ลูกหนี้ ต้องรู้! เขียน จดหมายเจรจาหนี้ ยังไงให้ได้รับการช่วยเหลือ

ลูกหนี้ ต้องรู้! เขียน จดหมายเจรจาหนี้ ยังไงให้ได้รับการช่วยเหลือ

รวม 4 ขั้นตอนเขียน "จดหมายเจรจาหนี้" กับ "เจ้าหนี้" ในกรณีที่ไม่สามารถ "ผ่อนชำระหนี้" ได้ตามสัญญาเดิม ที่ช่วยให้เจรจาหนี้ได้ ลดภาระ และไม่เสียเครดิต ในช่วง "โควิด-19"

สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งแย่ลงเท่าไร สุขภาพการเงินในกระเป๋าของประชาชนก็ยิ่งถูกซ้ำเติมมากเท่านั้น โดยเฉพาะคนที่มี "หนี้สิน" ที่ยังมีภาระค่าใช้ที่ต้องรับผิดชอบเท่าเดิม สวนทางรายได้หรือเงินเดือนที่ลดลง 

อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่มีหนี้ ที่ลองประเมินศักยภาพการ "จ่ายหนี้" ของตัวเองแล้วพบว่า ไม่สามารถชำระคืนตามสัญญาเดิมได้ หรือถ้าชำระตามปกติแล้วจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างหนัก จำเป็นจะต้องหาทางออกร่วมกับเจ้าหนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้สามารถประคับประคองหนี้ไปผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้แบบไม่เสียเครดิต 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" สรุปข้อมูลวิธีเขียน "จดหมายเจรจาหนี้" ถึง "เจ้าหนี้" ในแบบที่เหมาะสม จาก ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะช่วยให้เจ้าหนี้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้จริงๆ ยอมช่วยให้ผ่อนผันหนี้ หรือเข้าร่วมมาตรการต่างๆ ในการลดภาระได้ โดยหลักการเขียนควรมีข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ดังนี้


162945896370

  •  STEP 1 ใส่ข้อมูลเจ้าหนี้ 

สิ่งแรกที่จะต้องกรอกในจดหมายคือ ข้อมูลของเจ้าหนี้ที่เราต้องการเจรจาหนี้ด้วย เพื่อส่งจดหมายให้ถูกที่และถูกคน ทั้งนี้ข้อมูลของเจ้าหนี้สามารถตรวจสอบชื่อเจ้าหนี้ได้จากเอกสารสัญญา ใบแจ้งหนี้ 

ทั้งนี้ บางครั้งชื่อบริการที่เราคุ้นเคยเป็นชื่อทางการค้า แต่ไม่ตรงกับชื่อของสถาบันการเงินหรือบริษัท ตัวอย่างเช่น เรารู้จักในชื่อ “มันนี่ไม่มีจ่าย”  ซึ่งเป็นชื่อทางการค้า แต่ชื่อที่เจ้าหนี้ใช้จดทะเบียนบริษัทคือบริษัท ไม่มีมันนี่ จำกัด ดังนั้น เราควรจะส่งจดหมายถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท มันนี่ จำกัด

หากไม่รู้ว่าจะส่งไปช่องทางไหน สามารถสอบถามศูนย์บริการลูกค้าหรือคอลเซนเตอร์ (call center) ของเจ้าหนี้ว่าส่งได้ทางไหนบ้าง เช่น อีเมล ไปรษณีย์ สำหรับทางไปรษณีย์เราควรส่งแบบลงทะเบียน เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าจดหมายของเราส่งถึงมือเจ้าหนี้หรือไม่ และมีหลักฐานเพื่อติดตามความคืบหน้า

 

  •  STEP 2 เขียนย่อหน้าที่ 1 

ใจความสำคัญของย่อหน้าที่ 1 คือเขียนแนะนำตัวกับเจ้าหนี้ 

1. ชื่อจริงของลูกหนี้

2. ข้อมูลหนี้ ได้แก่ ประเภทหนี้ทั้งหมดที่มีกับเจ้าหนี้รายที่เราต้องการเจรจา เช่น บ้าน รถ บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด (ใส่ข้อมูลเลขที่สัญญา หมายเลขบัตร หรือเลขที่ลูกค้า ถ้ามี) รวมถึง จำนวนเงิน ได้แก่ ภาระผ่อนหนี้ต่อเดือน และยอดหนี้คงเหลือปัจจุบันกับเจ้าหนี้รายนี้สถานะผ่อนหนี้กับเจ้าหนี้รายนี้เป็นอย่างไร เช่น ยังจ่ายอยู่แต่จ่ายได้น้อยลง หรือไม่จ่ายมาแล้วกี่งวด  

3. ข้อมูลเกี่ยวกับรายรับ-รายจ่าย หมายถึงข้อมูลที่แสดงแหล่งรายรับและจำนวนเงิน เราประกอบอาชีพอะไร มีรายรับเฉลี่ยต่อเดือนประมาณเท่าไหร่รายจ่ายและจำนวนเงิน ให้ข้อมูลรายจ่ายที่มีต่อเดือน จำแนกออกว่ามีอะไร เท่าไหร่บ้าง

162945643616

  •  STEP 3 ย่อหน้า 2 บอกปัญหา ที่ทำให้ผ่อนชำระหนี้ไม่ได้ 

เนื้อหาที่ต้องเขียนในย่อหน้าคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเราจนทำให้ได้รับผลกระทบทางการเงินและไม่สามารชำระเงินคืนตามกำหนดเวลาได้ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนเพื่อช่วยให้เขียนง่ายขึ้น ดังนี้

1. บอกสาเหตุที่ทำให้จ่ายหนี้ไม่ได้ เช่น โควิด-19 ขายของไม่ได้ เจ็บป่วย ถูกลดเงินเดือน ตกงาน กิจการถูกปิด ฯลฯ

2. ส่งผลกระทบอย่างไร (ชี้แจงว่าสาเหตุตามข้อ 1) เช่น เมื่อหักค่าใช้จ่ายและหนี้แล้วมีเงินเหลือเก็บบ้าง แต่หากเดือนใดขายสินค้าได้น้อยก็จะมีเงินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้

162945643652

 

  •  STEP 4 ย่อหน้า 3 เจรจาขอความช่วยเหลือ 

ในส่วนสุดท้ายลูกหนี้สามารถเสนอแนวทางที่ตัวเองสามารถทำได้ โดยอาจะเตรียมไว้ 1-2 ทางเลือกเป็นอย่างน้อย (ที่สามารถทำได้จริงๆ ) เพื่อให้เจ้าหนี้เห็นศักยภาพในการจ่ายหนี้ในช่วงเวลานี้ เช่น ขอพักชำระหนี้ ขอลดค่างวดผ่อนชำระ เป็นต้น

ทั้งนี้ แต่ละสถาบันการเงินมีทั้งมาตรการช่วยเหลือตามมาตรการรัฐ และการช่วยเหลือลูกหนี้ตามนโยบายแตกต่างกันออกไป ดังนั้นก่อนที่จะเขียนย่อหน้านี้ควรลองศึกษาก่อนว่า เจ้าหนี้ของเรามีมาตรการช่วยเหลือแบบใดบ้างที่เรามีคุณสมบัติเหมาะสม เช่น พักชำระหนี้ พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ปรับลดอัตราดอกเบี้ย พักหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ฯลฯ

162945703642

โดยสามารถตรวจสอบมาตรการและแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ได้จาก ศคง. และธนาคารแห่งประเทศไทย >> คลิกที่นี่ <<

นอกจากนี้ ช่วงท้ายของจดหมายอย่างลืม บอกช่องทางติดต่อที่สะดวกและติดต่อได้ เช่น เบอร์โทรศัพท์ อีเมล เป็นต้น พร้อมลงชื่อ

162945643756

โดยเงื่อนไขสำคัญของทุกย่อหน้าที่เขียนคือทุกเรื่องที่เขียนต้องเป็นความจริง ตรวจสอบได้ หากเจ้าหนี้ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ที่มา: ศคง.