'ส.ป.ก.' ดันสมุนไพร 'EEC' กัญชง - กัญชา - ฟ้าทะลายโจร
"ส.ป.ก." เอ็มโอยู –อีอีซี หนุนเกษตรกรปลูกสมุนไพรสร้างรายได้ ชู กัญชง-กัญชา-ฟ้าทะลายโจรด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง หวังยกระดับสมุนไพรคุณภาพส่งออก มูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท พร้อมให้ศึกษาการปลูกกระท่อม
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีรวมลงนามในบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่า ตลาดสมุนไพรมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะสมุนไพรเป็นพืชที่มีศักยภาพทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน เชื่อว่าอนาคตสมุนไพรไทยจะเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ส่งออกไปทั่วโลก
ทั้งนี้โครงการนี้จะเป็นการปรับเปลี่ยนอนาคตของเกษตรกรในพื้นที่ส.ป.ก. ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเปลี่ยนการปลูกพืชแบบเดิมๆสู่พืชที่มีอนาคตสูง เริ่มพืช 2 ชนิดได้แก่ 1.กัญชงและกัญชา ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพในการรักษา โดยเฉพาะโรคมะเร็ง พาร์กินสัน และอัลไซเมอร์อีกทั้ง มีความต้องการของตลาด ทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เป็นหลักการของแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ อีซีซี คือ การทำการเกษตรสมัยใหม่ด้วยการปรับการทำธุรกิจให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด การวางรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสม
- ฟ้าทะลายโจร เป็นพืชสมุนไพรที่ในปัจจุบันประเทศไทยใช้เป็นยารักษาโรคโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขไดให้การรับรองแล้ว ว่ามีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในปริมาณที่พอเพียงสำหรับการรักษาโรค โดยแจกให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงมีความต้องการในตลาดเป็นจำนวนมากหากมีการสร้างสินค้าและแบรนด์สินค้า วางรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสม ทั้งระบบจากการกำหนดสินค้าและบริการที่ตลาดต้องการ และวางการค้า – การขนส่ง - การเพาะปลูก ให้สนองความต้องการของตลาดจะสามารถใช้ในประเทศ และส่งออกได้มากขึ้น
สำหรับข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรเมื่อปี 2563 สมุนไพรไทยส่งออกประมาณ 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นสมุนไพรไทยในกลุ่มเสริมอาหารมีมูลค่าการใช้และส่งออกรวมกว่า 80,000 ล้านบาท กลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย อาทิ กระชายขาว กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก ขิง ข่า อบเชย ว่านหางจระเข้ ว่านชักมดลูก ว่านนางคำ ฟ้าทะลายโจร มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท
ล่าสุด กระแสการใช้สมุนไพรไทย รักษาโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความนิยมกันแพร่หลาย และในวันนี้( 24 ส.ค.) เกษตรกรยังรับข่าวดีว่า รัฐบาลปลดล็อคพืชกระท่อมให้พ้นบัญชียาเสพติด เพราะ ภูมิปัญหาชาวบ้าน ภูมิปัญญาไทย ใช้ใบพืชกระท่อมเคี้ยว แล้วทำงาน ไม่ปวดเมื่อย และเวลาเป็นไข้หวัด นำใบพืชกระท่อมล้างน้ำให้สะอาดแล้วต้มกับน้ำดื่มแก้อาการไข้หวัดได้ด้วย อนาคตอาจจะต้องมีการศึกษา และสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกกระท่อมในที่ส.ป.ก.ด้วย
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า การทำงานของ อีอีซี อยู่ในระยะของการสร้างการพัฒนาลงสู่ประชาชนในพื้นที่ ภายหลังจากประสบความสำเร็จในการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี การพัฒนาสาธารณูปโภค ไฟฟ้า-น้ำ-ขยะ การพัฒนาคน และสาธารณสุข ในระดับหนึ่งแล้ว การยกระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่จึงเป็นเป้าหมายหลักในระยะต่อไป
สำหรับความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ ระหว่าง ส.ป.ก. และ สกพอ. ครั้งนี้ ถือเป็นโครงการด้านการพัฒนาเกษตรในพื้นที่ อีอีซี โดยทั้ง 2 หน่วยงาน จะได้ร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาพืชสมุนไพร และกิจการที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรอย่างครบวงจร ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีเป้าหมายที่จะยกระดับพืชสมุนไพรของไทย มีคุณภาพมาตรฐานสากล ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการทำตลาด
โดยจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย ตลอดจนการทำตลาดสมัยใหม่ ให้สมุนไพรไทยขายได้ตรงความต้องการของตลาด มีราคาสูง สร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกร โดยกรอบความร่วมมือการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรฯ ที่สำคัญๆ ได้แก่
1.สนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรในพื้นที่ อีอีซี ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2. สนับสนุนข้อมูลให้เกษตรกร ข้อมูลที่ดินรวมทั้งกฎหมายในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในพื้นที่ อีอีซี 3. ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และพื้นที่ดำเนินการที่มีความพร้อมเพื่อดำเนินการพัฒนาพืชสมุนไพร นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิต และขายได้ตรงตลาด 4. สร้างเครือข่ายงานวิจัยและการต่อยอดสมุนไพรไทย ให้ได้ตรงความต้องการตลาด
ทั้งนี้ จะร่วมกันศึกษาโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาพืชสมุนไพรอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ให้มีผลโดยเร็วและเป็นรูปธรรม มีระยะเวลา 2 ปี ตามอายุของข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือนี้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า ได้ดำเนินการพัฒนาภาคเกษตรให้เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ อีอีซี โดยมีแผนพัฒนาภาคเกษตร ซึ่งทำร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการผลิตและการตลาดให้ตรงกับความต้องการซื้อ โดยใช้ EECi เป็นฐานการพัฒนาเทคโนโลยีภาคเกษตร และยังได้จัดทำโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor: EFC) เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่าง ชุมชน การนิคมแห่งประเทศไทย และ ปตท. ในการทำระบบห้องเย็น (Blast Freezer & Cold Storage) เพื่อเก็บและพัฒนาสินค้าผลไม้ไว้ขายนอกฤดูกาล คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปลายปีนี้