เปิดเมือง ‘เชียงใหม่’ รับทัวริสต์ขยับเป็น ต.ค. ชูโมเดล ‘บับเบิล&ซีลด์’ เที่ยวผ่านทัวร์
ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 “เชียงใหม่” สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเมื่อปี 2562 ที่ 109,057 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ! จากฐานนักท่องเที่ยวรวม 10.82 ล้านคน เป็นชาวไทย 7.44 ล้านคน และชาวต่างชาติ 3.37 ล้านคน
โดยเป็นชาวจีนมากถึง 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนเชียงใหม่ รองมาลงคือ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสหรัฐ
แต่เมื่อการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศส่อลากยาว ส่งผลให้แผนการเปิดพื้นที่นำร่องใน จ.เชียงใหม่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ภายใต้โครงการ “ชาร์มมิ่ง เชียงใหม่” (Charming Chiang Mai) อาจต้องเลื่อนกำหนดเปิดจากแผนเดิมวันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นวันที่ 1 ต.ค.นี้แทน!
ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะผู้รับผิดชอบการเปิดโครงการชาร์มมิ่ง เชียงใหม่ กล่าวว่า แม้กำหนดการเปิดโครงการฯจะเลื่อนจากแผนเดิม เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และการกระจายวัคซีนยังไม่ครอบคลุม 70% ของประชากรในพื้นที่นำร่อง 4 อำเภอของ จ.เชียงใหม่ ได้แก่ อ.เมืองเชียงใหม่ อ.แม่ริม อ.แม่แตง และ อ.ดอยเต่า แต่ขณะนี้แผนการเปิดเมืองเดินหน้าไปกว่า 80% แล้ว โดยในวันที่ 24 ส.ค.นี้ ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท.จะเป็นประธานในที่ประชุมร่วมกับเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสรุปแนวทางทั้งหมดก่อนนำเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป
สำหรับรูปแบบการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศของโครงการชาร์มมิ่ง เชียงใหม่ จะใช้โมเดล “บับเบิล แอนด์ ซีลด์” (Bubble and Sealed) ไม่เหมือนกับโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” ซึ่งให้นักท่องเที่ยววางโปรแกรมเดินทางของตัวเองได้อย่างอิสระ เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่ต้องซื้อแพ็คเกจท่องเที่ยวแบบ “กรุ๊ปทัวร์” ผ่านบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น!
โดยเตรียมเสนอขายโปรแกรมกลาง 9 แพ็คเกจซึ่งได้รับการอนุมัติแล้ว ส่วนใหญ่เดินทาง 4 วัน 3 คืน ซึ่งนักท่องเที่ยวจะออกนอกเส้นทางไม่ได้ ทั้งนี้บริษัทนำเที่ยวจะรับผิดชอบดูแลลูกทัวร์ตลอดการมาเที่ยวในพื้นที่นำร่อง 4 อำเภอดังกล่าว เมื่อจบโปรแกรมทัวร์นักท่องเที่ยวต้องเดินทางออกนอกประเทศไทยทันที ส่วนผู้ที่ต้องการอยู่เที่ยวต่อต้องซื้อโปรแกรมทัวร์ตลอดทั้ง 14 วัน เมื่ออยู่ครบจึงจะเดินทางไปพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยได้อย่างอิสระ
“การกำหนดให้เที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยว เป็นข้อสรุปของภาคเอกชนและภาคราชการใน จ.เชียงใหม่ เนื่องจากเป็นการเปิดพื้นที่แผ่นดิน แตกต่างจากพื้นที่เกาะ เช่น ภูเก็ต และสมุย ซึ่งควบคุมและดูแลการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้ง่ายกว่า”
โดยมีนักท่องเที่ยวเป้าหมายจากเมืองชิงเต่า ฉงชิ่ง เฉิงตู เซี่ยงไฮ้ สิบสองปันนา และไห่หนาน ของจีน ,ฮอกไกโด โตเกียว ของญี่ปุ่น ,ซองนัม กังวัน ของเกาหลีใต้ ตลอดจนนักท่องเที่ยวจากตุรกี สหรัฐ แคนาดา และอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งหมดนี้มีกรอบความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกับ จ.เชียงใหม่
“แม้ขณะนี้รัฐบาลจีนยังไม่ส่งสัญญาณให้ชาวจีนเดินทางออกท่องเที่ยวนอกประเทศได้ แต่ภาคเอกชนท่องเที่ยวของเชียงใหม่ยังคาดหวังว่าจะได้ตลาดจีนกลับมา เพราะจากเดิมที่เชียงใหม่เคยพึ่งพิงนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก พอช่วงปีหลังๆ ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวจีนนิยมเที่ยวในเชียงใหม่จำนวนมาก และมีการเดินทางในลักษณะนำเครื่องบินเช่าเหมาลำมาลงที่สนามบินเชียงใหม่ อย่างน้อยๆ ในต้นปี 2565 ทางการจีนอาจอนุญาตให้ชาวจีนออกเที่ยวนอกประเทศได้ ซึ่ง ททท.ต้องไปหารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยคนใหม่ที่เดินทางมาประเทศไทยแล้ว”
ส่วนสินค้าท่องเที่ยวที่น่าจะเป็น “โปรดักต์แชมเปี้ยน” ของเชียงใหม่คือ “กอล์ฟ” เพราะก่อนหน้าเจอการระบาดของโควิด-19 มีชาวญี่ปุ่นและเกาหลีนิยมมาตีกอล์ฟที่เชียงใหม่จำนวนมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายไม่แพง จึงเตรียมชูความคุ้มค่าและบรรจุแพ็คเกจตีกอล์ฟเป็น 1 ใน 9 โปรแกรมกลางที่จะเสนอขายนักท่องเที่ยวด้วย
ธเนศวร์ เล่าเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งเป้าหมายว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเชียงใหม่เท่าใด แต่ได้ประมาณการรายได้เข้าจังหวัด กรณีมีนักท่องเที่ยว 90 คนต่อ 1 เที่ยวบินใน 1 วัน กลุ่มนี้จะสร้างรายได้ให้เชียงใหม่ 3.3 ล้านบาท หากมี 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จะมีนักท่องเที่ยว 360 คน สร้างรายได้ 13.22 ล้านบาท และใน 1 เดือนจะมีนักท่องเที่ยว 1,440 คน สร้างรายได้ 52.9 ล้านบาทต่อเดือน หรือในกรณีมี 2 เที่ยวบินต่อวัน จะมีนักท่องเที่ยว 2,880 คนต่อเดือน สร้างรายได้ 105 ล้านบาทต่อเดือน และหากมี 3 เที่ยวบินต่อวัน จะมีนักท่องเที่ยว 4,320 คนต่อเดือน สร้างรายได้ 158 ล้านบาทต่อเดือน