวณที่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของอีอีซีได้ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน ในขณะเดียวกัน ยังสร้างโอกาสให้บริษัทในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและแบบลอยน้ำ (Solar Rooftop & Floating)
“หากในอนาคตจะขยายเป็น เฟส 2 ก็มีโอกาสที่จะทำได้ ในการจัดซื้อพื้นที่เพิ่มเติม แต่ก็ต้องประเมินสถานการณ์ในระยะต่อไป ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ เพราะต้องรอดูความต้องการของลูกค้าจริงๆก่อน”