'มูดี้ส์' คงอันดับความน่าเชื่อถือไทยที่ 'Baa1'
"มูดี้ส์" คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ "Baa1" และมุมมองความน่าเชื่อถือที่ระดับมีเสถียรภาพ ชี้เศรษฐกิจไทยมีกิจกรรมเศรษฐกิจขนาดใหญ่รองรับ Economic Shock ได้
วันที่ 24 ส.ค. 2564 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวว่า บริษัท Moody’s Investors Service (มูดี้ส์) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ประเทศไทยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่และหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ที่ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดี และอุตสาหกรรมส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนประเทศไทยยังเป็นฐานของเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวที่โดดเด่นและมีชื่อเสียง อีกทั้งการจ้างงาน รายได้และผลที่เกิดจากการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ประเทศไทยมีความสามารถที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงได้ (Economic Shock) และฐานการเงินภาครัฐที่แข็งแกร่งทำให้มีพื้นที่ทางการคลังที่รองรับแรงกระทบจาก Economic Shock ได้
นอกจากนี้ มูดี้ส์คาดว่า การลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะช่วยเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชนและอุปสงค์ภายในประเทศในระยะ 2–3 ปีข้างหน้า และการลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยจะดึงดูดธุรกิจใหม่และเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของประเทศ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระยะสั้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่มูดี้ส์คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 และ ปี 2565 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 2 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยและเศรษฐกิจโลก และในระยะยาว การระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในวงจำกัด
2. ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมาก เป็นผลจากนโยบายและการบริหารจัดการทางการคลังที่โปร่งใส รอบคอบและเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้งหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) มีอายุเฉลี่ย (Average Time to Maturity: ATM) ค่อนข้างยาว คือ 11 ปี มีหนี้ระยะสั้น (Short–Term Debt) อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 8 และมีสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลสกุลเงินต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก (น้อยกว่าร้อยละ 2)
เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (Baa peers) เช่น อินเดีย ฮังการี เม็กซิโก คาซัคสถาน อินโดนีเซีย โคลอมเบีย ฟิลิปปินส์ บัลกาเรีย และปานามา เป็นต้น ที่มีค่ากลางของหนี้สกุลเงินต่างประเทศอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับสูง (High Debt Affordability)
3. ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) มีความเข้มแข็ง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงและสามารถนำมาใช้สนับสนุนการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมในอนาคต อีกทั้งนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพโดยสามารถคงอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มูดี้ส์ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย คือ ความสำเร็จของการดำเนินนโยบายเพื่อเพิ่มศักยภาพ ประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ ปัญหาโครงสร้างประชากรสูงอายุ (Ageing Population) และปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ (Labor Skills)
ขณะเดียวกัน ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มูดี้ส์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย คือ ปัจจัยทางการเมืองที่อาจจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาในระยะยาว การชะลอตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและภาคการคลังของประเทศ