ปตท.เร่งดีล 'ฟ็อกซ์คอนน์' ปักหมุดสร้างโรงงานปี 65

ปตท.เร่งดีล 'ฟ็อกซ์คอนน์'  ปักหมุดสร้างโรงงานปี 65

ปตท.เร่งเจรจายกระดับ MOU ลงทุน EV กับ "ฟ็อกซ์คอนน์" เป็นข้อตกลงร่วมทุน ก่อนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หนุนยานยนต์ไฟฟ้า

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีแผนที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยกลางเดือน ส.ค.2564 ยัง หลิว” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป จากไต้หวัน ได้ประกาศแผนการลงทุนผลิตรถ EV ในประเทศไทยและสหรัฐในปี 2565 โดยโรงงานดังกล่าวจะดำเนินการผลิตแบบแมสโปรดักชันในปี 2566 

โรงงานผลิตรถ EV ของฟ็อกซ์คอนน์ในประเทศไทยจะเป็นการร่วมลงทุนกับ ปตท.โดยจะเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์ม EV พร้อมขึ้นไลน์ผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออกไปยังประเทศในอาเซียน ด้วยกำลังการผลิตปีละ 150,000-200,000 คัน

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมา ปตท.ได้ศึกษาร่วมกับฟ็อกซ์คอนน์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกำลังการผลิตที่ฟ็อกซ์คอนน์ประกาศออกมาดังกล่าวก็อยู่ในการศึกษาร่วมกัน โดยที่ผ่านมาทั้ง 2 ฝ่าย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2564

ทั้งนี้ เมื่อได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์แล้วได้มีการหารือในรายละเอียด เพื่อยกระดับความร่วมมือตาม MOU ขึ้นมาเป็นกิจการร่วมค้า หรือ Joint Venture เพื่อเริ่มดำเนินการลงทุนตามที่ศึกษาไว้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2564

“การตั้งโรงงานจะเริ่มขึ้นในปี 2565 และแผนที่ศึกษาไว้ว่าจะผลิตแบบแมสโปรดักชั่นในปี 2566 ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ และจะเป็นการผลิตเพื่อทำการตลาดทั้งในประเทศไทยและส่งออกไปในภูมิภาคอาเซียน” นายอรรถพล กล่าว

การเข้ามาลงทุนในธุรกิจ EV ของกลุ่ม ปตท.เพื่อรองรับการพัฒนา New S-Curve ซึ่ง ปตท.จะมุ่งเน้นการลงทุนในเทรนด์หลักที่สำคัญของโลก 2 ด้าน คือ Go Green และ Go Electric โดยในอนาคตปริมาณรถ EV จะมีเพิ่มมากขึ้น และรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการผลิตรถ EV อย่างชัดเจน รวมทั้งในการลงทุนของกลุ่ม ปตท.ครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์ม EV เพื่อรองรับการให้บริการที่ครอบคลุมเครือข่ายอีวีทั้งหมด จะเป็นลักษณะของแอพพลิเคชั่นที่ออกมารองรับการใช้งาน

162954188391

รายงานข่าวจาก ปตท.ระบุว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาระละเอียดเพื่อพัฒนาเป็น Joint Venture และเมื่อได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการร่วมลงทุนก็จะยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ซึ่งมีแพ็คเก็จส่งเสริมการลงทุนผลิตรถ EV อยู่แล้ว และคงไม่ได้กำหนดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.ได้เริ่มลงทุนใน EV Value Chain ซึ่งครอบคลุมการพัฒนา EV Charging Platform รวมถึงการพัฒนา EV Station และการตั้งโรงงานผลิตรถ EV ทั้งรถ 2 ล้อ รถ 4 ล้อ และรถบรรทุก

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ได้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell โดยใช้เทคโนโลยี SemiSolid กำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง และมีแผนขยายกำลังการผลิตเป็นเป็น 5 GWh ต่อปี ใน 5 ปีข้างหน้า ก่อนขยายสู่กำลังการผลิต 10 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ใน 10 ปี เพื่อป้อนความต้องการใช้รถอีวีในประเทศ เช่น รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถตุ๊กต๊กไฟฟ้า รถไฟฟ้าสี่ล้อขนาดเล็ก รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า

ในขณะที่บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.ได้นำเข้ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และมีการตั้งจุดทดลองให้สามารถ Swap หรือการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบการสลับแบตเตอรี่ ด้วยการถอดเอาแบตเตอรี่ออก แล้วใส่แบตเตอรี่ลูกใหม่เปลี่ยนพร้อมใช้งานทันที โดยไม่ต้องจอดรอชาร์จไฟฟ้า

ส่วนการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า ในส่วนที่จัดตั้งในปั๊มน้ำมันทางบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จํากัด (มหาชน) หรือ OR ได้จัดตั้งแล้ว 30 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 100 แห่ง ในสิ้นปี 2564 ส่วนการจัดตั้งนอกปั๊มน้ำมันจะดำเนินการโดยบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งมีเป้าหมายจะติดตั้ง 100 แห่ง ในสิ้นปีนี้ ดังนั้น ภายในสิ้นปีนี้กลุ่ม ปตท.จะมีปั๊มชาร์จไฟฟ้าทั้งหมด 200 แห่ง

นอกจากนี้ มีการตั้งบริษัทได้จัดตั้งบริษัท อีวีมีพลัส จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000ล้านบาท และมีทุนชำระเริ่มแรก 340 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ New S-Curve ของ ปตท.ผ่านการให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวมทั้งจะเป็นการส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศธุรกิจให้เกิดการใช้ EV เช่น บริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้า บริการข้อมูลเกี่ยวกับ สถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีซ่อมบำรุง EV

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายใหม่ในการผลักดันยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งต้องเป็นรถยนต์ ZEV หรือรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ โดยจะมีการเร่งรัดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในปี 2578 หรือ อีก 14 ข้างหน้า ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายเดิมในปี 2583 หรือเร็วขึ้นกว่าเดิม 5 ปี ขณะที่ปี 2573 จะต้องผลิตรถไฟฟ้าให้ถึง 50% ของปริมาณการผลิตรถทุกชนิด

สำหรับเป้าหมายใหม่ แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสะสม ในปี 2568 ที่ 1.05 ล้านคัน แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง รถปิคอัพ 400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 620,000 คัน รถบัส รถบรรทุก 31,000 คัน

และปี 2578 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสะสม 18.41 ล้านคัน แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง รถปิคอัพ 8.62 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ 9.33 ล้านคัน รถบัส รถบรรทุก 458,000 คัน

ส่วนเป้าหมายการใช้รถไฟฟ้าสะสม ในปี 2568 อยู่ที่ 1.05 ล้านคัน แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง รถปิคอัพ 402,000 คัน รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน รถบัส รถบรรทุก 31,000 คัน

และปี 2578 จะมีการใช้รถไฟฟ้าสะสม 15.58 ล้านคัน แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง รถปิคอัพ 6.40 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ 8.75 ล้านคัน รถบัส รถบรรทุก 430,000 คัน