รู้จัก 'K-Shaped' แนวโน้มการฟื้นตัว 'เศรษฐกิจไทย' หลัง 'โควิด' จะเป็นอย่างไรต่อ ?

รู้จัก 'K-Shaped' แนวโน้มการฟื้นตัว 'เศรษฐกิจไทย' หลัง 'โควิด' จะเป็นอย่างไรต่อ ?

ทำความรู้จัก "K-Shaped" แนวโน้มการฟื้นตัว "เศรษฐกิจไทย" หลัง "โควิด-19" พร้อมรูปแบบกราฟแนวโน้มเติบโตในรูปแบบต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นทั่วโลกในสภาวะ "วิกฤติ"

"การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" เป็นความคาดหวังที่ทุกประเทศต่างพยายามมุ่งหน้าแก้ปัญหาการระบาดของ "โควิด-19" ให้กลับมาอยู่ในสภาวะปกติมากที่สุด ในระยะเวลาที่เร็วที่สุด รวมถึง "เศรษฐกิจไทย" ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนักเช่นกัน

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนมาทำความรู้จักกับลักษณะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ ทั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในและต่างประเทศหลังช่วง "วิกฤติโควิด-19"

 

 1. "K-Shaped" บางส่วนฟื้น บางส่วนฟุบ 

สำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย "ธนาคารแห่งประเทศไทย" คาดการณ์จากความรุนแรงของการระบาดระลอกล่าสุด (รอบ เม.ย. 64 ถึงปัจจุบัน) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบกราฟรูปตัว K หรือที่เรียกว่า "K-Shaped" ซึ่งเป็นรูปแบบการฟื้นตัวที่ขาดสมดุล คือมีทั้งส่วนที่ฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดเรื่อยๆ จนกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ ขณะที่ยังมีบางส่วนที่ตกต่ำต่อไปในเวลาเดียวกัน ทำให้ปลายของกราฟฉีกไปคนละทางเหมือนตัวอักษร K นั่นเอง

162979525879

  •  การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบ "K-Shaped" สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ? 

พัฒนาการของธุรกิจที่ส่งออกสินค้า และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เราจะเห็นภาพของตัว K ที่ชัดเจนมาก

สำหรับเส้นขาบน มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนเมษายน 2564 ขยายตัว 13.1% สูงสุดในรอบ 3 ปี และคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้อีก ตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ในขาล่าง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรงและยืดเยื้อจากการระบาดของโควิด-19 และคาดว่าจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยวจะกลับไปเป็นปกติ

นอกจากนี้ การฟื้นตัวแบบรูปตัว K ยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า สำหรับคนรวย เศรษฐกิจฟื้นแล้ว แต่สำหรับคนจน วิกฤตครั้งนี้ยังอีกยาวไกล และทำให้จนลงไปอีก ซึ่งสำหรับประเทศไทย มิตินี้ก็เห็นได้ชัดเจนเช่นกัน

นอกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แบบ "K-Shaped" แล้ว ยังมีการฟื้นตัวอีกหลากหลายรูปแบบ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยของแต่ละประเทศ ที่เข้ามากระทบระบบเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป 

 

 2. "Nike-Shaped" เติบโตช้าในระยะยาว 

ก่อนหน้านี้ ช่วงปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ประเทศไทยจะมีการฟื้นตัวหลังโควิดแบบ "Nike-Shaped" (ไนกี้เชป) หรือที่มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "Swoosh-shaped" ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายถูกหางยาว คือเป็น V-shaped ในช่วงแรก และค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงท้าย และเศรษฐกิจจะเติบโตช้าในระยะยาว 

162979723822

นอกจากการฟื้นตัวแบบ K-Shaped และ Nike-Shaped ที่คาดการณ์ว่าเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยหลังเกิดโควิดแล้ว ยังมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤติรูปแบบต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลก ตามสภาวะต่างๆ ดังนี้

 

 3.  "V-Shaped" ฟื้นตัวขึ้นหลังจากเศรษฐกิจที่หยุดชะงักค่อนข้างรวดเร็ว  

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรูปแบบนี้ จะกลับมาพร้อมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจุดที่ใกล้เคียงกับก่อนที่เศรษฐกิจจะถดถอย หากเปรียบการปิดตัวของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวลักษณะนี้จะคล้ายกับสวิตช์ไฟที่ถูกปิด การเริ่มต้นใหม่จะเป็นเหมือนสวิตช์หรี่ไฟที่ค่อยๆ เปิดขึ้น

การฟื้นตัวแบบ V-Shape เกิดจากเศรษฐกิจดิ่งลงต่ำสุดอย่างรวดเร็ว แต่ก็ฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับเดิมก่อนที่จะเกิดวิกฤติได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

การฟื้นตัวรูปแบบนี้ ไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน แม้เกิดวิกฤติ COVID-19 แต่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว เพราะกำลังซื้อภายในประเทศ ตลอดจนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จีนได้ลดการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศมาในระดับหนึ่งแล้วก่อนเกิดวิกฤติ

163037822111

 

 4. "U-Shaped" เศรษฐกิจย่ำแย่สักพัก ก่อนค่อยๆ ฟื้นตัว  

การฟื้นตัวแบบ "U-Shaped" คือวิกฤติการเงินโลก (Global Financial Crisis : GFC) ในช่วงปี 2551 และ 2552 ที่มีการหดตัวของ GDP เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และกว่าที่หลายๆ ประเทศจะสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ ก็กินเวลานานหลายปี

162979525965

 5. "W-Shaped" ฟื้นตัวแล้วกลับลงไปอีก ก่อนฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง 

"W-Shaped" หรือที่เรียกว่า double-dip ภายใต้สถานการณ์นี้สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง เช่น ในปี 1980 เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เกิดภาวะถดถอย เพราะฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นผลพวงมาจากวิกฤตการณ์สถาบันเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย

โดยขณะที่เศรษฐกิจถดถอยอยู่แล้ว ก็เกิดภาวะเงินเฟ้อเป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการปฏิวัติในอิหร่าน ทำให้เกิดสถานการณ์เศรษฐกิจจึงถดถอยถึงสองครั้งต่อเนื่องกันเป็น "W-Shaped"

คาดการณ์ว่าช่วงวิกฤติโควิด-19 มาตรการล็อคดาวน์ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้เห็นการฟื้นตัวแบบนี้ เพราะหากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ที่รวดเร็วจนเกินไป และเกิดการระบาดระลอก 2 หรือระลอกอื่นๆ ทำให้ต้องกลับมาล็อคดาวน์อีก ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะช็อตและตกต่ำหรือถดถอยซ้ำได้

162979525988

 6. "L-Shaped" ดิ่งลงอย่างฉับพลันและถดถอยต่อไปเรื่อยๆ 

ลักษณะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ถือเป็นเคสที่สาหัสเมื่อเทียบกับเคสอื่นๆ โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรูปตัวแอลนี้ หมายถึงการดิ่งลงอย่างฉับพลัน ทุกอย่างหยุดชะงัก และเส้นกราฟจะเดินแนวนอนต่อเนื่องไปแบบนี้อีกเป็นเวลาหลายปี จนกว่าจะแน่ใจว่าการปิดตัวของเศรษฐกิจโลกจะจบลงและกลับมาเริ่มต้นอีกครั้ง

สำหรับการฟื้นตัวแบบ "L-Shaped" เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เช่น ปี 2008 สหรัฐฯ เกิด "วิกฤติซับไพร์ม" ที่ต้องอาศัยเวลาฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเดิมก่อนเกิดวิกฤติถึง 6 ปี

หรือเหตุการณ์ที่หลายคนกลัวว่าจะเป็นแบบนั้นหรือแย่กว่านั้นก็คือ "The Great Depression" หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป เมื่อปี 1929 ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี กว่าเศรษฐกิจจะกลับมาอยู่ในจุดเดิม

162979976938

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์ฯ natwest weforum businessinsider ธนาคารแห่งประเทศไทย investopedia